สูตรน้ำหัวปลี เพิ่มน้ำนม
ส่วนผสม
- น้ำเปล่า 1 หม้อ = น้ำขวดใหญ่ 2 ขวด
- หัวปลี 2 หัว
- น้ำผึ้ง1 ทัพพี
- น้ำมะนาว 5-6 ลูก (ชอบเปรี้ยวก็เพิ่มได้)
- น้ำตาล (ถ้าไม่หวานเพิ่มได้)
- อินทผลัม 8-10 ลูก (ถ้าไม่มีไม่ต้องใส่)
- เกลือ 1/4 ช้อนชา
(ปกติถ้าไม่เปรี้ยวมากจะไม่เป็นไรนะคะ แต่ถ้าทานเปรี้ยวมากแล้วลูกงอแง ก็ให้ลดหรืองดมะนาวค่ะ)
วิธีทำ
– เอาหัวปลีมาปลอก จนไม่มีเปลือกสีแดง แกะเป็นแผ่นๆ ไม่เอาเกสรปลี ใช้แค่เปลือกใจสีขาว เอาแผ่นปลีแช่น้ำเกลือ ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมงให้ยางมันหาย
– ตั้งหม้อใส่น้ำเปล่า ต้มหัวปลีในน้ำเดือด 20-30 นาที จะได้น้ำสีเทาๆ
– แล้วเอา น้ำผึ้ง และ อินทผลัม ใส่ลงไป น้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ชิมรสจนชอบ
– ถ้าไม่หวาน เติมน้ำตาลทรายได้ เวลาจะทาน รอให้เย็น อุ่นๆ บีบมะนาวใส่ ชิมรสตามใจชอบ
– กรองเศษปลีออก แล้วใส่ขวด เก็บทานได้ 3-5 วัน เพราะต้มสด น้ำมะนาวถ้าใส่ตอนต้มจะขม แนะนำใส่ที่หลังดีกว่า
(ขอบคุณสูตรน้ำหัวปลี เพิ่มน้ำนมของคุณแม่ Yayee จากกรุ๊ป คุณแม่นักปั๊มทำทุกอย่างเพื่อลูก)
♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥
นอกจากนี้แม่ควรได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอ และดื่มน้ำให้เยอะๆ สำหรับการดื่มน้ำ หากดื่มมากกว่าปริมาณที่อยากดื่มไม่ส่งผลดีเท่าไหร่นัก เพราะร่างกายจะกำจัดน้ำส่วนเกินออกทันทีในรูปของปัสสาวะ ตรงกันข้าม กับแม่มือใหม่ที่อาจยุ่งจนลืมดื่มน้ำไม่มากพอ แนะนำให้ดื่มน้ำขณะที่ให้นมลูกไปเลย
กินผัก ผลไม้ ธัญพืช เพื่อได้รับวิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็น รวมถึงเส้นใยอาหารที่ดีต่อระบบลำไส้ของแม่ พยายามลดเนื้อสัตว์ลง โดยเฉพาะเนื้อปลา มักมีสารเคมีสะสม เช่น ปลาทูน่า และปลาอื่นๆ ที่มีระดับปรอทสูง ในขณะที่ผัก แม้จะมีสารปนเปื้อนแต่ก็มีสารพิษตกค้างน้อยกว่า หากแม่รับประทานอาหารครบ 5 หมู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินวิตามินเสริมแต่อย่างใด
ความเหน็ดเหนื่อยจากการให้นม
แม่หลังคลอดไม่ว่าจะให้นมลูกเอง หรือให้นมขวดก็ตาม ล้วนเกิดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกันได้ทั้งนั้น ยิ่งแม่ที่ให้นมลูกอาจต้องเสียพลังงานเพื่อการผลิตน้ำนมมากขึ้นไปอีก แม่จึงควรได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น แม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีความสุขมักจะเจริญอาหารอยู่แล้ว แต่สำหรับแม่ที่เหน็ดเหนื่อย ไม่สบายใจ หรือน้ำหนักลดลงมากผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอทันที
หากแม่เหน็ดเหนื่อยจากการให้นม การทำงาน และพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะให้นมลูกในตอนกลางคืน สามีควรเข้ามาช่วยแบ่งเบา เช่น ป้อนนมแม่จากขวดตอนกลางคืน เปลี่ยนผ้าอ้อม หากโชคดีลูกน้อยหลับยาวตั้งแต่อายุ 4-6 เดือน ความเหน็ดเหนื่อยของแม่ก็จะลดน้อยถอยลง
เหตุที่ทำให้นมแม่ไม่สำเร็จ!
มาจากความคิดที่ว่าตัวเองมีน้ำนมไม่พอ ไม่มั่นใจ เวลาที่ลูกร้องไห้มาก จะมีคำถามตามมาทันทีว่า สงสัยนมแม่ไม่พอ หรือ ลูกปวดท้อง ซึ่งความกังวลนี้ทำให้แม่หลายคนต้องหันมาใช้นมผงเป็นตัวแก้ เพราะหาง่าย และอยู่ใกล้มือ
อีกหนึ่งสาเหตุก็คือ แม่ต้องกลับไปทำงาน ข้อนี้เป็นอุปสรรคไม่น้อยของเวิร์คกิ้งมัม และหลายครั้งก็เป็นสาเหตุแรกที่ทำให้แม่หลายคนตัดสินใจไม่ให้นมแม่ตั้งแต่แรก เพราะกลัวจะเลิกยาก แต่ความจริงหากมีการวางแผนที่ดี การปั๊มนมจะช่วยให้แม่ที่ต้องกลับไปทำงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้อีกนาน การให้นมที่ปั๊มทิ้งไว้ แล้วค่อยกลับมาให้ลูกดูดจากเต้าก่อนและหลังกลับจากทำงาน รวมถึงให้ดูดตอนกลางคืน จะช่วยให้แม่ผลิตน้ำนมได้อย่างเพียงพอ และสุดท้ายนี้ ขอบอกว่า สู้ๆ นะคะคุณแม่ เพื่อลูกน้อยอันเป็นที่รักของเรา Amarin Baby & Kids ขอเป็นกำลังใจให้ ^^
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ผักผลไม้เพิ่มน้ำนม 20 ชนิด เพิ่มน้ำนมให้คุณแม่
- 6 สุดยอด สมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ (ไทย จีน ฝรั่ง) ครบสูตร
- ยาเพิ่มน้ำนม ตัวช่วยของคุณแม่น้ำนมน้อย
บทความจาก คัมภีร์เลี้ยงลูก วัยแรกเกิด-วัยรุ่นตอนปลาย นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก เขียน แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ แปล สำนักพิมพ์ Amarin Health