ลูกติดเต้า ปัญหาใหญ่สำหรับ working mom ที่เมื่อครบกำหนดลาคลอดแล้ว แต่ลูกน้อยยังคงร้องไห้อ้อนคุณแม่เพื่อขอกินนมอุ่น ๆ จากเต้าอยู่ร่ำไป คนเป็นแม่ควรทำเช่นไร วันนี้ Amarin Baby & Kids มีวิธีดี ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาลูกติดเต้าแบบไม่เศร้ามาฝากกันค่ะ
ข้อดีเมื่อลูกได้ดูดเต้า
หลายคนอาจมองว่า ไม่ควรปล่อยให้ลูกดูดเต้าจนกลายเป็นเด็กติดเต้า แต่หากคุณเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ก็อาจสามารถทำได้ เพราะการให้ลูกดูดนมจากเต้ามีข้อดีมากมายทั้งต่อตัวคุณและลูกน้อย ดังนี้
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูก ซึ่งแพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ได้กล่าวเสริมไว้ว่า การได้ดูดเต้า เป็นช่วงเวลาที่ลูกมีความสุขและสงบที่สุด เพราะจะมีการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขใจ ทำให้ลูกนอนหลับสบาย อารมณ์ผ่อนคลาย ทั้งยังส่งผลต่อสายสัมพันธ์ในระยะยาวกับแม่ ทำให้เขารู้ว่า แม่คือคนที่เขาอยู่ด้วยแล้วมีความสุขและปลอดภัยที่สุด
- ไม่ต้องใช้เวลาในการเตรียมนมสต็อก ละลายนม และอุ่นนม สามารถให้นมแม่ได้ทันทีที่ลูกต้องการ
- ไม่ต้องล้าง ต้ม หรือนึ่งขวดนม ยิ่งหากลูกกินบ่อย ก็ยิ่งต้องล้างขวดนมบ่อย ซึ่งหากทำความสะอาดไม่ดี คราบนมที่เกาะอยู่ตามขวด จะกลายเป็นแหล่งสะสมชั้นดีของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ลูกท้องเสีย อาเจียน และไม่สบายได้
- ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับให้นมลูก เมื่อต้องออกไปทำธุระข้างนอก เช่น ขวดนม คูลแพ็ค กระเป๋าเก็บความเย็น หรือเครื่องปั๊มนม
- คุณแม่ไม่ต้องเร่งปั๊มนม เพราะการดูดจากขวด จะทำให้ลูกดูดเร็ว ดูดสบาย และดูดเยอะ ซึ่งทำให้นมในสต็อกหมดเร็วตามไปด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ข้อเสียเมื่อ ลูกติดเต้า มากเกินไป
เมื่อมีข้อดี ก็ย่อมมีข้อเสียด้วยเช่นกัน หากบ้านไหนที่ลูกติดเต้าแม่มาก ๆ ก็อาจสร้างความลำบากได้ไม่น้อย ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ
- คุณแม่จะทำธุระส่วนตัวนอกบ้านไม่ค่อยสะดวก ต้องคอยพะวงว่าลูกจะร้องหิวนมหรือไม่
- ไม่มีใครสามารถดูแล หรือพาลูกเข้านอนได้ หากลูกจะต้องดูดเต้าทุกครั้งเพื่อกล่อมนอน
- เมื่อโตขึ้น การเลิกเต้าก็อาจทำได้ยากมากขึ้น