คุณแม่ในวัยทำงาน คงไม่มีเวลาที่จะให้นมลูกน้อยได้ด้วยตัวเอง จึงต้องปั๊มน้ำนมเก็บไว้เป็นสต็อก (Stock milk) ให้ลูกน้อยเวลาที่คุณแม่ไปทำงาน เรามาดูวิธีเก็บสต็อกนมแม่จากคุณแม่ที่มีประสบการณ์กันค่ะ
คุณแม่ท่านแรก แนะนำการเก็บสต็อกนมแม่ไว้ดังนี้

เครดิตภาพ: Chutymoony
สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งปั๊มนม และอยู่กับลูกเช้าเย็น ให้ปั๊มใส่ขวดนมแบ่งไว้เป็นมื้อๆ แช่ช่องธรรมดา จะได้นมสดใหม่ และหืนน้อยกว่า ใกล้เคียงนมจากเต้า
สำหรับคุณแม่นักปั๊ม มีวิธีทำสต็อกง่ายๆ ดังนี้
1.ใช้ถุงเก็บนมในขนาดใกล้เคียงกัน ความจุ 6 – 8 ออนซ์ ละลายแบ่งใส่ขวดได้ง่าย ถ้าใส่มากเกินถุงนมจะเบียดกันและทำให้รั่วตอนละลายได้
2.ลดกลิ่นหืน โดยการรีดอากาศออกไปจากถุงก่อนปิดปาก ให้เหลือฟองอากาศประมาณปลายนิ้วก้อย เผื่อน้ำนมขยายตอนแข็งตัว
3.นำนมเข้าช่องแข็งให้เร็ว หรือใช้น้ำเย็นจัดราดถุงนมก่อนแช่แข็ง เพื่อให้นมเย็นเร็วขึ้น หรือใช้ถาดแสตนเลสรองเอาไว้เพื่อกระจายความเย็น นมจะแข็งเร็ว และเหม็นหืนน้อย วางถุงนมในแนวนอน เพื่อให้สะดวกในการจัดเก็บ และป้องกันถุงรั่ว และทำให้ละลายได้ไวขึ้น
4.จัดเรียงตามลำดับก่อนหลัง นมที่เก็บเอาไว้ก่อน นำมาใช้ก่อน
คุณแม่ท่านที่ 2 แนะนำการเก็บสต็อกนมแม่ไว้ดังนี้

เครดิตภาพ: LittleCactus2009
การจัดเรียงสต็อกถุงใหญ่ให้เรียบร้อย ต้องทำถุงเล็กให้เรียบร้อยก่อน ปริมาณน้ำนมที่เหมาะสมจะเก็บใส่ถุงน้ำนมสำหรับทำสต็อกนมแม่ 10 ถุงแรก เก็บถุงละ 6 ออนซ์ เท่ากันทุกถุง เพื่อประหยัดนมแม่ด้วย
อุปกรณ์
1.ถุงเก็บนมแม่มีหลายยี่ห้อ เลือกยี่ห้อที่หนา และมีซิปล็อค 2 ชั้น ไม่มีปัญหาถุงแตก หรือรั่วซึม
2.ขวดเก็บน้ำนมที่มีขีดบอกปริมาตร จะวัดได้มาตรฐานกว่าวัดด้วยถุง
3.ปากกาเขียนถุงนม ใช้ปากกาเขียนซีดีธรรมดาเขียน สก๊อตเทป กระดาษ
4.ตะกร้าสำหรับวางเก็บนม ก่อนบรรจุลงถุงใหญ่
5.ถุงเย็นขนาด 12×18 นิ้ว หรือสามารถเก็บถุงเล็กได้ 10 ถุง
วิธีทำ
1.เก็บนมที่ปั๊มหลายๆ ครั้งรวมกันได้ แต่ไม่ควรเกิน 24 ชั่วโมง เช่น ปั๊มครั้งที่ 1 ได้ 8 ออนซ์ เก็บใส่ถุง 6 ออนซ์แล้วแช่แข็ง อีก 2 ออนซ์ใส่ขวดนมแชร์เย็นไว้ก่อน ปั๊มครั้งที่ 2 ได้ 7 ออนซ์ นำ 2 ออนซ์แรกมารวมกัน
2.เก็บนม ให้เทน้ำนมลงไปในถุง วางถุงราบกับพื้น ยกปากถุงขึ้น ค่อยๆ ไล่อากาศ รีดก้นถุงให้นมกระจายทั่วกัน แล้วปิดปากถุง นำไปใส่ในตู้แช่โดยวางนอนราบ ใส่ตะกร้าเมื่อครบ 10 ถุง ทำมาแพ็คถุงใหญ่
3.นำถุงใหญ่มาพับก้นให้เป็นสัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พับปลายทั้ง 2 ด้าน โดยกะประมาณ หรือใช้ถุงเล็กวัดดู เมื่อยกขึ้นจะได้ถุงที่มีก้นเรียบร้อย เรียงถุงนมเล็กลงไป 10 ถุง เขียนวันเวลาให้ชัดเจน พับปากถุง ติดสก๊อตเทปให้เรียบร้อย ตั้งถุงขึ้น นำไปจัดเรียงในตู้แช่
เฟสบุ๊คเพจ นมแม่ แบบแฮปปี้ แนะนำการเก็บสต็อกนมแม่ไว้ดังนี้

1.เวลาเก็บสต็อกนมแม่ สามารถเก็บน้ำนมจากหลายรอบรวมในถุงเดียวกันได้ โดยวางน้ำนมในช่องธรรมดาก่อน เมื่อถึงปริมาณน้ำนมที่ต้องการ ก็ให้รีดอากาศออก เหลืออากาศไว้เล็กน้อย ป้องกันน้ำนมขยายตัวเวลาแข็ง เพราะการรีดอากาศออกหมดจะทำให้ถุงปริ
2.วางบนจาน หรือกล่องให้แบนราบ เผื่อถุงปริ นมจะแข็งเร็ว และประหยัดที่ เรียงตามวันที่ แล้วนำของเก่ามาทานก่อน เพื่อไม่ให้เสียคุณค่า เก็บไว้ในตู้เย็น โดยตู้เย็น 2 ประตูเก็บได้ 3 – 6 เดือน ตู้เย็นประตูเดียวเก็บได้ 2 อาทิตย์ ถ้ารสชาติไม่เปรี้ยวแสดงว่าไม่เสีย ส่วนกลิ่นเหม็นหืนเป็นเรื่องปกติของนมแม่
3.ถ้าจะอุ่นหรือละลายนม ให้แช่ถุงน้ำนมในน้ำอุ่น แกว่งน้ำนมไปมา อย่าเขย่าแรง อย่าใช้น้ำร้อนหรือไมโครเวฟ ให้ลูกทานมเย็นๆ เพราะกลิ่นหืนจะน้อยกว่านมอุ่น วิตามินจะไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน ลูกจะไม่ปวดท้อง ให้ลูกทาน 1 ออนซ์ต่อ 1 ชั่วโมง
4.ไม่ต้องเก็บสต็อกมากมาย มีประมาณ 10 – 12 ออนซ์ก็เพียงพอต่อการดื่มนม 1 วันของลูกน้อย ปั๊มนมอย่างมีวินัย ถ้าลูกดื่มนมไม่หมดขวด ให้แช่ในตู้เย็น ถ้าวางนอกตู้เย็นจะวางได้ 2 ชั่วโมง ถ้าปิดมิดชิดในห้องแอร์ 25 องศา จะสามารถอยู่ได้ 4 ชั่วโมง
5.คุณแม่ที่ไม่ต้องไปทำงานไม่ต้องปั๊มนมเก็บไว้ เพราะลูกได้ดูดนมแม่ กระตุ้นน้ำนมเสมอ ถ้าอยากมีสต็อกไว้อุ่นใจก็ไม่มีปัญหา นมแม่ถึงแม้จะเป็นนมสต็อกก็ยังดีกว่านมผงที่ทำจากนมวัว
ชมคลิป จัดเก็บทำสต็อกน้ำนมแม่
เครดิต: Chutymoony Singnommae, LittleCactus2009, เฟสบุ๊คเพจ นมแม่ แบบแฮปปี้