ข่าวดีสำหรับคุณแม่หัวนมสั้น หัวนมบอด ที่อยากให้ลูกได้ทานนมแม่ เรามีสูตรเด็ดเคล็ดลับจากประสบการณ์จริงของเหล่าคุณแม่ผู้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคของร่างกายมาฝากกัน
ท่าอุ้มให้นม!จากประสบการณ์จริง เพื่อแม่ หัวนมบอด -สั้น
ถ้าวันนั้นบีเชื่อพยาบาลที่บอกว่า “หัวนมสั้น เข้าเต้าไม่ได้หรอก” วันนี้อาจไม่มีเพจนมแม่เพราะตัวบีเอง ปั๊มไม่ออกเลยนะคะ ปั๊มจนเจ็บรอบหัวนมไปหมด ลูกก็งับไม่ค่อยติด เพราะท่าอุ้มไม่ถูก กดหัว และท้องอืดเงยต้าน
สิ่งที่ทำคือ บีบมือก่อนให้ลานนมนิ่มลง ปรับเปลี่ยนท่าอุ้ม ไม่กดหัวลูกพอบีเข้าเต้าได้ปุ๊บ น้ำนมก็เพิ่มขึ้นแบบไม่น่าเชื่อตอนนั้นยังงงๆ แต่ยอมรับว่าลูกคือผู้เรียกน้ำนม อย่างแท้จริงค่ะ
จะบอกว่า ท่าคีบบุหรี่ ประคองเต้าเป็นตัวซี เหล่านั้นไม่เวิร์คสำหรับบีเลย จึงปรับเปลี่ยนการเข้าเต้าพบวิธีนี้ในเว็บฝรั่งค่ะวิธีเข้าเต้าแบบนี้ เรียกว่า asymmatric latchลูกอมลึก แต่ไม่ต้องมิดลานนม ไม่เจ็บหัวนม นมนิ่มไว ได้น้ำนมมากค่ะ เพราะลิ้นลูกรีดน้ำนมที่ลานนม ไม่ได้หนีบบดหัวนมค่ะข้อมูลอ้างอิงจาก นมแม่แฮปปี้
กระทู้คำถาม : หัวนมสั้น ลูกไม่ยอมดูดเต้าเลยทำไงดีค่ะ
ตอนนี้คลอดลูกได้ 18 วันแล้วค่ะ มีปัญหาหัวนมสั้น พอจับลูกเข้าเต้าทีไรลูกก็ไม่ยอมดูดทุกทีเลยค่ะ ก็เลยใช้ที่ปั้มนมช่วยให้หัวนมใหญ่ขึ้น แต่ลูกก็ไม่ยอมดูดอีกเหมือนเดิมค่ะ ตอนนี้เลี้ยงลูกด้วยนมผสม และนมแม่บางครั้ง แล้วแต่จะปั้มได้น่ะค่ะ และตอนนี้ก็เริ่มจะปั้มไม่ค่อยออกแล้วด้วย มีวิธีแก้ปัญหาไหมค่ะ“ให้คลึงหัวนมค่ะ ใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งค่ะ คลึงๆบีบๆ แล้วก็ดึงๆ ยืดหัวนมค่ะ ช่วยได้ ดิฉันก็หัวนมสั้นลูกดูดไม่ได้ ก็ทำแบบนี้ทุกครั้งที่จะให้นมลูก ตอนนี้ลูกจะ 3 เดือนแล้วค่ะ ดูดนมได้เป็นปกติแล้วค่ะ ยังไงก็สู้ๆนะค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ”“เราก็สั้นค่ะ ตอนแรกสงสารน้องมากต้องดึงลงมายัดเจ้าปากเค้า ปากลูกก็เล็กต้องคอยดันและทุกวันเราต้อิงพยายามดึงหัวนมค่ะเจ็บมากแต่ต้องทน ตอนนี้น้องสี่เดือนนมแม่อย่างเดียวเจ็ดโลแล้ว”ข้อมูลอ้างอิงจาก Pantip.com
สำหรับคนเป็นแม่แล้ว ลูกคือสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นสิ่งใดที่ว่าดี แม้จะยากลำบากแค่ไหน แม่ก็ต้องพยายามหามาให้แก่ลูกน้อยจนได้ การเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ใช้สนับสนุนกับคำพูดข้างต้นได้เป็นอย่างดี เมื่อทั่วโลกต่างก็ยอมรับกันแล้วว่าการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่เป็น แหล่งอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเขา นอกจากจะมีสารอาหารครบถ้วนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตแล้ว ยังมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติให้แก่ลูกน้อยอีกด้วย ดังนั้นจะมีหรือที่คุณแม่ทุกท่านจะพลาดสิ่งดี ๆ เหล่านี้ให้แก่ลูก แต่ด้วยธรรมชาติของร่างกายแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน คุณแม่บางคนก็พบอุปสรรคตั้งแต่แรกเริ่มของการตั้งใจให้นมแม่กันเลยทีเดียว นั่นคือ ปัญหาทางสรีระ การที่มี หัวนมบอด หัวนมสั้น ทำให้การให้นมลูกเป็นเรื่องที่ต้องฝ่าฟันมากกว่าปกติเสียหน่อย บางคนกังวลใจที่น้ำนมยังไม่ไหล ไม่สามารถนำลูกเข้าเต้าได้ ลูกไม่สามารถดูดไม่อย่างเต็มที่ทำให้น้ำนมน้อย เป็นต้น
แต่จากประสบการณ์ของหลาย ๆ คุณแม่ข้างต้นที่เรานำมาเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่คุณแม่ทุกท่านที่กำลังพยายามทำตามความตั้งใจในการให้นมแม่แก่ลูกน้อยนั้น จะพบว่าหากใช้ความพยายามสักนิด ประกอบกับเทคนิคดี ๆ อีกสักหน่อย ความตั้งใจนั้นแม้มีอุปสรรคแต่คุณแม่ก็จะสามารถพบกับความสำเร็จอย่างที่ใจหวังได้เหมือนกับคุณแม่หลาย ๆ ท่านที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์เช่นกัน
เทคนิคดี ๆ ในการอุ้มลูกเข้าเต้า ฉบับประสบการณ์จริง (ASYMMETRICAL LATCH)
อ้าปากกว้างก่อนนะลูกจ๋า!!
ก่อนอื่นเริ่มต้นคุณแม่ต้องสอนทารกให้อ้าปากกว้าง หรืออ้าปากค้างก่อน ทารกจำเป็นต้องอ้าปากกว้างก่อนที่จะนำลูกเข้าเต้า โดยใช้เทคนิค ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการอุ้มลูกนอนลงในท่าให้นมจนกว่าคุณแม่จะพร้อม เช่น จัดเสื้อชั้นใน วางอุปกรณ์ต่าง ๆ หมอนช่วยอุ้มให้นม ท่านั่ง เป็นต้น ให้พร้อมเรียบร้อยก่อนอุ้มลูกมานอนบนตัก ยิ่งลูกรอนานเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งหงุดหงิดมากขึ้น และลูกก็จะอ้าปากได้น้อยลง
- อุ้มลูกเข้าหาเต้านม แตะริมฝีปากด้านบนของเขา กับหัวนมคุณแม่เบา ๆ
- ขยับปากออกไปอย่างช้า ๆ
- แตะริมฝีปากบนกับหัวนมอีกครั้ง และเลื่อนออกไปอีกครั้ง
- ทำซ้ำจนกว่าทารกจะอ้าปากกว้าง และลิ้นไปข้างหน้า
- หรืออีกวิธี ให้ใช้หัวนมแตะไปตามริมฝีปากบนของทารกจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่งเบา ๆ จนกระทั่งทารกเปิดกว้าง
ลูกอ้าปากพร้อม ลุยขั้นตอนต่อไป
- อุ้มลูกโดยใช้มืออีกข้างประคองที่ต้นคอและท้ายทอย (ไม่กดที่ใบหู) ลูกเงยหน้าเล็กน้อย ใช้วิธีอุ้มลูกเข้าหาเต้า จะไม่ใช้วิธีโน้มตัวแม่เพื่อนำเต้านมเข้าหาลูก โดยร่างกายของลูกควรชิดกับแม่ (สะโพก และไหล่หันเข้าหาตัวแม่)
- เคลื่อนลูกเข้ามาอย่างรวดเร็วหลังจากที่เขาอ้าปากกว้าง (อ้าปากค้างจากขั้นตอนแรก) โดยให้คางของลูกเข้ามาชิดกับเต้านมส่วนล่าง (สังเกตว่าจังหวะนี้จมูกของลูกจะอยู่ตรงกับหัวนมแม่ หัวนมไม่ได้อยู่ตำแหน่งกลางปากลูกแบบท่าเดิม)
- ใช้มือประคองเต้านม โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน เหนือขอบนอกของลานหัวนม ส่วนนิ้วที่เหลือประคองเต้านมด้านล่าง (ไม่ควรใช้ท่าแบบนิ้วคีบบุหรี่ เพราะช่องว่างระหว่างนิ้วจะแคบ ทำให้ลูกอมได้ไม่ลึกพอ และนิ้วอาจจะกดบริเวณท่อน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลไม่ดี)
- ใช้ฐานมือของแม่วางบนไหล่ของลูก เพื่อค่อย ๆ ดันลูกเข้าสู่เต้านม ลักษณะของลูกไม่ได้อยู่ในท่านอนหงาย แต่เอียงตัวตะแครงมาแนบชิดกับแม่
- ให้ลูกอมงับถึงลานนม โดยให้อมลานนมส่วนล่างมากกว่าลานนมส่วนบน ให้คางลูกแนบชิดกับเต้านมส่วนล่าง วิธีนี้จะช่วยให้ลิ้นของลูกยื่นออกมารีดน้ำนมจากเต้าแม่ได้ดีขึ้น และจมูกของลูกจะอยู่ห่างออกจากเต้าแม่เล็กน้อย คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะหายใจไม่สะดวก
การอุ้มลูกเข้าเต้าอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้แม่ไม่เจ็บหัวนมแล้ว ยังทำให้ลูกดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
วิธีสังเกต…ลูกอมงับลานนมได้ดีแล้วหรือยัง
หากคุณแม่ไม่มั่นใจว่าจัดท่าให้นมลูกได้ถูกต้องหรือไม่ ให้สังเกตง่าย ๆ ในขณะที่ลูกเข้าเต้าได้แล้ว (เมื่อมองจากด้านบนลงไป) ดังนี้
- ลูกอมลานนมด้านล่างได้มากกว่าด้านบน ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ายังมองเห็นลานนมด้านบน ในขณะที่ลานนมด้านล่างถูกปากลูกอมจนมิดหรือเกือบมิด
- ปากลูกอ้ากว้างแนบสนิทกับเต้านมแม่
- ริมฝีปากล่างบานออกเหมือนปากปลา
- คางลูกต้องแนบชิดเต้านมแม่
จัดท่าให้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ท่าอุ้มที่เหมาะสมจะช่วยให้ลูกเข้าเต้า ดูดและกลืนน้ำนมได้ดี คุณแม่จึงควรเลือกท่าที่ถนัด ผ่อนคลายและเหมาะสมกับสภาวะของคุณแม่มากที่สุด อาจจะอุ้มในท่านั่ง ท่านอน หรือท่านั่งกึ่งนอนก็ได้ ถ้าเป็นท่านั่ง ควรนั่งหลังตรงตามสบาย ไม่เกร็ง ไม่ควรโน้มตัวไปข้างหน้าหรือเอนไปข้างหลังมากเกินไป เพราะจะทำให้เมื่อยหลัง ไม่ว่าคุณแม่จะอุ้มลูกในท่าไหน จะต้องมีองค์ประกอบต่อไปนี้
- ให้ตะแคงลำตัวและศีรษะของลูกให้หันเข้าหาแม่
- ลำตัวของลูกแนบชิดกับตัวแม่
- ศีรษะ ไหล่และสะโพกของลูกควรอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน
- ตัวของลูกได้รับการรองรับให้รู้สึกมั่นคง โดยใช้มือแม่หรือหมอนรองช้อนไว้
ขณะอุ้มลูก ควรมีหมอนหลาย ๆ ใบไว้รองหลัง รองแขนหรือวางบนตักรองรับตัวลูก เพื่อช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายขึ้น ช่วยหนุนลูกให้สูงขึ้นมาถึงบริเวณเต้านม และให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมแม่พอดี ท่าที่ใช้ในการให้นมลูกมีหลายท่า แต่ที่นิยมมีดังนี้
1. ท่าลูกนอนขวางบนตัก (Cradle hold)
เป็นท่าที่อุ้มลูกวางไว้บนตัก มือและแขนประคองตัวลูกไว้ ให้ลูกนอนตะแคงเข้าหาตัวแม่ ศีรษะลูกอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ท้ายทอยลูกวางอยู่บริเวณแขนของแม่ มืออีกข้างประคองเต้านมไว้
2. ท่าลูกนอนขวางบนตักแบบประยุกต์ (Modified / cross cradle hold)
คล้ายท่าแรก เพียงแต่เปลี่ยนมือ โดยใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูดประคองเต้านม มืออีกข้างรองรับต้นคอและท้ายทอยของลูกแทน ท่านี้เหมาะสำหรับนำลูกเข้าอมหัวนม จะช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกได้ดี (เมื่อลูกโตขึ้น เริ่มสนใจสิ่งแวดล้อม เวลามีอะไรมาดึงความสนใจแล้วชอบหันไปดู ก็จะดึงหัวนมแม่ไปด้วย ทำให้แม่เจ็บ ท่านี้จะช่วยคุณแม่ได้มาก)
3. ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Clutch hold หรือ Football hold)
ลูกอยู่ในท่ากึ่งตะแคงกึ่งนอนหงาย ขาชี้ไปทางด้านหลังของแม่ มือแม่จับที่ต้นคอและท้ายทอยของลูก กอดลูกให้กระชับกับสีข้างแม่ ลูกดูดนมจากเต้านมข้างเดียวกับมือที่จับลูก มืออีกข้างประคองเต้านมไว้
ท่านี้ใช้ได้ดีสำหรับ
- แม่ที่ผ่าท้องคลอด เพราะตัวของลูกจะไม่ไปสัมผัสกับท้องของแม่ที่มีรอยผ่าตัดอยู่
- แม่ที่มีเต้านมใหญ่ หรือลูกตัวเล็ก เพราะลูกจะเข้าอมงับเต้านมได้ดีกว่า
- แม่ที่คลอดลูกแฝด ซึ่งจะสามารถให้ลูกดูดนมจากทั้งสองเต้าพร้อมๆ กันได้
4. ท่านอน (Side lying position)
แม่ลูกนอนตะแคงเข้าหากัน แม่นอนศีรษะสูงเล็กน้อย หลังและสะโพกตรง ให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ มือที่อยู่ด้านล่างประคองตัวลูกให้ชิดลำตัวแม่ อาจใช้ผ้าขนหนูที่ม้วนไว้หรือหมอนหนุนหลังลูกแทนแขนแม่ก็ได้ มือที่อยู่ด้านบนประคองเต้านมในช่วงแรกที่เริ่มเอาหัวนมเข้าปากลูก เมื่อลูกดูดได้ดี ก็ขยับออกได้ ท่านี้เหมาะสำหรับแม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ต้องการพักผ่อน หรือให้นมลูกเวลากลางคืน
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปกว่าความพยายามของบรรดาคุณแม่ทั้งหลายที่ตั้งใจแน่วแน่ให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุด การศึกษาหาข้อมูล การเตรียมตัวให้พร้อมเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้คุณแม่สามารถทำตามที่ตั้งใจได้อย่างมีแนวทาง และที่สำคัญการได้พูดคุย รับฟังข้อมูลจากประสบการณ์ของคุณแม่ท่านอื่น ๆ ที่ได้ผ่านปัญหาต่าง ๆ มาแล้วนั้น ก็จะยิ่งช่วยให้คุณแม่หาแนวทางการเลี้ยงลูกให้เข้ากันกับแบบฉบับของตนเองได้ดียิ่งขึ้น โปรดเชื่อพวกเรา ทีมแม่ ABK เถอะนะว่า แม้คุณแม่จะประสบปัญหา หัวนมบอด หัวนมสั้น ไม่มีเวลา หรือปัญหาอื่นใด ๆ แต่หากตั้งใจจริงแล้วละก็ คุณก็สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างแน่นอน เพราะนมแม่เป็นแหล่งอาหารชั้นดีช่วยเสริมสร้าง IQ ทำให้ลูกน้อยเติบโตได้อย่างฉลาดสมองดี ทักษะความฉลาดที่เด็กยุคใหม่ควรมี (Power BQ)
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.lactation-911.com /มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
5 เคล็ดลับเด็ดสู่การ “ปั๊มนมเกลี้ยงเต้า” มีน้ำนมแม่ให้ลูกกินได้นาน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่