สำหรับคุณแม่มือใหม่แล้วปัญหา น้ำนมน้อย นมแม่ไม่พอ เป็นอีกหนึ่งปัญหาระดับอกที่ทำให้แม่กลุ้มใจ กังวลว่าลูกน้อยจะไม่มีนมแม่กินและได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจัย “น้ำนมน้อย” ที่พบบ่อยเกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง มีวิธีไหนที่จะช่วยคุณแม่รับมือปัญหานี้และแก้ไขได้ มาดูกันดีกว่าค่ะ
นี่ไง! 10 สาเหตุที่แม่ น้ำนมน้อย
1.ความเครียดหลังคลอด
ภาวะความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้กับแม่มือใหม่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น วิธีการเลี้ยงลูก กลัวน้ำนมมาน้อยไม่เพียงพอต่อลูก ฯลฯ ซึ่งความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้น้ำนมหด แห้ง หายได้ โดยเฉพาะการให้นมในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดที่คุณแม่มือใหม่อาจจะประสบปัญหาน้ำนมมาน้อย หรือบางคนแทบจะไม่มีเลย เพราะกลไกการผลิตน้ำนมในเต้านมของแม่และกระเพาะลูกน้อยเพิ่งเริ่มทำงานกันทั้งคู่ ในระยะแรกหลังคลอดจึงเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องมีการปรับตัวมากพอสมควร การกระตุ้นให้ทารกได้ดูดนมจากเต้าบ่อย ๆ และให้ลูกน้อยดูดนมอย่างน้อยข้างละประมาณ 10-15 นาที ยิ่งทารกดูดบ่อยก็จะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมผลิตเพิ่มขึ้นมาได้ ดังนั้นปริมาณน้ำนมที่ผลิตจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความถี่ในการกระตุ้นเป็นสำคัญนี่เอง ซึ่งโดยมากน้ำนมแม่จะเริ่มมาใน 3-4 วันหลังคลอด หากพบว่าในช่วงแรก ๆ แม่มีน้ำนมน้อยอย่าเพิ่งเครียด วิตกกังวลไป เพราะถ้ายิ่งเครียด ก็จะส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินที่กระตุ้นให้เซลล์ผลิตน้ำนมออกมาลดลง ทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อยเกินไปได้
2.เคยผ่าตัดเต้านมมาก่อน
คุณแม่ที่เคยผ่าตัดลดขนาดของเต้านมมาก่อน อาจมีผลลดปริมาณน้ำนมได้ แต่ในกรณีที่เคยผ่าตัดเสริมอก หากเป็นการผ่าตัดที่ไม่ตัดท่อน้ำนมหรือกระเปาะน้ำนม เป็นการลงมีดตามแนวรัศมีวงกลม ก็จะไม่มีปัญหากับปริมาณการผลิตน้ำนม สามารถกระตุ้นให้ลูกดูดนมแม่เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ปกติ
3.ใช้ยาคุมกำเนิดในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
สำหรับคุณแม่ที่ใช้ยาคุมกำเนิดในระหว่างให้นมลูกหลังคลอดอาจส่งผลให้น้ำนมและคุณภาพของน้ำนมคุณแม่ลดน้อยลงได้ เนื่องจากยาคุมกำเนิดโดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบของฮอร์โมน 2 ชนิดรวมกัน คือเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนจะกระตุ้นให้มีการเติบโตของท่อ และระบบการหลั่งเก็บนม หากรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนตัวนี้มากก็จะไปออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมลดน้อยลงได้ ดังนั้นหากคุณแม่ต้องการคุมกำเนิดในช่วงที่กำลังให้นมลูกอยู่ ใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย หรือเลือกทานยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว
4.ยาบางชนิด
ยาแก้แพ้จำพวก CPM (คลอเฟนิรามีน) หรือ Pseudoephedrine ที่ใช้ลดน้ำมูก แก้คัดจมูก ถึงแม้จะสามารถใช้ได้ในขณะให้นมลูก แต่หากใช้ต่อเนื่องหลาย ๆ วันก็มีผลทำให้น้ำนมลดได้ แต่หลังจากงดใช้ยาก็จะสามารถผลิตน้ำนมกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้นหากคุณแม่จำเป็นต้องใช้ก็ไม่ควรใช้อย่างพร่ำเพรื่อ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
5.ลูกไม่ดูดเต้า
ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ไม่ดูดนมแม่ อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น ลูกดูดเต้าไม่เป็น แม่เอาลูกเข้าเต้าผิดวิธี ทำให้ลูกอมงับไม่ลึกพอ อาการเจ็บป่วยทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัวจนไม่อยากที่จะขยับปากดูดนม ปัญหาลูกน้อยอาจจะเป็นพังผืดใต้ลิ้น ที่ส่งผลให้การดูดนมแม่เป็นไปได้ยาก หรือหัวนมแม่บอด ที่ทำให้ดูดนมจากเต้าแม่ลำบากออกแรงดูดน้ำนมแม่ก็ยังไม่ออกมา ดังนั้นคุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าลูกทำไมไม่ยอมเข้าเต้า หรือใช้เวลาในการดูดน้อยเกินไป อาจจะส่งผลให้น้ำนมไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเพียงพอและเหมาะสม ทำให้น้ำนมแม่มาน้อยลงได้
6.ใช้จุกนมหลอก
แม้ว่าจุกนมหลอกสำหรับทารกจะมีข้อดีที่ช่วยลดการเล่นน้ำลาย ดูดนิ้ว ช่วยทำให้เบบี๋อารมณ์ดี ลดอาการงอแง หรือช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อภาวะการตายเฉียบพลันในทารก (SIDS) ลงได้ แต่การใช้จุกนมหลอกนั้นเหมาะสำหรับทารกวัย 2 – 12 เดือน และไม่ควรใช้กับทารกแรกเกิด เพราะเป็นช่วงที่ทารกเริ่มรับประทานนมแม่ใหม่ ๆ หากให้ลูกดูดจุกนมหลอกควบคู่กันหรือปล่อยให้ลูกดูดบ่อย ๆ อาจทำให้ทารกเกิดความสับสนระหว่างหัวนมของคุณแม่กับจุกหลอกจนไม่ยอมกลับไปดูดนมแม่ตามที่ควรจะเป็น เมื่อลูกปฏิเสธเต้าแม่ ก็จะทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมลดลงได้
7.ลูกน้อยไม่ตื่นมาดูดนมตอนกลางคืน
เมื่อทารกหิวเมื่อไหร่ คุณแม่สามารถให้ลูกดูดนมได้บ่อยตามความต้องการของลูก ซึ่งโดยมากทารกจะดูดนมประมาณ 8-12 ครั้งต่อวัน ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ถ้าหากว่าลูกหลับนานกว่า 3 ชั่วโมงก็ควรปลุกลูกขึ้นมาดูดนมด้วย รวมถึงในช่วงเวลากลางคืนทารกอายุ 1 – 2 เดือนแรก ยังจำเป็นต้องให้ลูกได้ตื่นขึ้นมาเพื่อดูดนมแม่ในตอนกลางคืน เพราะในเวลากลางคืนเป็นช่วงที่ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดี การให้ทารกดูดนมมื้อดึกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรก จะช่วยให้ฮอร์โมนโปรแลกตินที่หลั่งออกมามากในเวลากลางคืนสูงขึ้น ซึ่งช่วยให้การสร้างน้ำนมเป็นไปด้วยดี ลูกน้อยจะได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอและยังช่วยป้องกันปัญหาเต้านมคัดและน้ำนมลดลงได้ เมื่อทารกอายุ 4 – 5 เดือน กระเพาะอาหารเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ดูดนมแม่ได้มากขึ้น และเว้นระยะห่างระหว่างมื้อนมได้นานขึ้น รวมทั้งนอนได้นานขึ้น (นอนประมาณ 4 – 5 ชั่วโมงโดยไม่ตื่นมากินนม) ช่วงวัยนี้จึงไม่จำเป็นต้องปลุกลูกมากินนมมื้อดึกได้ แต่สำหรับคุณแม่หลาย ๆ คนการให้นมในเวลากลางคืนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการมีน้ำนมน้อย หรือยังควรที่จะปั๊มนมออกมาเพื่อให้น้ำนมสร้างมาใหม่สำหรับวันพรุ่งนี้ การทำแบบนี้เพื่อทำให้ร่างกายคุณแม่รับรู้ว่าต้องสร้างน้ำนมอีก เป็นการกระตุ้นน้ำนมเพื่อไม่ให้น้ำนมแม่มาน้อยลงในวันถัดไป
8.ท่อน้ำนมอุดตัน
ท่อน้ำนมอุดตัน ทำให้น้ำนมน้อย ไหลได้ไม่ดี และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเต้านมอักเสบได้ เกิดจากการที่ไม่ได้ให้ลูกดูดนมแม่บ่อย หรือจำกัดเวลาในการดูดนมของลูก หรือลูกน้อยดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า ทำให้มีน้ำนมค้างอยู่ท่อ หรือปริมาณน้ำนมที่มากเกินไปและระบายออกได้ไม่สมดุลกับปริมาณน้ำนมที่ผลิต เมื่อขังไปนานๆ เข้าท่อน้ำนมก็เต็มแน่นจนมีอาการปวด บวม แดง ทำให้เนื้อเยื่อบวม อักเสบ และการผลิตน้ำนมหยุดชะงักได้ แนะนำคุณแม่ให้ทารกได้ดูดนมจากเต้าให้บ่อยขึ้น อย่างน้อย 8-12 ครั้ง/วัน และดูดนานอย่างน้อยข้างละ 15-20 นาที เพื่อล้างท่อน้ำนมให้มากที่สุด ให้ลูกดูดจากเต้าที่มีปัญหาก่อน เพราะขณะที่ลูกหิวจัดลูกจะดูดแรง ทำให้ระบายน้ำนมออกได้มาก และหลังจากที่ลูกดูดนมเสร็จให้บีบหรือปั๊มน้ำนมออกจะช่วยให้หายเร็วขึ้น จัดท่าให้ลูกดูดนมให้ถูกต้อง และนวดเต้านมเบาๆ ขณะลูกดูดนม โดยนวดเหนือบริเวณที่อุดตัน ไล่ลงไปถึงหัวนม เพื่อดันให้ก้อนที่อุดตันหลุดออก
9.การเสริมนมผง
การเสริมนมผสมจากขวดนมทำให้ลูกติดการดูดจุกนมมากกว่าดูดนมจากเต้า ทำให้ลูกได้ดูดนมแม่ไม่บ่อยพอ และเป็นผลทำให้ร่างกายคุณแม่ไม่ผลิตน้ำนมและน้ำนมลดน้อยลง นมแม่ไม่ไหลออกตามความต้องการของลูกน้อย ทำให้ลูกหงุดหงิด ร้องไห้เมื่อดูดนมแม่ แม่จึงจำเป็นต้องกลับมาให้นมผสมเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งสุดท้ายก็อาจจะต้องหยุดให้นมแม่ไปในที่สุดได้ ดังนั้นในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด คุณแม่ไม่ควรเสริมนมผงให้ทารก ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่เพียงอย่างเดียว
10.กินไม่ดี พาน้ำนมหด
นอกจากปริมาณน้ำนมแม่จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความถี่ในการดูดนมของลูกและเข้าเต้าได้ถูกวิธีแล้ว การบริโภคอาหารและการดื่มน้ำของแม่ก็มีส่วนต่อปริมาณน้ำนมด้วย มีการศึกษาวิจัยพบว่าแม่ที่กินอาหารน้อยกว่า 1,800 กิโลแคลอรีต่อวัน จะมีการผลิตน้ำนมลดลง ส่วนแม่ที่กินอาหารน้อย หรือตั้งใจลดน้ำหนักทันทีหลังคลอด อาจเสี่ยงต่อการขาดโปรตีนและพลังงาน ซึ่งการศึกษาพบว่าแม่กลุ่มนี้ จะมีปริมาณโปรตีนและน้ำนมน้อยลงกว่าปกติด้วย ดังนั้นในช่วงให้นมลูก คุณแม่ควรกินอาหารเพิ่มขึ้นกว่าตอนก่อนตั้งครรภ์ 500 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือเพิ่มอาหารจาก 3 มื้อ เป็น 4 มื้อต่อวัน และดื่มน้ำอย่างน้อย 1-2 ลิตรต่อวัน หรือประมาณ 8-12 แก้ว หรือหากจะให้ดีก่อนและหลังให้นมลูกหรือปั๊มนม คุณแม่ควรดื่มน้ำ 1 แก้ว เนื่องจากองค์ประกอบของนมแม่กว่า 80% คือน้ำ หากดื่มน้ำไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อการผลิตน้ำนมโดยตรงได้
ข้อมูล www.haijai.com
แม่มือใหม่อย่าเพิ่งเครียด! ทำอย่างไรจะกระตุ้นให้มีน้ำนม?
อันดับแรกคุณแม่ต้องมั่นใจว่า “นมแม่” นั้นมีเพียงพอสำหรับลูกน้อยและสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย หลักการสร้างน้ำนมที่ดีที่สุดคือ การกระตุ้นให้ลูกน้อยดูดเต้า และวิธีอื่น ๆ เช่น
- ให้นมลูกบ่อยขึ้นและนานขึ้น (อย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน) ถ้าไม่ได้อยู่กับลูก ก็ควรบีบหรือใช้วิธีปั๊มนมออกให้เกลี้ยงเต้าทุก 3 ชั่วโมง
- จัดท่าให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี ให้ลูกอมหัวนมและลานนมได้ลึกพอ
- กระตุ้นเต้านมด้วยการนวดประคบเต้า โดยใช้ผ้าอุ่นจัดประคบเต้านม 3 – 5 นาทีก่อนให้นม นวดเต้านมและคลึงหัวนมเบา ๆ จะช่วยให้คุณแม่ที่มีน้ำนมน้อยมีน้ำนมพุ่งได้ และทำให้ปั๊มนมออกง่าย ช่วยลดอาการท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมเป็นไตได้
- หลีกเลี่ยงการเสริมนมผสม ให้น้ำ หรืออาหารเสริมอื่นให้ทารกก่อนอายุ 6 เดือน
- หาวิธีทำตัวเองให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด พักผ่อนให้เต็มที่ ด้วยการฟังเพลง หรือนึกถึงแต่สิ่งดี ๆ ในขณะให้นมลูกหรือขณะปั๊มนม
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเลือกทานอาหารเพิ่มน้ำนม เช่น ที่มีส่วนผสมของโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และแร่ธาตุต่าง ๆ ได้แก่ เนื้อปลาแซลมอน ไข่ ถั่วอัลมอนด์ เป็นต้น จะช่วยให้ปัญหาน้ำนมน้อยดีขึ้นได้
- ใช้เครื่องปั๊มนมเพื่อช่วยกระตุ้นปริมาณน้ำนม ในกรณีที่คุณแม่ต้องไปทำงาน ไม่อยู่บ้านให้นมลูกได้ โดยในช่วงแรก ๆ ให้ปั๊มนมเป็นเวลาอย่างน้อย 10-15 นาทีต่อข้าง ต่อการปั๊มแต่ละครั้ง เมื่อปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นแล้ว พยายามปั๊มให้นานขึ้นอย่างน้อย 20-30 นาที หรือปั๊มต่ออีก 2 นาทีหลังจากน้ำนมถูกปั๊มออกหมดแล้ว การปั๊มให้เกลี้ยงเต้าจะช่วยให้น้ำนมผลิตได้เร็วขึ้น ยิ่งปั๊มได้บ่อยแค่ไหนต่อวัน ก็จะยิ่งทำให้เต้านมผลิตน้ำนมได้มากขึ้นเท่านั้น สำหรับคุณแม่ที่มีปัญน้ำนมน้อยนอกจากการให้ลูกได้ดูดเต้าอย่างสม่ำเสมอแล้วก็สามารถนำวิธีการปั๊มเพื่อกระตุ้นน้ำนมร่วมด้วยได้เช่นกัน
หากคุณแม่ได้ลองทำวิธีดังกล่าวแล้วสำหรับการติดตามผล อาจใช้เวลาประมาณ 4 – 7 วันจึงจะเห็นผลว่าน้ำนมมามากขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหา “น้ำนมน้อย” หรือ “นมไม่พอ” ของแม่แต่ละคนนั้นแม้จะดูเป็นปัญหาเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาในเรื่องนี้ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ปัจจัยและวิธีแก้ไขก็จะแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นหลังคลอดถ้าคุณแม่เริ่มต้นดีสำหรับการให้นมลูกน้อย ปัญหาเรื่องนี้ก็อาจจะคลายกังวลลงได้ ทีมแม่ ABK ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่มือใหม่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกคนนะคะ.
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.todaysparent.com, www.moneyhub.in.th, www.beanbagsnacks.com
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก :
ให้ลูกกินน้ำนมได้ไหม ถ้าแม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ติดเชื้อโควิด-19
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่