มาถึงครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่ท้องเป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย? เชื่อว่าทุกคนคงเหนื่อย แต่ก็อดมีความสุขไม่ได้แน่ ๆ มาในสัปดาห์ที่ 20 นี้คุณแม่จะได้พบหน้าลูกครั้งแรกโดยผ่านการอัลตร้าซาวด์ค่ะ และอาจจะรู้ด้วยว่าลูกของเราเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง ถ้าลูกไม่ขี้อายเอามือมาปิดเสียก่อน
ตรวจอะไรได้บ้าง
1. วัดขนาดของลูกน้อย
เพื่อดูว่าลูกของเรามีการเจริญเติบโตเหมาะสมกับอายุครรภ์หรือไม่ โดยคุณหมอจะวัดขนาดศีรษะ เส้นรอบท้อง และความยาวของกระดูกต้นขา หากลูกมีการเติบโตน้อยกว่าอายุครรภ์ คุณหมออาจนัดตรวจซ้ำอีกหลายครั้งเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด เนื่องจากทารกที่มีภาวะเจริญเติบโตช้าเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของยีน ความพิการ ทุพโภชนาการ มารดาเจ็บป่วย รกผิดปกติ ตั้งครรภ์แฝด หรือตัวเล็กโดยธรรมชาติ เป็นต้น
2. ดูตำแหน่งของรก
โดยปกติรกมักอยู่ด้านบนของมดลูก หากพบว่ารกเกาะต่ำ อาจมีแนวโน้มว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดได้ในไตรมาสที่ 3 และมักต้องผ่าคลอด ซึ่งคุณหมอจะคอยติดตามผลอย่างใกล้ชิด
3. ตรวจปริมาณของน้ำคร่ำ
เพื่อดูว่าคุณแม่มีมากหรือน้อยเกินไป หากมีน้ำคร่ำน้อยกว่า 400 ซีซี เรียกว่าน้ำคร่ำน้อย ส่วนมากมักเกิดจากทารกมีความพิการมาแต่กำเนิด น้ำคร่ำรั่ว รกลอกตัวก่อนกำหนด ฯลฯ หากมีมากกว่า 2,000 ซีซี เรียกว่าน้ำคร่ำมาก เกิดจากความพิการของทารกเช่นเดียวกัน รวมไปถึงคุณแม่ที่เป็นเบาหวานแบบควบคุมไม่ได้ การตั้งครรภ์แฝด ฯลฯ
4. ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
ตรวจว่าหัวใจทำงานปกติหรือไม่ ปกติแล้วลูกน้อยจะมีอัตราการเต้นของหัวใจ 120-180 ครั้งต่อนาที
5. ตรวจดูโครงสร้างและอวัยวะ
ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ได้แก่ ศีรษะ คอ หน้าอก หัวใจ กระดูกสันหลัง กระเพาะอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ ขา แขน และสายสะดือ
6. ตรวจดูภาวะดาวน์ซินโดรม
ซึ่งสามารถตรวจได้เมื่ออายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์เท่านั้น โดยสังเกตความผิดปกติดังนี้
- ถุงน้ำในเนื้อเยื่อสร้างน้ำไขสันหลัง
- ความหนาของเนื้อต้นคอ
- จุดสีขาวเข้มในหัวใจ
- ข้อกลางของนิ้วก้อยสั้นหรือไม่มี
- กรวยไตกว้าง
- ความเข้มของลำไส้
- นิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วชี้ห่างกัน ฯลฯ
หากพบความผิดปกติ คุณหมอมักแนะนำให้ตรวจเจาะน้ำคร่ำต่อไป
7. ตรวจดูเพศของลูก
ในสัปดาห์ที่ 20 นี้ อวัยวะเพศของลูกพัฒนาสมบูรณ์แล้ว จึงสามารถรู้ได้ว่าลูกน้อยในครรภ์เป็นเพศใด หากคุณแม่ยังไม่อยากทราบเพศของลูก ควรแจ้งคุณหมอล่วงหน้าค่ะ
เลือกอัลตร้าซาวด์กี่มิติดี?
ปัจจุบันนี้เราสามารถอัลตราซาวด์ได้ 4 มิติแล้ว ซึ่งการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ นี้เป็นคลื่นเสียงความถี่สูง ถูกส่งผ่านวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว มีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องตามระยะเวลาที่ตรวจ จึงสามารถเห็นทารกเคลื่อนไหวอยู่ในครรภ์มารดาเสมือนจริงแบบ Real-time สามารถเห็นกริยา อาการ และอิริยาบถที่กำลังกระทำอยู่ในขณะตรวจครรภ์ เช่น การหาว การขยับนิ้ว การหันหน้า การได้ยินเสียงหัวใจลูกน้อยเต้น เป็นต้น ที่ดูต่อเนื่องกันไปเป็นภาพเคลื่อนไหวเหมือนดูภาพยนตร์ซึ่งต่างจากอัลตราซาวด์ 3 มิติ ช่วยให้สามารถศึกษาพฤติกรรมต่างๆ ของทารกในครรภ์ได้อย่างชัดเจน
ข้อดีของการ อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ (Ultrasound 4D)
นอกจากนี้ อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ จะเป็นภาพที่ดูง่ายสำหรับบุคคลทั่วไป และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวินิจฉัยความผิดปกติของอวัยวะภายนอก เช่น ปากแหว่ง นิ้วมือ เท้าเกิน เป็นต้น การที่คุณพ่อคุณแม่สามารถมองเห็นลูกน้อยได้ ยังเป็นการสร้างความผูกพันในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูกให้เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์อีกด้วย แพทย์ยังสามารถทำการประเมินว่าทารกมีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการใน ครรภ์ที่เหมาะสม อาทิ
- ตำแหน่งทารก สายสะดือ และปริมาณน้ำคร่ำที่อยู่รอบทารก
- โครงสร้างกะโหลกศีรษะ และสมองทารก
- แขน ขา มือ เท้า และนิ้ว
- หัวใจ และการไหลเวียนเลือดของ ทารก
- กระดูกสันหลัง กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และไต
- ใบหน้า และอวัยวะต่างๆ บนใบหน้าของ ทารก
- อัตราการเจริญเติบโตของทารก ขนาดรอบศีรษะ ความยาว และน้ำหนัก
- สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อยากทราบแบบใจจดใจจ่อ คือ เพศของทารก
อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะไม่สามารถใช้อัลตราซาวด์ดูได้ ณ ขณะนั้น อาจจะต้องรอจนทารกตัวโตพอสมควร หรือคลอดมาแล้วจึงจะตรวจพบก็ได้ ข้อดีอีกด้านของอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ คือ สามารถบันทึกภาพการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ (เปิดได้จากเครื่องเล่น DVD และคอมพิวเตอร์) อายุครรภ์ที่เหมาะสมในการตรวจอัลตร้าซาวด์ประเภทนี้สามารถตรวจได้ทุกช่วงวัย สูตินรีแพทย์จะส่งตรวจอัลตราซาวด์เป็นระยะ โดยภาพที่เห็นก็จะแตกต่างกันออกไปตามพัฒนาการลูกน้อย
เครื่องอัลตร้าซาวด์มีความปลอดภัยสูง สามารถตรวจได้ตลอดการตั้งครรภ์ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดจำนวนครั้ง และยังมีรายงานการรับรองจากองค์การอาหารและยาในสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่าการตรวจอัลตราซาวด์ในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่มีรายงานพบว่าก่อให้เกิดความผิดปกติต่อมารดา และทารกแต่อย่างใด
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> https://phyathai3hospital.com/home/
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 3 (เพชรเกษม 19)