ผ่าคลอด ภาวะแทรกซ้อน

ผ่าคลอด ภาวะแทรกซ้อน เรื่องที่แม่ท้องต้องรู้!

Alternative Textaccount_circle
event
ผ่าคลอด ภาวะแทรกซ้อน
ผ่าคลอด ภาวะแทรกซ้อน

ผ่าคลอด ภาวะแทรกซ้อน เป็นสิ่งที่คุณแม่ท้องต้องรู้ไว้ เนื่องจากคุณแม่หลายๆท่านในปัจุุบัน นิยมการผ่าตัดคลอดเป็นจำนวนมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า การเลือกคลอดด้วยวิธีีการผ่าตัดนั้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่ และทารกที่เพิ่งเกิดมา ดังนั้นจึงมีการรณรงค์ให้แม่ท้อง ลดการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็น

ผ่าคลอด ภาวะแทรกซ้อน

การผ่าตัดคลอด 

การผ่าตัดคลอดลูกนั้นมีมานานมากแล้ว ซึ่งการผ่าคลอดเป็นหัตถการทางการแพทย์ที่สำคัญ ในการช่วยชีวิตทั้งแม่และเด็ก กรณีที่มีความจำเป็น คุณแม่ไม่สามารถคลอดเองได้ ซึ่งในอดีตการผ่าตัดคลอดนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยง และอันตรายมาก เนื่องจากช่วงเวลาระหว่างการผ่าตัดนั้น คุณแม่ท้อง จะต้องเสียเลือดมาก ต้องมีการดมยาสลบ ให้ยาระงับความรู้สึก ซึ่งจะเป็นวิธีที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับอวัยวะข้างเคียง เช่น ไปถูกกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ไต และยิ่งในอดีตที่การแพทย์ยังไม่พัฒนาขึ้นอย่างปัจจุบัน ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตได้ง่าย แต่ปัจจุบันการแพทย์พัฒนาก้าวหน้าขึ้น ทำให้การผ่าคลอดปลอดภัย และมีความเสี่ยงน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต

ผ่าคลอด ภาวะแทรกซ้อน

สาเหตุที่ต้องใช้วิธีการผ่าตัดคลอด

คือ กรณีที่คุณแม่ไม่สามารถคลอดแบบธรรมชาติเองได้ เพราะอาจไม่ปลอดภัยต่อทั้งแม่และเด็ก เช่น

  • คุณแม่มีภาวะรกต่ำ เกิดขึ้นเมื่อรกเลื่อนลงไปอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูก หรือปกคลุมอยู่บริเวณปากมดลูก ซึ่งเมื่อเกิดภาวะรกต่ำ อาจจำเป็นต้องนอนพักเพื่อดูอาการ และเมื่อถึงกำหนดคลอดก็อาจต้องใช้การผ่าคลอด ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์พิจารณาอีกครั้ง
  • ทารกอยู่ในท่าก้นออก ซึ่งถือว่าเป็นท่าที่ผิดปกติสำหรับการคลอด เพราะการคลอดโดยธรรมชาติที่ปกติ ทารกจะต้องเอาศีรษะลงมาทางปากมดลูก เพราะฉะนั้น เมื่อทารกไม่ยอมกลับหัวลง จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าคลอดจึงจะเหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ผ่าคลอดยังมักใช้ในกรณีที่คลอดก่อนกำหนดด้วย
  • เคยได้รับการผ่าตัดคลอดมาก่อนแล้ว เพราะส่วนใหญ่เมื่อคุณแม่เคยผ่านการผ่าคลอดมาแล้ว การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็อาจต้องใช้การผ่าคลอดเช่นเดียวกัน
  • แพทย์ได้มีการวินิจฉัย คุณแม่ตั้งครรภ์แล้วพบว่า มีปัญหาสุขภาพ คือ ไม่อาจจะคลอดเองตามธรรมชาติได้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่เอง เช่น คุณแม่มีภาวะ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ  ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น
  • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นภาวะที่รกแยกตัวออกจากเยื่อบุมดลูกก่อนกำหนด ซึ่งอาการนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด อาจทำให้เลือดออก และปวดที่บริเวณมดลูก อีกทั้งยังอาจทำให้ทารกไม่ได้รับออกซิเจนอีกด้วย ทำให้ต้องใช้วิธีการผ่าคลอดแบบฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิตทารกไว้
  • เกิดความล้มเหลวในการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ เนื่องจากปากมดลูกเปิดไม่สุด หมายถึง ในระหว่างการคลอดแบบธรรมชาติใช้ระยะเวลานานเกินไป หรือเด็กอยู่ในท่าที่ไม่สามารถคลอดออกมาได้ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีในการผ่าตัดคลอดเพื่อความปลอดภัยของทารกน้อย
  • มดลูกแตก ทำให้ทั้งคุณแม่ และทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน จึงต้องใช้วิธีการผ่าคลอดอย่างเร่งด่วน
  • ภาวะความเครียดของทารกในครรภ์ ภาวะนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่ทารกขาดออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ ซึ่งถ้าติดตามผลแล้วพบว่าทารกไม่สามารถได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัย
  • การผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะทารกกับกระดูกเชิงกรานของคุณแม่ หมายถึง การที่ขนาดศีรษะของทารกนั้น มีขนาดใหญ่กว่ากระดูกเชิงกรานของคุณแม่ ทำให้ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ จึงต้องใช้การผ่าคลอด
  • คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด ในกรณีที่คุณแม่มีการตั้งครรภ์แฝด แต่ลักษณะการกลับตัวของทารกไม่พร้อมสำหรับการคลอด หรือร่างกายมารดาไม่พร้อมสำหรับการคลอดแบบธรรมชาติ จึงมีความจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดคลอดแทน
  • เริมที่อวัยวะเพศมีการกำเริบ หากคุณแม่มีอาการของเริมที่อวัยวะเพศกำเริบ ในช่วงการตั้งครรภ์ ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดคลอด เพื่อป้องกันไม่ใช้เชื้อแพร่กระจายจากแม่สู่ลูก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้

ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น คือสาเหตุจำเป็นที่ทำให้ต้องมีการผ่าตัดคลอด แต่ในปัจจุบันพบว่าอัตราการผ่าตัดคลอดของหญิงไทยสูงเป็นอันดับ2 ของเอเชีย รองจากประเทศจีน อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

อ่านต่อหน้า 2 >> แพทย์ชี้! หญิงไทยผ่าคลอดสูงอันดับ2ของเอเชีย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up