ทั้งเจ็บทั้งแสบ อยากให้นมก็อยาก แต่ หัวนมแตก ทำอย่างไรกันดีละทีนี้? … ที่นี่มีคำตอบค่ะ
ปัญหาหัวนมแตก ถือเป็นปัญหาที่คุณแม่มือใหม่ทุกคนต้องเจอ คุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะรู้จักแต่ชื่อแต่เคยทราบกันมาก่อนไหมคะว่า อาการดังกล่าวนี้ เกิดจากอะไร? ซึ่งวันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ก็ได้รวบรวมเนื้อหาดี ๆ มีประโยชน์มาฝากคุณแม่ทุกท่านกันค่ะ … ของแบบนี้รู้ทัน แก้ไขไว มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วละค่ะ
หัวนมแตก เกิดจากอะไร?
หัวนมแตกเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุหากแก้ไขได้ก็จะช่วยให้อาการหมดไป แต่บางกรณีอาจต้องรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยสาเหตุที่มักพบ ได้แก่
- ท่าทางในการกินนมและการดูดนมที่ไม่ถูกต้อง คุณแม่มือใหม่บางรายที่ยังไม่ชำนาญในการให้นมลูกน้อยอาจจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม และทารกอาจดูดหัวนมแม่ผิดวิธี คือปากของทารกอยู่ตื้น ขอบปากไม่ถึงลานนม ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กดื่มนมได้ไม่เต็มที่ ยังส่งผลให้หัวนมแตกได้
- การติดเชื้อรา หากทารกมีเชื้อราในช่องปาก การให้นมบุตรอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่หัวนม และกลายเป็นปัญหาหัวนมแตกได้ สังเกตว่าติดเชื้อหรือไม่จากอาการต่าง ๆ เช่น มีอาการคัน หรือเจ็บบริเวณหัวนม หัวนมมีลักษณะแดงและเงาผิดปกติ นอกจากนี้ อาจมีอาการเจ็บจี๊ด ๆ ขณะให้นมบุตรร่วมด้วย
- การใส่อุปกรณ์ปั้มนม การใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อปั้มน้ำนม หากใส่ไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หัวนมได้ โดยสาเหตุเกิดจากการเร่งความเร็วในการปั้มนมมากเกินไป ใช้ความแรงมากเกินไป หรือใช้หัวปั้มที่มีขนาดเล็กเกินไปจนทำให้หัวนมแตก
- ภาวะผิวหนังอักเสบบริเวณหัวนม อาการอักเสบของผิวหนังบริเวณหัวนมอาจทำให้ผิวหนังตกสะเก็ด และเป็นผื่นแดง จนนำไปสู่อาการคันและเจ็บบริเวณหัวนม หากไม่ดูแลรักษาก็จะทำให้หัวนมแตกได้
- ภาวะลิ้นติดของทารก เป็นภาวะความผิดปกติภายในช่องปากของทารกที่การเคลื่อนไหวของลิ้นถูกจำกัดเนื่องจากเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างลิ้นและพื้นล่างของปากมีขนาดสั้น หรือเกิดขึ้นล้ำมาทางด้านหน้าของปากมากเกินไป ทำให้เมื่อเด็กดูดนมแม่ลิ้นของทารกจะไม่สามารถขยับให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมได้ และทำให้เกิดเป็นแผลแตกที่หัวนมในที่สุด