ถ่ายพยาธิ – โดยปกติแล้ว หากไม่มีความจำเป็น เราคงไม่ต้องกินยาถ่ายพยาธิ แต่สำหรับบางคน ในกรณีที่จำเป็นต้องถ่ายพยาธิ เนื่องจากมีอาการผิดปกติของร่างกาย แต่ขณะเดียวกันก็กำลังตั้งครรภ์อยู่ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ยา ถ่ายพยาธิ จะไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ มีข้อห้าม หรือข้อควรระวัง สำหรับคนท้องหรือไม่ วันนี้เรามาไขข้อข้องใจกันค่ะ
มีพยาธิตอนท้อง ถ่ายพยาธิ ได้ไหม อันตรายหรือเปล่า?
พยาธิ คืออะไร
คือ ปรสิต ชนิดหนึ่ง ที่ดำรงชีพได้ด้วยการอาศัยอยู่ในร่างกายของคนหรือสัตว์ โดยเข้าสู่ร่างกายของคนได้ตั้งแต่ยังเป็นไข่ พบมากในระบบทางเดินอาหาร เข้าสู่ร่างกายของคนได้ทางปากจากการที่เราดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีพยาธิปนอยู่ หรือแม้แต่พยาธิที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ ก็สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ ผ่านทางการสูดลมหายใจ
นอกจากนี้ การสัมผัส สิ่งปฏิกูลจากสัตว์ ตลอดจนจุดสัมผัสที่เสี่ยงที่อาจมีไข่พยาธิติดอยู่ เช่น ลูกบิดประตู ที่รองนั่งชักโครก ก็ทำให้พยาธิเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน เมื่อ พยาธิเข้าสู่ร่างกาย จะฟักตัวและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว โดยพยาธิเหล่านี้ จะแย่งสารอาหารที่เรารับประทานเข้าไป จนทำให้ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้
ชนิดของพยาธิ ที่ทำให้เกิดโรคในคน
- นีมาโทดา (Nematodes) จะมีลำตัวไม่แบ่งเป็นปล้องๆ รูปร่างทรงกระบอก หัวท้ายเรียวแหลม เช่น พยาธิไส้เดือนกลม พยาธิเส้นด้าย พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด ชนิดที่พบผู้ป่วยในประเทศไทยมากคือ พยาธิเส้นด้าย (เข็มหมุด) ซึ่งผู้ป่วยรับพยาธิได้ง่ายจากการบริโภคอาหารดิบหรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ จากเนื้อสัตว์ และหอยชนิดต่าง ๆ นอกจากนั้นยังอาจได้รับพยาธิจากการใช้มือที่ไม่สะอาดหรือไม่ได้ล้างมือให้สะอาดหยิบอาหารรับประทาน
- พยาธิตัวแบน หรือ พยาธิตัวตืด (Cestodes หรือ Tapeworm) จะมีลำตัวแบน แบ่งเป็นปล้องๆ เช่น พยาธิตืดหมู พยาธิตืดวัว เป็นต้นชนิดที่พบผู้ป่วยในประเทศไทยมากคือ พยาธิตืดหมูและพยาธิตืดวัว ซึ่งผู้ป่วยรับพยาธิได้ง่ายจากการบริโภคอาหารดิบหรือปรุงสุกๆดิบๆ จากเนื้อหมูและเนื้อวัว
- พยาธิใบไม้ (Trematodes หรือ Fluke) จะมีลำตัวแบนไม่แบ่งเป็นปล้อง เช่น พยาธิใบไม้ในเลือด พยาธิใบไม้ในตับ ติดต่อได้ง่ายจากการบริโภคอาหารประเภทปลาและสัตว์น้ำจืด ในลักษณะดิบหรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ
เตือนภัย! กินผักสด หมูดิบ ต้องระวัง พยาธิตืดหมู ไชยั้วเยี้ยเต็มร่างกาย
พยาธิในผักสด ฝันร้ายของคุณแม่สายคลีน!!
ลูกมีพยาธิ แน่! หากพ่อแม่ปล่อยปละละเลย
อาการเมื่อติดเชื้อพยาธิ
- มีอาการปวดท้อง หรือ ท้องเสีย
- รู้สึกหิวบ่อย
- มีอาการอ่อนเพลีย
- อาจน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อาจพบรอยแดงบนผิวหนัง เช่น ที่ขา และเท้า มีลักษณะเป็นทางเหมือนพยาธิไช
- รู้สึกคันบริเวณรอบๆ รูทวารหนัก
- อาจมีพบพยาธิ ปนออกมากับอุจจาระได้
หากสงสัยว่ามีอาการใกล้เคียงกับอาการข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อทำการรักษาต่อไป
การใช้ยา ถ่ายพยาธิ ในหญิงตั้งครรภ์
การใช้ยา ถ่ายพยาธิ อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากทารกจะมีการเจริญเติบโตและสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยหลังจากการปฏิสนธิประมาณ 18 วัน หัวใจและระบบประสาทของทารกจะเริ่มเจริญเติบโต สร้างแขนขาและตาหลังการปฏิสนธิ 24 วัน และสร้างอวัยวะเพศหลังจากการปฏิสนธิ 37 วัน ซึ่งในระยะที่กล่าวมานี้ หากมียาหรือสารบางชนิดไปกระทบกระเทือนต่อการแบ่งเซลล์ ก็จะทำให้อวัยวะนั้น ๆ มีความผิดปกติหรือหยุดการเจริญเติบโตได้ ซึ่งจะผิดปกติมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะของการตั้งครรภ์และปริมาณของยาหรือสารที่ได้รับ นอกจากนี้ยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงอันตราย ต่อทั้งแม่และเด็กในครรภ์ได้
สำหรับกรณีในหญิงตั้งครรภ์ ข้อแนะนำในการใช้ยา ถ่ายพยาธิ ควรเป็นดังนี้
1. หากหญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็นโรคพยาธิ ควรเข้ารับการรักษาและใช้ยาถ่ายพยาธิตามดุลพินิจของแพทย์ เพราะอาการของโรคพยาธิขั้นรุนแรงทำให้เกิดโรคโลหิตจางในมารดา และอาจรวมถึงทารกในครรภ์ น้ำหนักตัวของทารกแรกคลอดลดลง และเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์
2. ยาที่ใช้ได้ในสตรีมีครรภ์
- มีเบนดาโซล (Mebendazole)
- อัลเบนดาโซล (Albendazole)
- นิโคลซาไมด์ (Niclosamide)
- ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin)
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์หลังจากนั้น สามารถเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ครรภ์ได้ เพื่อแพทย์ตรวจติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์
3. ยาที่ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์
- ไพเรนเทล (Pyrantel)
- พราซิควอนเทล (Praziquantel)
- ไดเอทิล คาร์บามาซีน (Diethylcarbamazine)
- พิเพอร์ราซีน (Piperazine)
เนื่องจากกลุ่มยาข้างต้น อาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ แพทย์จะพิจารณาใช้เมื่อจำเป็นและมารดามีอาการรุนแรงจริงๆ จากพยาธิเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ใช้ยา พราซิควอนเทล (Praziquantel) ใช้เพื่อรักษาโรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosomiasis) เป็นต้น
การป้องกันการติดเชื้อ
หญิงมีครรภ์ ควรลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้พยาธิเข้าสู่ร่างกาย ดังนี้
• กินอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่
• ล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน
• ควรล้างมือให้สะอาด ก่อนรับประทานอาหาร
• ดื่มน้ำที่สะอาด
• เก็บรักษาอาหาร ไม่ให้สิ่งมีชีวิตเข้าไปวางไข่ได้
• หากมีแหล่งน้ำขัง น้ำท่วม ไม่ควรเดินลุยน้ำเท้าเปล่า ควรสวมรองเท้าบูทป้องกัน
• ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ป้องกันการโดนแมลงสัตว์กัดต่อย และ รักษาความสะอาดของเสื้อผ้า
เมื่อคุณแม่รู้จักการดูแลป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย แน่นอนว่าการตั้งครรภ์จะเป็นไปอย่างมีคุณภาพ เมื่อลูกน้อยคลอด และเติบโตขึ้นสู่วัยเรียนรู้ จากประสบการณ์ของคุณแม่ ในเรื่องการระวังและป้องกันการติดเชื้อจากพยาธิ คุณแม่สามารถแนะนำและปลูกฝังในเรื่องนี้ให้ลูกได้ เพื่อให้ลูกห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และปูพื้นฐานให้ลูกเรามีความฉลาดในการดูแลรักษาสุขภาพ(HQ) ได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.who.int,medthai.com,thaitravelclinic
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
10 ยาอันตรายต่อลูก! ไม่ช่วยรักษาแถมยังทำร้ายลูกน้อย
คนท้องกินยาพาราได้ไหม คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ยาที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้างเช็กเลย!
ประจำเดือนไม่มา กินยาอะไรดี ควรดูแลตัวเองอย่างไร?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่