ท้องในวัยเรียน ท้องไม่พร้อม ควรทำอย่างไร ติดตามอ่าน แนวทางเพื่อการตัดสินใจ และสิ่งที่ควรทำขั้นต่อไปเมื่อรู้ตัวว่าท้อง เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเศร้า เช่นเดียวกับเด็กสาววัยเพียง 17 ปี ในจังหวัดชุมพร ที่เรายกตัวอย่างมาในวันนี้ค่ะ
ท้องไม่พร้อม ท้องในวัยเรียน ต้องทำยังไง ตัดสินใจแบบไหนดี?
พนักงานสอบสวน สภ.เมืองชุมพร ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ว่าได้รับผู้ป่วยรายหนึ่ง ที่มีอาการตกเลือดอย่างรุนแรง ภายในช่องคลอดมีรกเด็กติดอยู่ ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวได้ให้การรับสารภาพว่า ได้ใช้ยาเหน็บเพื่อทำแท้ง จนเด็กได้หลุดออกมาเสียชีวิต และได้นำศพเด็กยัดใส่ไว้ในกล่องพลาสติกภายในห้องนอน
ภายในห้องที่เกิดเหตุ บนที่นอนเต็มไปด้วยเลือด ด้านพ่อของเด็กสาว วัย 17 เพิ่งรู้เรื่องจริงจากแพทย์ว่าลูกสาวตั้งท้อง และได้ใช้ยาเหน็บทำแท้งด้วยตัวเอง จนทารกไหลออกมาเสียชีวิต ยอมรับว่า ตนไม่รู้เลยว่าลูกสาวท้องและท้องกับใคร เพราะไม่มีอาการผิดปกติที่ชวนสังเกต ลูกสาวก็ยังใช้ชีวิตเป็นปกติดี ไปเรียนปกติแทบทุกวัน
เมื่อรู้ว่า ท้องในวัยเรียน ควรทำอย่างไร
คนที่ไม่พร้อม เมื่อรู้ว่าตัวเองท้อง เป็นธรรมดาที่ต้องตกใจ หรือทำอะไรไม่ถูก แต่สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การฝากครรภ์ค่ะ เพราะ สุขภาพและความปลอดภัยของแม่และลูก ถือ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดแล้วค่ะ ณ จุดนี้ ซึ่งคุณหมอจะมีการตรวจสุขภาพ อายุครรภ์ โรคทางพันธุกรรม ของเราโดยละเอียด
ควรฝากครรภ์เมื่อไหร่?
ข้อแนะนำในการฝากครรภ์ โดยทั่วไป คือ ระหว่าง 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนแรก เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความผิดปกติ ที่มีผลต่อแม่และเด็กในครรภ์ หากตรวจพบจะได้รีบแก้ไข เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ ท้องนอกมดลูก ทั้งนี้ วัยรุ่นที่ท้องก่อนวัยอันควรบางรายอาจตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธี การทำแท้ง ซึ่ง นอกจากอาจมีความผิดทางอาญาฐานทำให้แท้งลูกแล้ว การซื้อยาทำแท้งมารับประทานเองหรือทำแท้งตามคลินิกเถื่อนอาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง เช่น มดลูกทะลุ ตกเลือด ติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
รพ. รัฐ รับบริการฝังยาคุมกำเนิด ฟรี! ลดปัญหาแม่วัยใสมีลูกก่อนวัยอันควร
เปิดประสบการณ์การทำแท้งมามากกว่า 1,200 คนของอดีตคุณหมอ
หญิงมีครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย
การตัดสินใจเมื่อ ท้องในวัยเรียน
เมื่อรู้ตัวว่าท้อง เราต้องตัดสินใจแล้วค่ะ ว่าเราจะเอายังไงต่อไปกับชีวิต เราเลี้ยงลูกเอง หรือ ตัดสินใจเริ่มต้นสร้างครอบครัวกับแฟนเรา หรือ ดูแล้วเราไม่มีความพร้อมอะไรเลย ซึ่งทางเลือกแรก หากเราตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกเอง สิ่งที่ควรทำ คือ แจ้งให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายรับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จากนั้นผู้ใหญ่จะตกลงกันยังไง จะให้มีการหมั้นหมายไว้ก่อน หรือไม่ ก็แล้วแต่ จากนั้นสิ่งที่เราต้องโฟกัสต่อไป คือ การวางแผนในการเรียนต่อค่ะ ลองดูว่าช่วงที่เราคลอดและหลังคลอดนั้น ตรงกับช่วงไหน ปิดเทอม หรือว่า ซัมเมอร์ มั้ย จำไว้ว่า ทุกปัญหาต้องมีทางออกเสมอ การตั้งครรภ์ หรือ ท้องในวัยเรียน ไม่เท่ากับหมดอนาคต เพราะยังไงก็ตาม เรายังกลับไปเรียนและใช้ชีวิตตามปกติได้ ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งหัวใจหลักของ พ.ร.บ.นี้ คือวัยรุ่นมีสิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยอาจขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากอาจารย์ที่ปรึกษาว่าจะจัดการกับเรื่องการเรียนอย่างไรต่อไปได้ค่ะ
แต่ในกรณี ที่เราไม่พร้อมที่จะปรึกษาคนใกล้ชิด ญาติผู้ใหญ่ หรือไม่รู้จะปรึกษาใครแล้วจริงๆ เราสามารถโทรไปสายด่วนท้องไม่พร้อม 1163 หรือ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี 02 929 2222 เพื่อขอรับคำปรึกษาก่อนได้คะ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำเบื้องต้น ว่าเราต้องทำอย่างไรต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเก็บข้อมูลของเราเป็นความลับแน่นอนค่ะ
ข้อควรรู้ ก่อนคิดทำแท้ง
โดยปกติ การยุติการตั้งครรภ์ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ค่ะ หากอยู่ภายใต้ข้อบัญญัติทางกฎหมาย แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ การทำแท้งในประเทศไทยยังถือว่าเป็นความผิดทางอาญาอยู่ ซึ่งข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดว่าแพทย์สามารถทำแท้งให้สตรีมีครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายในกรณี ต่อไปนี้
- จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
- จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
- หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ
- หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
- หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ไม่อยากทำแท้ง แต่ก็ไม่พร้อมเลี้ยงลูก
หากไม่สามารถมอบการเลี้ยงดูที่เหมาะสมแก่เด็กที่เกิดมาได้ และไม่ต้องการแก้ปัญหาด้วยการ ทำแท้ง ปัจจุบัน เราสามารถหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เด็กได้ด้วยตัวเอง หรืออาจพึ่งพาหน่วยงานอย่างศูนย์บุตรบุญธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสหทัยมูลนิธิ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อช่วยประกาศ ตามหาครอบครัวที่พร้อมและอยากมีลูก แต่ไม่สามารถมีได้ เพื่อให้ลูกน้อยได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่พร้อมดูแล และมอบสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กได้
คิดให้รอบคอบ ว่าเรา “ไม่พร้อมจริงเหรอ” ที่จะเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง
เมื่อเรา ท้องในวัยเรียน แน่นอนว่าหลายคนอาจคิดมากจนเครียด จิตตก หาทางออกไม่ได้ เหมือนโลกดูจะมืดมนไปหมด และโทษตัวเองว่า เรามาท้องอะไรตอนที่ไม่พร้อมเอาซะเลย จนพาลคิดไปไกลว่า คงต้องเลี้ยงลูกเองไม่ได้แน่ๆ หรือคิดสั้นๆ เพียงแค่ว่า การมีลูก การเลี้ยงลูกจะเป็นการตัดอนาคตของตัวเอง แต่จริงๆ แล้วในทางปฏิบัติ การมีลูกและการเลี้ยงลูกให้ดีสักคน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงไม่ได้มีมากมายร้อยแปดพันเก้าให้เอามาคิดจนปวดหัวหรอกค่ะ เพราะมีแค่ 4 ประการ เท่านั้นค่ะ ที่เราต้องโฟกัสในการเลี้ยงลูกหนึ่งคน นั่นคือ
สิทธิพื้นฐานของเด็ก 4 ประการ
- สิทธิการมีชีวิตอยู่รอด คือ สิทธิของเด็กที่คลอดออก มาแล้วจะต้องมีชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัย
- สิทธิในการพัฒนา คือ การได้รับโอกาสในการพัฒนา อย่างเต็มตามศักยภาพ
- สิทธิในการได้รับการคุ้มครอง คือ การได้รับการ คุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติการล่วงละเมิดการถูกกลั่นแกล้งการถูกทอดทิ้ง การกระทำทารุณ หรือการใช้แรงงานเด็ก
- สิทธิในการมีส่วนร่วม คือ การให้เด็กได้รับบทบาทที่ สำคัญในชุมชน เด็กมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมในสังคม มีอิสระใน การแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตของตนเอง และได้รับ โอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเมื่อเติบโตขึ้น
ทำอย่างไร ไม่ให้ ท้องในวัยเรียน เกิดซ้ำ
หากพูดแบบตรงไปตรงมา การป้องกันการ ท้องในวัยเรียน ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องความรักในวัยเรียน มักมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2559 พบว่า อายุของผู้ที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมีอายุระหว่าง 15-16 ปี (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงในมนุษย์, 2560) ดังนั้น การคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการคุมกำเนิดให้เลือกใช้หลายวิธี ดังนี้ ค่ะ
- การใช้ถุงยางอนามัย
- การรับประทานยาคุมกำเนิด หรือ ยาคุมฉุกเฉิน
- การฉีดยาคุม
- การฝังยาคุม
- การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัย
นอกจากนี้ ภาครัฐได้เปิดโอกาสให้วัยรุ่นอายุ 10-20 ปี สามารถเข้ารับบริการฝังยาคุมกำเนิด ชนิดกึ่งถาวร ที่โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศได้ฟรี อย่างไรก็ตาม วิธีคุมกำเนิดดังกล่าวมาทั้งหมดไม่อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วยลดความเสี่ยงได้มาก และควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ค่ะ
สุดท้ายนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สถาบันครอบครัว เป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการสร้างเกราะป้องกันชั้นดีให้กับเด็กๆ และสำหรับคุณแม่คุณพ่อที่มีลูกวัยเรียนรู้ สามารถสอนและปลูกฝังลูกในเรื่องของเพศศึกษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่ออนาคตลูกจะได้เป็นเด็กที่ มีความฉลาดในการคิดดีและมีคุณค่า (TQ) และห่างไกลจากสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.today.line.me,www.thematter.co,www.hfocus.org,www.apps.hpc.go.th,www.thaihealth.or.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แม้ “ท้องก่อนวัย” แต่แม่ก็รักลูกหมดใจ! เรื่องจริงของแม่วัยใส..ที่หมอสูติอยากแบ่งปัน
ทำแท้ง อันตรายไหม? สธ.เปิดสายด่วนรับปรึกษาทำแท้งถูกกฎหมาย
ท้องไม่พร้อม ไม่สนุก!! รู้ยังวัยรุ่น ฝังยาคุม ฟรี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่