เด็กเล็กช่วงวัย 1-3 ปีมีความเครียดได้ทุกวันเหมือนผู้ใหญ่ โภชนาการที่ดีจะช่วยจัดการความเครียดได้ มีคำแนะนำจากกุมารแพทย์ ระบุว่า เพียงปรับเปลี่ยนอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรทในมื้อเช้าของลูกโดยเลือกกินข้าวไม่ขัดสีแทนข้าวขาว หรือขนมปังโฮลวีทแทนขนมปังขาวพร้อมกับเนื้อสัตว์ จะทำให้ร่างกายผลิตสารสื่อประสาทในสมองที่เป็นสารสร้างความสุข ชื่อว่า “เซโรโทนิน” ทำให้รู้สึกเบิกบาน ผ่อนคลาย ลดภาวะความตึงเครียดของร่างกายและสมองของเด็กๆ ได้ทุกวัน แถมในข้าวไม่ขัดสียังมีวิตามินและแร่ธาตุสำคัญหลายชนิดที่ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาสมองในวัยเด็กเล็กได้ดีอีกด้วย
มื้อเช้ากินข้าวกล้อง โภชนาการลดเครียด ?
แพทย์หญิงเสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์ พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ให้ข้อมูลว่า เด็กเล็กมีความเครียดไม่ต่างจากผู้ใหญ่ อยู่ที่ว่าพ่อแม่จะสังเกตเห็นหรือไม่ พฤติกรรมที่เด็กเล็กแสดงออกเวลาเครียด คือกริยาอาการรูปแบบต่างๆ อาจจะหงุดหงิดง่าย งอแงเอาแต่ใจ โดยเฉพาะเมื่อถูกขัดใจจะเห็นได้ชัดเจน เมื่อพ่อแม่เห็นลูกฮึดฮัด ร้องงอแง ไม่นานก็กลับมาเป็นปกติ จึงไม่คิดว่าเด็กๆ ก็เครียดเป็น ยิ่งถ้าบ้านไหนชอบแหย่เด็กให้โวยวาย ให้นึกเลยว่า เรากำลังทำให้ลูกเผชิญกับความเครียดโดยไม่จำเป็น ผู้ใหญ่จึงไม่ควรแหย่เด็กเด็ดขาด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่บั่นทอนภาวะโภชนาการของเด็กได้
“ตามธรรมชาติร่างกาย เมื่อเกิดภาวะตึงเครียด จะหลั่งสารอะดรีนาลีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะสู้หรือหนี โดยระบบการหมุนเวียนเลือดและหัวใจจะทำงานหนักขึ้นและเร็วขึ้น หายใจถี่ขึ้น กล้ามเนื้อแขนขาเกร็ง มีการยับยั้งการดูดซึมอาหารของลำไส้ ซึ่งการยับยั้งการดูดซึมอาหารของลำไส้นี่แหละ ที่ทำให้ร่างกายของเด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอได้ถ้ามีความเครียดต่อเนื่องยาวนาน เมื่อร่างกายดูดซึมสารอาหารไม่พอ ก็ต้องดึงเอาสารอาหารที่เก็บสะสมไว้ในร่างกายออกมาใช้แทน ดังนั้น ถ้าเด็กที่มีโภชนาการน้อยหรือไม่เหมาะสมอยู่เป็นทุนเดิม ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคขาดสารอาหารได้ การเลี้ยงลูกให้มีโภชนาการที่สมบูรณ์ร่วมกับการเลี้ยงลูกเชิงบวก จึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับลูก เพราะร่างกายเด็กจะสามารถรับมือกับความเครียดในปริมาณเหมาะสม โดยไม่ต้องดึงสารอาหารที่ควรใช้ในการเจริญเติบโตมาใช้งานแทน” แพทย์หญิงเสาวภา กล่าว และให้ข้อมูลน่าสนใจเติมเพิ่มว่า ทุกครั้งที่เกิดความเครียด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนความเครียดอีกตัวชื่อว่าคอร์ติซอล ฮอร์โมนตัวนี้ถ้าเกิดขึ้นเรื้อรังและยาวนานก็จะส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายได้ อย่างไรก็ตาม ในสมองมีสารสื่อประสาทหลายชนิดที่ช่วยระงับความเครียด เราเรียกว่าสารสื่อประสาทที่สร้างความสุข เช่น “เซโรโทนิน”
ซึ่งทำให้เราเบิกบานใจ ผ่อนคลาย อารมณ์ดี โดยอาหารกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ นม ไข่ กลุ่มถั่วและธัญพืชต่างๆ จะมีกรดอะมิโนทริพโตเฟนสูง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตเซโรโทนิน โดยสมองจะมีระดับซีโรโทนินสูงก็เมื่อร่างกายได้รับอาหารกลุ่มดังกล่าวร่วมกับกลุ่มคาร์โบไฮเดรตในเวลาเดียวกัน เช่น กินข้าวกับไก่ทอด หรือกินขนมปังคู่กับทูน่า คุณหมอแนะนำให้เลือกข้าวไม่ขัดสี และขนมปังโฮลวีทดีกว่าข้าวขัดสีและขนมปังขาว เมื่อเซโรโทนินเพียงพอ ลูกจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ มีความสุข แต่ถ้าเซโรโทนินไม่เพียงพอ ลูกจะดูซึมๆ ไม่ค่อยมีชีวิตชีวาหรืออาจตรงกันข้ามคือ หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี ดังนั้น มื้อสำคัญของลูกคืออาหารเช้า เพื่อให้ร่างกายมีความสุขได้ตลอดวัน คุณแม่ควรจัดคาร์โบไฮเดรทที่ไม่ขัดสีบวกกับกลุ่มโปรตีนในสัดส่วนที่เหมาะสมจึงจะทำให้เกิดสมดุลฮอร์โมนในสมองได้
“สำคัญคือมื้อเช้าสำหรับเด็กเล็ก กินข้าวไม่ขัดสีพร้อมโปรตีนและห้าหมู่ครบถ้วน” คุณหมอยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับอาหารในกลุ่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย เพราะความเครียดที่เกิดขึ้นจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง จะเจ็บป่วยง่ายขึ้น ถ้ากินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระทุกวันก็เท่ากับไปช่วยแก้กันได้ เช่น ผักและผลไม้หลากสี ซึ่งเป็นอาหารในกลุ่มวิตามินและแร่ธาตุ
แต่หลายครอบครัวมักเจอปัญหาลูกไม่ชอบกินผัก กินผลไม้น้อยหรือไม่กินเลย การเลือกนมเสริมสารอาหารสำหรับเด็กเล็กวัย 1-3 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มอาหารสำหรับเด็กเล็ก (Young Child Formula : YCF) ก็เป็นตัวช่วยของคุณแม่ได้ทางหนึ่ง เพราะนมกลุ่มนี้ นอกเหนือจากในนมจะมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรทและไขมันตามธรรมชาติอยู่แล้ว ยังมีการเติมสารอาหารในกลุ่มวิตามินและแร่ธาตุ เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน โฟเลต วิตามินบี12 และแร่ธาตุต่างๆ ที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตตามช่วงวัย โดยสารอาหารเหล่านี้ถูกเติมในปริมาณที่มีการวิจัยมาแล้วว่าเหมาะกับช่วงวัย 1-3 ปี
มีคำแนะนำเรื่องการเลือกนมสำหรับเด็กเล็กวัย 1-3 ปี จากคุณหมอเสาวภา โดยคุณหมอฝากย้ำว่า คุณแม่ต้องรู้ว่านมเป็นอาหารหลักของลูกในช่วงปีแรก และช่วง 6-12 เดือน ลูกต้องกินอาหารเสริมตามวัย เพื่อให้คุ้นชินกับอาหารอื่นที่ไม่ใช่นมและเนื้อหยาบขึ้นทีละนิดๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับหลังอายุ 1 ปีที่บทบาทอาหารจะสลับกัน โดยอาหารหลักจะเป็นอาหาร 3 มื้อ ที่มีความหลากหลาย และเนื้อหยาบขึ้นด้วย ส่วนนมจะกลายมาเป็นอาหารเสริม 2-3 ครั้งต่อวันแทน “เราต้องยึดเรื่อง 3 มื้อหลักให้ได้ครบ 5 หมู่ ส่วนการกินนม ถ้ากินนมแม่อยู่ก็ให้กินต่อไปยาวๆ ไปเลยเพราะข้าวเป็นอาหารหลักอยู่แล้ว” กุมารแพทย์กล่าว
“การเลือกชนิดของนมให้ขึ้นอยู่กับสไตล์ของเด็ก ถ้าวัย 1-2 ปี เด็กบางคนยังไม่ขอบดูดหลอด เราก็ใช้ดื่มแก้ว เป็นนมวัวก็ได้ นมเสริมสารอาหารก็ได้ แล้วนมสองอย่างนี้ต่างกันตรงไหน ก็ต่างตรงที่นมวัวทั่วไปไม่ได้เสริมเพิ่มอะไรลงไป แต่เพียงพอต่อร่างกาย (เพราะอาหารหลักอยู่ที่ 3 มื้อห้าหมู่) ส่วนนมเสริมสารอาหารก็จะมีการเติมสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของช่วงวัย เหมาะกับเด็กที่พ่อแม่ประเมินว่าลูกอาจขาดสารอาหารจากมื้อหลักในระหว่างที่กำลังปรับพฤติกรรมการกิน อาจด้วยเพราะทะเลาะกันเยอะ ลูกต่อต้านจนเม้มปากหนัก คายอาหารทุกคำที่ป้อน ร้องไห้อาละวาด สัมพันธภาพไม่ดีแล้ว ความเครียดของลูกและแม่จะยิ่งทำให้ลูกต่อต้านไม่กินมากขึ้นอีก สารอาหารต่างๆ ก็คงไม่ถึงท้องแน่ ถ้าเป็นแบบนี้ แนะนำให้ดื่มนมเสริมสารอาหารในช่วงมื้อนม เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารจำเป็นที่หลากหลายบ้าง และช่วยลดความเครียดของแม่ลง แล้วคุณแม่ก็มาตั้งหลักใหม่ สร้างวินัยการกินด้วยวิธีเชิงบวกแทนนะคะ โดยคุณแม่บางท่านใช้เวลาปรับวินัยการกินเป็นสัปดาห์ แต่บางท่านก็เป็นเดือน ตรงนี้ไม่ว่ากัน เพราะแต่ละท่านมีพื้นฐานและบริบทไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้เวลาปรับลูกนานให้ประเมินด้วยว่า ลูกจะขาดอาหารที่จำเป็นหรือเปล่า การให้เป็นนมเสริมสารอาหารก็จะมีประโยชน์ต่อลูกในช่วงนี้ได้” คุณหมอกล่าวทิ้งทาย