ตัวช่วยสำคัญ คือ ผู้ให้คำแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ หรือ คุณแม่ที่เคยมีประสบการณ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อน การให้ลูกเริ่มดูดนมเร็วที่สุดภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด การให้ลูกอยู่ร่วมห้องเดียวกันกับแม่ การให้ลูกได้ดูดนมบ่อยๆเท่าที่ลูกต้องการ ยิ่งลูกได้ดูดบ่อยก็จะยิ่งชำนาญในการดูดมากขึ้น และแม่จะผลิตปริมาณน้ำนมได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
แค่ไหนถึงเรียกว่ามี น้ำนมเพียงพอ
แม่บางคนเลือกวิธีปั๊มนมใส่ขวด เพื่อที่จะได้รู้ปริมาณน้ำนมที่ลูกกิน การทำเช่นนี้นอกจากทำให้เด็กไม่มีโอกาสดูดกระตุ้นที่เต้านมแล้ว การสร้างน้ำนมของแม่ยิ่งลดลงเรื่อยๆ เพราะเครื่องปั๊มกระตุ้นได้ไม่ดีเท่ากับการดูดของทารก การประเมินว่า เด็กได้นมเพียงพอหรือไม่ สามารถเช็คได้ดังนี้คือ
- สังเกตว่าขณะดูดได้ยินเสียงกลืนน้ำนมลงคอ มีอาการเรอ สะอึกหลังกินนมเสร็จ มีอาการพุงกางออกหลังกินนม
- อุจจาระมากกว่าสองครั้ง ปัสสาวะมากกว่า 6 ครั้งต่อวัน
- การตื่นบ่อย หรือ ร้องไห้มาก แม้กระทั่งทำปากอยากดูดตลอดเวลา ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้ว่า ทารกยังหิวอยู่ เพราะทารกบางคนที่กินนมมากจนมีอาการปวดแน่นท้อง อึดอัดมาก ก็มี ควรใช้วิธีสังเกตจากปริมาณอุจจาระ และปัสสาวะดีกว่า
บทความแนะนำ Overfeeding ลูกกินนมมากเกินไป อันตรายหรือไม่?
อย่าให้นมผงร่วมด้วย
แม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ ควรหลีกเลี่ยงการใช้นมผงควบคู่กันตั้งแต่ต้น แม้ว่าจะในระยะ 3-4 วันหลังคลอดแม่จะมีน้ำนมไม่พอ เวลาเด็กดูดอาจหงุดหงิด อย่าเพิ่งท้อ และเปลี่ยนไปให้นมผง เพราะเด็กที่เคยดูดนมขวดอาจเกิดความสับสนในวิธีการดูด เนื่องจากการดูดนมจากขวด ง่าย รวดเร็ว และใช้แรงดูดเบากว่าการดูดจากเต้า ทำให้เด็กดูดนมแม่เบากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้นมแม่ไม่ได้รับการกระตุ้นในการสร้างน้ำนมดีพอ หรืออาจทำให้ผลิตน้อยลงจนหายไปในที่สุด ข้อเสียอีกอย่างหนึ่ง ของการใช้นมผง เด็กจะหลับนานกว่าที่ควรเป็น
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่