จากโพสต์ในเฟสบุ๊คของ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน ที่ออกมาเตือนเรื่องการ แบ่งปันนมแม่ ว่าอาจทำให้เด็กติดเชื้อโรคได้ เพราะอาจจะมีคุณแม่ที่ติดเชื้อ HIV, ซิฟิลิส, ตับอักเสบบี, ตับอักเสบซี และ HTLV นำนมมาบริจาคด้วย ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ จะต้องยอมรับความเสี่ยงในข้อนี้
นมแม่คนอื่นอันตรายจริงหรือ?
นพ.ประชา นันท์นฤมิต หัวหน้าหน่วยทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า โดยทั่วไปเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย มีโอกาสที่จะติดต่อผ่านทางน้ำนมแม่ได้ ในกรณีที่แม่ติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้หมายความว่าลูกจะกินนมแม่ไม่ได้!!
ในกรณีทารกปกติทั่วไปที่ร่างกายแข็งแรง เช่น ถ้าแม่กำลังเป็นหวัด เป็นไปได้ว่าอาจมีเชื้อหวัดจำนวนเล็กน้อยออกทางน้ำนมได้ แต่ทารกก็จะไม่มีอาการและเป็นปกติ เพราะการติดเชื้อหวัดส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับเสมหะ การไอจาม แต่ถ้าเป็นทารกที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นทารกที่เกิดก่อนกำหนด ก็อาจจะทำให้เด็กมีปัญหาได้
นมแม่คนอื่นรับจากที่ไหนดีถึงปลอดภัย?
พญ.สุธีรา เปิดเผยว่า ในต่างประเทศก็มีการแชร์น้ำนมระหว่างแม่เช่นกัน แต่จะมีหน่วยงานที่คอยสุ่มตรวจ เพราะมีการขายน้ำนมแม่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่าผู้ขายน้ำนมแม่บางคนมีการใช้นมวัวหรือใช้น้ำเปล่าเจือจางนมแม่ ไปจนถึงการตรวจเจอเชื้อโรคต่างๆ เนื่องจากบางคนคิดว่าตัวเองปลอดภัย ทั้งที่อยู่ในระยะแฝง เช่น เชื้อ HIV เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น ซึ่งการแบ่งปันน้ำนมโดยไม่ได้ทำตามขั้นตอนของการตรวจจะเรียกว่า Informal Milk Sharing
ในต่างประเทศมีธนาคารน้ำนมหลายแห่ง แต่ประเทศไทยตอนนี้มีธนาคารน้ำนมที่โรงพยาบาลรามาธิบดีแค่แห่งเดียว ซึ่งจะให้ฟรีกับกลุ่มทารกที่ป่วยหนักและทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักแค่ 500 กรัมถึง 1 กิโลกรัม ลำไส้ของเด็กเหล่านี้ไม่สามารถย่อยนมที่ข้ามสายพันธุ์ได้ ถ้ากินนมผงจากนมวัวก็จะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคลำไส้เน่า หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด ไปจนถึงการติดเชื้อที่สมอง ส่วนในต่างประเทศ ธนาคารน้ำนมมี “นมแม่” ขาย แต่ราคาแพงมาก คือนมแม่ 1 oz. หรือ 30 cc. มีราคาราวๆ 200 บาท
เครดิต: เฟสบุ๊ค ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน, thairath.co.th