ปั๊มน้ำนม วิธีไหนที่สามารถเพิ่มน้ำนมแม่เป็นทวีคูณ วิธี power pumping (pp) ช่วยเพิ่มน้ำนมได้ดีกว่าแบบปกติจริงหรือ แม่น้ำนมหด น้ำนมน้อย มามุงกันได้เลยที่นี่!
วิธี ปั๊มน้ำนม แบบ power pumping เพิ่มน้ำนมได้จริงหรือ?
มหัศจรรย์นมแม่
น้ำนมแม่ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีประโยชน์มากมายต่อลูกน้อย และรู้หรือไม่ว่า ในนมแม่นั้นยังมีความจำเพาะกับแม่และลูก นมแม่ที่ผลิตขึ้นในแต่ระยะการเจริญเติบโตของลูกน้อยนั้น จะมีปริมาณสารอาหารที่แตกต่างตามความต้องการของร่างกายในแต่ละช่วงวัยของเด็ก นอกจากนั้นระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังไม่สมบูรณ์ ทารกจะมีภูมิคุ้มกันโดยรับแอนติบอดี้ต่างๆ ตามที่แม่สร้างขึ้นผ่านทางนมแม่ นมแม่จึงช่วยให้ทารกสามารถปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องตนเองจากสภาวะแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้ นมแม่จึงถือเป็นอาหารและยาที่ดีที่สุดของลูก
การปั๊มน้ำนม เป็นวิธีเก็บสำรองนมแม่ที่สะดวก ประหยัดเวลาในการให้นมลูก และยังช่วยให้คุณแม่หมดกังวลเรื่องปริมาณนมที่อาจไม่เพียงพอเมื่อให้นมจากเต้า สามารถเก็บไว้ให้ลูกได้ดื่มภายหลังช่วยให้ไม่ขาดตอน นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่ว่างหรือต้องไปทำงานนอกบ้าน ผู้ที่รับหน้าที่แทนก็ป้อนนมให้เด็กได้ทันที สิ่งสำคัญคือคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีการปั๊ม และการเก็บรักษานม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกน้อยได้รับนมที่มีคุณภาพ และยังเป็นผลดีต่อสุขภาพเต้านมของตัวคุณแม่เองด้วย
การปั๊มนมยังมีข้อดีอีกหลายประการ เช่น
- ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม ส่งผลให้คุณแม่มีปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้น
- ช่วยเก็บสำรองนมแม่ไว้ให้ทารก ในกรณีที่คลอดก่อนกำหนดหรือแม่ให้นมจากเต้าโดยตรงไม่ได้
- ช่วยเก็บสำรองนมแม่ ในกรณีที่แม่อาจต้องหยุดให้นมเนื่องจากใช้ยาหรือรับการรักษาที่ส่งผลต่อคุณภาพและการปนเปื้อนของน้ำนมแม่
- ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการคัดเต้านม แต่หากปั๊มนมมากเกินไปในช่วงที่คัดเต้านมอาจทำให้อาการเจ็บยิ่งรุนแรงขึ้นได้
ควรเริ่มปั๊มนมเมื่อใด ?
การปั๊มนมควรเริ่มหลังคลอดบุตร โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ อาจเริ่มปั๊มนมทันทีหลังคลอด เพราะจะช่วยให้น้ำนมไหลออกมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้เด็กเรียนรู้การดูดนมจากขวดเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กสับสนและติดดูดนมจากขวด ทว่าอาการนี้อาจไม่เกิดขึ้นเสมอไป เด็กบางคนปรับตัวได้ดี ทำให้ดูดนมจากเต้าและขวดนมสลับกันได้โดยไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ หากคุณแม่ไม่ได้เริ่มปั๊มนมตั้งแต่หลังคลอด และต้องกลับไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด ควรเริ่มฝึกปั๊มนมอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้า โดยอาจปั๊มนมหลังจากให้นมลูกเรียบร้อยแล้วหรือปั๊มระหว่างให้นมเลยก็ได้ การฝึกปั๊มนมจะช่วยให้คุณแม่เรียนรู้วิธีปั๊มนมได้อย่างถูกต้อง และยังเป็นการเริ่มเก็บสำรองน้ำนมไว้สำหรับลูกน้อยเมื่อถึงเวลาต้องกลับไปทำงาน
ข้อมูลอ้างอิงจาก pharmacy.mahidol.ac.th/pobpad.com
Power Pumping เทคนิคกระตุ้นน้ำนม..ปั๊มแล้วพักน้ำนมเพิ่ม
วิธีที่ 1 ปั๊มสองข้าง วันละรอบ สูตร 20:10:10:10:10
- เตรียมเครื่องปั๊มนม 2 เครื่อง โดยทำการปั๊มน้ำนมสองข้างพร้อมกัน
- รอบในการปั๊มใช้สูตร ปั๊ม 2 ข้างปั๊มนาน 20 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที รวมเป็นเวลา 60 นาทีต่อการทำ pp 1 รอบ เพียงวันละรอบ
- จำเป็นต้องปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า ป้องกันการเกิดท่อน้ำนมอุดตัน อาจใช้มือบีบให้เต้าเกลี้ยง และยังเป็นการช่วยให้สร้างน้ำนมใหม่ได้อย่างเต็มที่ในครั้งต่อไป
- ทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน ประมาณ 3-7 วัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าน้ำนมมาเพิ่มขึ้น
วิธีที่ 2 ปั๊มสูตร 10:10:10 x 2 รอบ
- เตรียมเครื่องปั๊มน้ำนม 2 เครื่อง โดยทำการปั๊มทั้งสองข้างพร้อมกัน
- ปั๊มน้ำนมเป็นรอบ โดยปั๊มรอบหนึ่งแล้วพัก หรือเริ่มปั๊มอีกรอบตามเวลาที่สะดวก
- รอบในการปั๊มใช้สูตร ปั๊ม 2 ข้างโดยปั๊ม 10 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที รวมเป็นเวลา 30 นาทีต่อการทำ pp 1 รอบ
- ทำแบบนี้ 2 รอบต่อวัน ทำต่อเนื่องทุกวัน
วิธีที่ 3 ปั๊มพร้อมนำลูกเข้าเต้า
สำหรับวิธีนี้เหมาะกับบ้านไหนที่มีเครื่องปั๊มนมเพียงเครื่องเดียว หรือคุณแม่ที่มีเวลาอยู่กับลูก สามารถนำลูกเข้าเต้าได้ ก็สามารถใช้วิธีปั๊มข้างหนึ่ง ขณะที่ให้ลูกดูดนมอีกหนึ่งข้าง ปั๊มนานเท่าเวลาที่ลูกดูดจนอิ่มเกลี้ยงเต้า ทำต่อเนื่องทุกวัน หากคุณแม่ที่กลัวลูกดูดนมข้างเดียวไม่อิ่ม หรือน้ำนมน้อย ก็สามารถให้ลูกดูดนมข้างแรกก่อน เมื่อสลับไปอีกข้างจึงค่อยนำเครื่องปั๊มนมมาปั๊มข้างที่ลูกดูดไปแล้วก็ได้เช่นกัน
วิธีที่ 4 เครื่องปั๊ม+ ขวดสูญญากาศ
เป็นวิธีสำหรับคุณแม่ที่มีเครื่องปั๊มเพียงเครื่องเดียว และไม่ได้อยู่กับลูก ไม่สามารถนำลูกเข้าเต้าได้ตลอด ก็ยังสามารถเพิ่มน้ำนมด้วยวิธี ppนี้ได้เช่นกัน โดยการปั๊มข้างขวา 10 นาทีส่วนข้างซ้ายเอาขวดสูญญากาศมาแปะเอาไว้ ต่อมาย้ายมาปั๊มข้างซ้ายนาน 10 นาทีย้ายขวดสูญญากาศมาแปะไว้ที่ด้านขวา ต่อมาย้ายกลับมาปั๊มที่ข้างขวา รวมทั้งสิ้นหกรอบ รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง
วิธีที่ 5 ปั๊มน้ำนมปกติ แต่เพิ่มความถี่
- ถ้าเลือกปั๊มนมทุก 1 ชั่วโมง ให้ปั๊มนาน 10 นาที
- ถ้าเลือกปั๊มนมทุก 2 ชั่วโมง ให้ปั๊มนาน 15 นาที
ปั๊มน้ำนม แบบ power pumping เพิ่มน้ำนมได้จริงหรือ?
กับระยะเวลาในการปั๊มน้ำนม 1 ชั่วโมงต่อรอบ ถือว่าต้องใช้เวลาพอสมควร ทำให้คุณแม่อยากรู้ว่าวิธีนี้จะเพิ่มน้ำนมได้จริงไหม? ก่อนอื่นเรามาดูปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการเพิ่มน้ำนม ดังนี้
- เด็กอายุเกิน 5 เดือน ปริมาณน้ำนมแม่มักจะอยู่ตัว อาจส่งผลให้การเพิ่มน้ำนมไม่ชัดเจนเท่ากรณีที่ลูกอายุน้อยกว่านี้ แต่มิได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเพิ่มน้ำนมแม่ด้วยวิธีนี้เลย เพียงแต่โอกาสในการสำเร็จจะน้อยลงเท่านั้น
- พยายามทำให้น้ำนมออกมาได้เกลี้ยงเต้า หลังการปั๊มนมทุกครั้งควรใช้มือบีบไล่น้ำนมออกให้เกลี้ยงเต้า ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ดีกว่า
- หลักการสำคัญของการกระตุ้นเพิ่มน้ำนมวิธีนี้อยู่ที่การทำอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดควรมีเวลาทำติดต่อกัน 3 วัน ส่วนมากจะเห็นผลในการทำติดต่อกัน 7 วันขึ้นไป
- หากคุณทำทุกวิธีการแล้วยังคงไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมจากเดิมได้ คุณแม่อาจอยู่ใน 5% ของผู้หญิงที่มีปริมาณต่อมน้ำนมน้อย แต่การกระตุ้นน้ำนมด้วยวิธี pp ก็สามารถช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเต็มขีดความสามารถของร่างกายแล้ว คิดเสียว่าการที่ลูกได้รับนมแม่บ้าง แม้ต้องเสริมด้วยนมผง ก็ยังดีกว่าการที่ลูกไม่ได้รับนมแม่เลย
นอกจากปัจจัย และวิธีการที่ถูกต้องในการกระตุ้นเพิ่มน้ำนมแม่ด้วยวิธี power pumping ที่เราได้มอบให้คุณแม่ที่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ทางทีมแม่ ABK ขอเป็นกำลังใจแก่คุณแม่ทุกท่านที่อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกน้อย ให้สามารถทำได้ประสบความสำเร็จสมดั่งตั้งใจ และนอกจากกำลังใจที่มีให้แล้ว เรายังมีเคล็ดลับดี ๆ จากคุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด มากฝากกัน เพื่อให้การทำ power pumping เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ง่ายขึ้น
เคล็ดลับทำให้ pp เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ง่ายขึ้น
-
หากตารางการปั๊มนมเป็นการปั๊มแบบปกติ การล้างและนึ่งอุปกรณ์ทุกครั้งหลังใช้ เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าเป็นการทำ pp ซึ่งเป็นการปั๊มทุก 10 นาที อนุโลมให้ล้างและนึ่งเหมือนปกติ เวลาที่ไม่ได้ใช้ ให้เก็บในภาชนะสะอาดและเข้าตู้เย็นหรือกระเป๋าเก็บความเย็น และล้างมือทุกครั้งก่อนทำการปั๊มนมหรือให้นมลูก
-
ใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าแบบ 2 ข้าง ถึงแม้ว่าการมีแบบข้างเดียวก็ทำ pp ได้ แต่ผลลัพธ์ไม่ดีเท่า 2 ข้าง
-
ใช้เสื้อในแบบให้นมโดยไม่ต้องจับ จะทำงานอื่นไปด้วยได้
-
หลังทำ pp ควรบีบด้วยมือต่อให้เกลี้ยงเต้า
-
ก่อนปั๊มทุกครั้ง ควรทาลาโนลินบางๆเคลือบลานนมหัวนม เพื่อป้องกันไม่ให้บาดเจ็บจากการใช้งานหนัก
-
เวลาปั๊มอย่ามองปริมาณน้ำนมในขวด จะได้ไม่เครียด ความเครียดจะทำให้น้ำนมลด!!! ให้ดูซีรีย์หรืออ่านหนังสือที่ชอบ
-
การเลือกเวลาที่ทำ pp ให้เลือกเวลาที่ลูกหลับหรือมีคนอื่นอยู่คอยดูแลลูกแทน จะได้ไม่ถูกขัดจังหวะแผนการปั๊มตามเวลา
-
จำไว้ว่า pp คือการเลียนแบบพฤติกรรมทารกที่บางครั้งขอกินตลอดเวลา เช่น ช่วง growth spurt หรือช่วงป่วยแล้วทานอาหารอื่นไม่ได้เลย คุณแม่แต่ละท่านจะเลือกวิธีใดก็ได้ที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง หรือจะลองทำทุกๆวิธีแล้วเปรียบเทียบดูว่า วิธีไหนเหมาะกับตัวเอง
-
อย่าสูญเสียความหวัง บางคนน้ำนมเพิ่มขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน บางคนนานถึง 2 สัปดาห์ ขอให้ทำต่อเนื่อง ดื่มน้ำและทานอาหารให้ครบ
-
ชื่นชมตัวเองว่า คุณเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยมแล้ว คุณทำดีที่สุดแล้ว คุณรักลูกไม่น้อยกว่าคุณแม่ท่านอื่นที่มีน้ำนมให้ลูกกินมากมาย
ข้อมูลอ้างอิงจาก FB: สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ตารางความถี่ในการให้นมลูก คัมภีร์ป้อนนม เพื่อแม่มือใหม่โดยเฉพาะ!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่