ดังนั้น การที่แม่ได้ให้นมลูกนานเกิน 6 เดือนนั้น ทุกฝ่ายล้วนแต่ได้ประโยชน์ แต่เราจะทําได้อย่างไรในเมื่อมีข้อจํากัดมากมายอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทางออกง่ายๆ คือการมี มุมนมแม่ ในที่ทํางาน นั่นเอง
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย พูดถึงความยากลำบากของคุณแม่ที่ไม่มีมุมนมแม่ในที่ทำงานว่า
“การเข้าไปปั๊มนมในห้องน้ำ คือความยากลำบาก ทั้งกลิ่นเหม็น ไม่สะอาด ไม่เป็นส่วนตัว ไม่มีที่ให้วางอุปกรณ์สําหรับบีบ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับแม่ ซึ่งมีหลายแห่งที่ผู้บริหารเองก็ไม่เคยรู้เลยว่าพนักงานไปปั๊มนมในห้องน้ำ เพราะไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องนี้ เราจึงได้จัดทำโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานและครอบครัวขึ้นมา เพื่อให้องค์กรเห็นความสำคัญของการมีมุมนมแม่ในที่ทำงาน” โครงการนี้ดำเนินการมากว่า 7 ปีแล้ว มีสถานประกอบการเข้าร่วมกว่า 1,018 แห่ง แต่มี 30 แห่งที่กำลังทำให้เป็นต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สถานประกอบการอื่นๆ ต่อไป
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ตัวอย่าง มุมนมแม่ ในที่ทำงาน
คุณภัสธารีย์ จิตรธนสิทธิ์ ประธานแกนนำแม่อาสา จากบจก.สยามเด็นโซ่แมนูแฟคเจอริ่ง หนึ่งในบริษัทต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จในการทำ มุมนมแม่ ในที่ทำงาน เล่าให้ฟังว่า
“บริษัทมีพื้นที่ที่สามารถให้ปั๊มนมได้ ถึงแม้ระบบการทำงานของเราต้องเดินเครื่องตลอดเวลา ทุกคนจึงไม่สามารถลุกไปไหนได้นานๆ ดังนั้นพนักงานที่นี่จะมาปั๊มนมในตอนเช้า เที่ยงเวลาพักเบรก และตอนเย็น แต่สำคัญกว่านั้น คือ เรื่องของสังคม เวลาที่แม่ๆ มาปั๊มนม เขาก็จะมาคุยกัน ให้กำลังใจกัน เพิ่มความเชื่อมั่นและคลายความเครียดได้ดี นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมพนักงานตั้งแต่ตั้งครรภ์มีพยาบาลช่วยกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการให้นมแม่ด้วย”
ส่วนของคุณนันท์นภัส เสรีฐิติวรโชติ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลจาก บมจ.เดลต้าอีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)อีกหนึ่งบริษัทต้นแบบที่ทํามุมนมแม่มาอย่างยาวนานเสริมว่า
“การมีมุมนมแม่นี้สามารถช่วยลดการลางานของพนักงานได้มากจากที่ต้องหยุด 3 เดือนก็อาจหยุดน้อยลง เพราะบริษัทมีสถานที่รองรับเรื่องการให้นมลูก อีกทั้งยังช่วยลดการลาออกซึ่งทำให้ไม่ต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถมีทักษะ การหาคนใหม่มาแทนกว่าจะฝึกทักษะให้ได้เท่าคนเก่าบริษัทอาจต้องสูญเสียรายได้มากกว่า”