7.เข้าเต้า VS ปั๊มเก็บ แบบไหนดีกว่ากัน?
*พญ. ปวินทรา ช่วง 3 เดือนแรกที่ลาคลอดแนะนำให้ลูกดูดจากเต้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อกลับไปทำงานจึงให้ใช้การปั๊มนมระหว่างวันเมื่อปั๊มนมเสร็จให้เก็บใส่ตู้เย็น ตอนนำกลับบ้านก็แช่ใส่กระติกน้ำแข็งไว้ วิธีนี้ใช้เก็บน้ำนมได้ 24 ชั่วโมง เวลาอุ่นนมไม่ควรใช้ไมโครเวฟหรือนำนมตั้งไฟ ให้แกว่งในน้ำอุ่นธรรมดา ห้ามใช้น้ำเดือดจัด
การเข้าเต้าเป็นวิธีธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นให้มีน้ำนมได้ดีและมากกว่าการปั๊ม เพราะการให้ลูกดูดน้ำนมจะไหลออกมาจนเกลี้ยงเต้า ช่วยไม่ให้ท่อน้ำนมอุดตันและทำให้ประสาทสัมผัสของลูกพัฒนาได้ดี กระตุ้นให้เส้นใยประสาทเจริญเติบโตได้ดี และกระตุ้นสายสัมพันธ์แม่ลูกได้ดีด้วย มีรายงานชัดเจนว่าการให้นมแม่โดยการดูดจากเต้าสามารถกระตุ้นเส้นใยประสาทในสมอง และกระตุ้นให้ไอคิวตามพันธุกรรมของแต่ละครอบครัวเพิ่มขึ้น 5-7 จุดนมแม่จากเต้ายังมีคุณค่าทางอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant)มากกว่านมแม่ที่ปั๊มเก็บไว้ด้วยแต่อย่างไรก็ตาม นมแม่ที่ปั๊มเก็บไว้ก็ยังมีสารอาหารต่างๆ ที่มีประโยชน์มากกว่านมผสม
ถ้าคุณแม่มีปัญหาโรคประจำตัว หรือหัวนมมีปัญหา การปั๊มนมให้ลูกกินก็ยังดีกว่านมผสม แต่แม้ลูกดูดจากเต้าอยู่แล้ว หมอก็ยังอยากให้ปั๊มนมด้วยถ้ามีน้ำนมเยอะมากและยังไหลอยู่หลังจากลูกอิ่มแล้ว เพราะจะช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้นและลดปัญหาท่อน้ำนมอุดตันสำหรับนมแม่ในสต็อก ถ้าอุ่นแล้วมีกลิ่นให้ลองชิม ถ้ารสชาติปกติให้ลูกกินได้ แต่ถ้าเปรี้ยวแนะนำให้ทิ้งไป
8.นมแม่ที่ปั๊มออกมาจะเก็บได้นานขนาดไหน? หากไม่ได้แช่ช่องฟรีซ
*พญ. ปวินทรา 3-4 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้องค่ะ (หากแช่อยู่ในตู้เย็นช่องธรรมดา (ไม่ฟรีซ) จะอยู่ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง)
9.เลือกเครื่องปั๊มนมอย่างไรดี?
*พญ. ปวินทรา แนะนำให้เลือกแบบไฟฟ้า ซึ่งจะปั๊มได้ดีกว่าแบบมือและใช้ง่าย แบบมือไว้สำหรับพกพา แบบไฟฟ้าให้เลือกแบบปั๊มคู่ ความแรง 200 มม.ปรอท อัตราปั๊ม 40-60 ครั้งต่อนาทีซึ่งเท่าๆ กับการให้ลูกดูด เลือกราคากลางๆ ที่เราซื้อไหว เครื่องปั๊มที่ถือว่าดี 15-20 นาที ก็ปั๊มน้ำนมได้ปริมาณเพียงพอแล้ว
10.หากหัวนมแตกหรือบอด จะแก้ไขอย่างไร?
*พญ. ปวินทรา หัวนมแตกเกิดจากการให้นมลูกในท่าที่ไม่ถูกต้อง ต้องปรับท่าให้นมและใช้ครีมทาหัวนมทั่วไป หรือวาสลีนและให้ลูกดูดนมโดยให้อ้าปากให้กว้างให้เลยบริเวณที่หัวนมแตก คุณแม่จะเจ็บช่วงแรกแล้วจึงดีขึ้น ส่วนหัวนมบอด ถ้าไม่ได้บุ๋มลงไปลึกมาก พยาบาลคลินิกนมแม่จะช่วยแนะนำการใช้ตัวครอบดึงหัวนมออกมาได้
11.แม่ให้นม ต้องกินอาหารอย่างไร?
*พญ. ปวินทรา ต้องกินอาหารให้เพียงพอและครบ 5 หมู่ ตอนตั้งครรภ์กินอย่างไรตอนให้นมก็เหมือนกัน คุณแม่ให้นมต้องการอาหารเพิ่มอีกวันละ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เพราะการให้นมลูกใช้พลังงานมาก เหนื่อยเพราะต้องตื่นบ่อย อีกทั้งการผลิตน้ำนมก็ใช้พลังงานค่อนข้างมาก ส่วนสิ่งที่ควรเลี่ยงคือ อาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด แอลกอฮอล์ ของหมักดอง ชา กาแฟ ให้เลี่ยงให้มากที่สุด (ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนได้วันละ1 แก้ว)
12.อาหารหรือสมุนไพรกระตุ้นนมแม่ ดีหรือเปล่า?
*พญ. ปวินทรา สามารถกินได้ ของไทยจะมีประสะน้ำนม หัวปลี น้ำขิง ขิง ใบกะเพรา ใบกุยช่าย ผักชีลาว มะละกอ
13.ถ้าลูกชอบกัดหัวนมแม่ ควรทำอย่างไร?
*พญ. ปวินทรา ให้เอานิ้วก้อยใส่ปากลูก คุยกับเขา บอกว่าแม่เจ็บนะ คราวหลังไม่ทำแบบนี้นะ แล้วก็หยุดให้นม เหมือนเป็นการทำโทษระดับหนึ่ง อาจต้องพูดหลายครั้งจนกว่าเขาจะเลิกทำ
คุณเปิ้ลน้องกาย่ากัดตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้น เขากัดแล้วหัวเราะด้วย ต้องบอกว่าไม่เอา ไม่ให้ทำนะคะ อย่างที่คุณหมอบอกว่าเราพูดแล้วเขารู้เรื่อง เราก็พูดกับเขาตลอดค่ะ
สุดท้ายนี้ คุณหมอปวินทราฝากบอกว่า ขอให้คุณแม่ทุกๆ คนให้นมลูกด้วยตนเองนะคะ เพราะนมแม่นั้นคือทุนสมองให้กับลูกน้อย และยังเป็นวิธีสร้างสายใยรักที่อบอุ่นระหว่างคุณแม่และลูกน้อยอีกด้วย
ส่วนใครอยากเพิ่มเติมน้ำนมแม่ อ่านต่อได้ที่
รวมสุดยอดสมุนไพรจีน-ไทย-ยุโรปเพิ่มน้ำนมลูกน้อย
เรื่องโดย : พญ. ปวินทรา หะริณสุต สมนึก กุมารแพทย์ประจำคลินิกนมแม่ และผู้เชี่ยวชาญโรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ภาพ : Shutterstock