ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Baby blue อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลังคลอดเกือบทุกคน มักมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ สับสน เบื่อหน่าย ท้อแท้ บางคนอาจถึงกับร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Baby Blue ทำพิษ!
แม่ใบเตย “ร้องไห้ไร้สาเหตุ”
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ถือเป็นเรื่องปกติที่แม่มือใหม่ต้องเจอหลังคลอดลูก เป็นการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ซึ่งสาเหตุยังไม่มีใครทราบแน่ชัด เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ร้องไห้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สามารถหายเองได้จึงเกิดผลกระทบน้อย แต่หากเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดควรได้รับการดูแลโดยจิตแพทย์ เพราะมีผลกระทบกับกายใจของแม่
อย่างไรก็ตามอาการซึมเศร้าหลังคลอดบางครั้งคนเป็นแม่อาจจะไม่รู้ตัว ต้องอาศัยคนรอบข้างคอยบอกคอยเตือน แนะนำว่าคุณแม่ควรบอกคนรอบข้างไว้ไม่ว่าจะสามี พ่อแม่ ตายาย หรือเพื่อนพี่น้อง จะได้มีคนช่วยเตือนสติ หรือถ้ารู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์ที่แปลกไป เช่น ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล หลังจากคลอดลูก คุณแม่อาจจะเข้าข่ายมีอาการของโรคซึมเศร้าอยู่ก็เป็นได้
- ซึมเศร้าหลังคลอด Baby Blue อยากตาย ทำไงดี?
- เป็น โรคซึมเศร้า ตั้งครรภ์ ได้ไหม?
- วิจัยเผย! แม่เลี้ยงลูกลำพังเสี่ยงเป็น โรคซึมเศร้าหลังคลอด!
เช่นเดียวกับ คุณแม่ป้ายแดง “ใบเตย อาร์สยาม” ที่มี ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เกิดขึ้น .. โดยเหตุการณ์นี้เกิดหลังคุณแม่ใบเตยคลอด “น้องเวทมนต์” ได้ 10 กว่าวัน ซึ่งทาง “ลุกซ์ ชาญวิทย์” น้องชายของ “คุณแม่ใบเตย” ได้ออกมาเผยคลิปวิดิโอในอินสตาแกรมสตอรี่ luxx.c.t_ เป็นจังหวะที่คุณแม่ใบเตยกำลังนั่งอุ้มลูกสาวอย่างทะนุถนอม ก่อนที่จะค่อยๆ ปล่อยโฮออกมาอย่างไม่มีสาเหตุ ทำเอาทั้งเจ้าตัวและสามี “ดีเจแมน” ต่างพากันงง ต้องรีบถามว่าเป็นอะไร เกิดอะไรขึ้น
ทางด้านคุณแม่ใบเตยที่กำลังใช้ผ้าเช็ดคราบน้ำตาที่ไหลออกมา ก็ได้ให้อธิบายคร่าวๆ ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพราะอาการเบบี้บลู ที่ทำให้อยู่ดีๆ น้ำตาของเธอก็ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว นั่นเอง!
ลุกซ์ – อยู่ดีๆ คุณแม่ก็ร้องไห้ค่ะคุณพ่อ?
ดีเจแมน – ซึ้งในความดีของสามี
ใบเตย – (เช็ดน้ำตา) เบบี้บลู
ดีเจแมน – แม่คิดอะไรอยู่เหรอ?
ใบเตย – ไม่ได้คิดอะไรเลย น้ำตามันอยากไหลก็คือไหล เห็นหน้าลูก มันเหมือนแบบ…ยังงงๆ สับสน (สะอื้น)
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก ww.sanook.com
หลังจากที่คลิปนี้ได้เผยแพร่ออกไป ตัวคุณแม่ใบเตยเองก็ได้ออกมาโพสต์ความในใจผ่าน เฟสบุ๊ค แฟนเพจ ใบเตย อาร์สยาม ถึง “ความเป็นแม่” ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย .. โดยมีใจความดังนี้
เป็นแม่ไม่ง่าย
ไม่มีตอนไหนเลยที่ง่าย
นับตั้งแต่รู้เลยว่ามีอีกชีวิตนึงอยู่ในท้อง สิ่งที่เคยทำที่เคยชอบก็ทำไม่ได้ แค่อยากจะนอนหลับสนิทสบายๆยังทำไม่ได้เลย ต้องลุกมาเข้าห้องน้ำคืนละ 3-4 ครั้ง เมื่อยขาปวดหลังเพราะต้องแบกรับน้ำหนักเกือบ 3 กิโลไว้ จะขยับตัวทำอะไรก็กังวลไปหมดจนตอนคลอด..เจ็บสุดในชีวิตเลยก็ว่าได้
ไม่ว่าจะคลอดเองเจ็บก่อน หรือผ่าคลอดเจ็บทีหลัง แต่เชื่อไหมทันทีที่ได้ยินเสียงลูกร้องเราลืมความเจ็บปวดแสนสาหัสของเราไปเลยชั่วขณะ
เพราะคำถามแรกที่เราถามกลับเป็น
“ลูกแข็งแรงสมบูรณ์ดีไหม ปลอดภัยครบ 32 รึเปล่า?”ยิ่งพอหลังคลอดนี่แหละ..ของจริง
ความกังวลถาโถมประดังเข้ามาใส่
ทำไมน้ำนมยังไม่มา จะจับลูกเข้าเต้าแต่ละทีก็ไม่ถนัด ต้องอดหลับอดนอนตื่นมาปั๊มนมทุก 3 ชั่วโมงเพื่อให้ลูกมีน้ำนมกินถึงนมคัดเต้าระบมแม่ก็อดทนกัดฟันสู้จนบางทีถึงกับเป็นไข้
จะจับลูกเรอยังไง เช็ดสะดือ เช็ดอึ๊แต่ละทีก็ต้องหมั่นดูว่าปกติไหมไหนจะต้องปั๊มนม ไหนจะต้องอุ้มโอ๋เวลาลูกร้อง ไหนจะต้องกังวลว่าลูกเป็นอะไรหรือเปล่า
หันไปมองอีกทีขวดนมยังไม่ได้ล้าง ผ้าอ้อมก็ยังไม่ได้ซัก การใช้ชีวิต กิจวัตรทุกอย่างของเราเปลี่ยนไปหมดทุกเวลาเป็นของลูก คิดถึงแต่ลูกจนเราลืมนึกถึงตัวเอง ลืมแม้กระทั่งกินข้าว น้ำไม่ค่อยได้อาบ ผมไม่ได้สระ เหนื่อยสารพัดแต่เราก็ยังเผลอคิดว่าเราบกพร่อง ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ
พอลูกโตขึ้นมาหน่อยคิดว่าจะง่าย..แต่ก็ไม่
ข้าวมื้อแรกต้องทำยังไง จับลูกนั่ง ลุ้นลูกคลาน พาลูกเดิน เลิกมื้อดึก ฝึกลูกกินข้าวเอง สอนเลิกแพมเพิส ต้องทำงานไปเลี้ยงลูกไป ที่ทำอยู่ในแต่ละวันว่าเหนื่อยแล้วแต่เรายังคิดไกลวางแผนอนาคตไว้เผื่อลูกด้วย จะเข้าโรงเรียนอะไร จะสอนลูกให้มีวินัย เป็นคนดีอยู่รอดในสังคมได้ยังไง แต่ละพัฒนาการทุกย่างก้าวของลูกแม่ล้วนทุ่มเทแรงกายแรงใจให้หมดหน้าตัก นี่ยังไม่นับความเหนื่อยใจจากแรงกดดัน คำพูดดูถูกจากคนรอบข้างที่คนเป็นแม่ต้องเจอนะแต่ถึงต่อให้ยากให้เหนื่อยยังไงแม่ก็ยินดีและพร้อมจะทำให้ได้เพราะแม่รู้ว่าแม่ทำไปเพื่อใคร.. ก็เพื่อลูกผู้เป็นความสุขของแม่
ถ้าวันใดที่เราเจอคำพูดบั่นทอนจิตใจ หรือเจอปัญหาอุปสรรคอะไรก็ตามเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกอยากให้เราก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ เพราะเรารู้ดีอยู่แก่ใจเป็นแม่ไม่ง่าย..ไม่เคยมีอะไรง่าย
แต่เราก็เลี้ยงลูกให้เติบโตมาจนทุกวันนี้ได้เพราะฉะนั้นภูมิใจในความเป็นแม่ของเรานะตบบ่าบอกตัวเองได้เลยจ้ะ
“เก่งเหมือนกันนะเราเนี่ย” 😉
อย่างไรก็ตามทีมแม่ ABK ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่ใบเตยและคุณแม่ทุกคนที่กำลังเจอ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ด้วยนะคะ
ทั้งนี้ ภาวะซึมเศร้า จะพบได้มากที่สุดในช่วง 3 ถึง 6 เดือนหลังคลอด คุณแม่จะรู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์แปรปรวน สับสน เบื่อหน่าย ท้อแท้ บางคนอาจถึงกับร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล นอนไม่หลับ ได้ยินเสียงร้องกวนก็หงุดหงิดหรือร้องไห้ กินอาหารไม่ลงหรือกินมากกว่าปกติ น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากไปมาก บางคนมีความคิดที่ไม่ดีเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ต้องการทอดทิ้ง หรือถึงขนาดมีความคิดทำร้ายลูกขึ้นมาได้ ซึ่งมักจะตามมาด้วยความรู้สึกผิดและทำให้อาการของโรคซึมเศร้าหนักมากขึ้นไปอีก
Must read
เทคนิคลดน้ำหนักหลังคลอด ฉบับญี่ปุ่น สุดง่าย เห็นผลใน 5 วัน
ผมร่วงหลังคลอด แม่มือใหม่รับได้มั้ย 6 เคล็ดลับป้องกันผมร่วงให้ลูกจำหน้าแม่ได้แบบสวยๆ
9 ผลไม้เพิ่มน้ำนม แม่หลังคลอดน้ำนมน้อย ต้องกิน!
การป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
แม้ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีร่วมกับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถดูแลสุขภาพจิตของตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ เช่น อย่าเคร่งเครียดกับการเตรียมตัว บอกให้คู่ชีวิตหรือคนในครอบครัวรู้ถึงความรู้สึกของคุณขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด จัดการกับอารมณ์ตึงเครียด อย่าปล่อยให้อารมณ์หงุดหงิด ค้างคาอยู่ในใจ ควรหยุดพักจากกิจกรรมที่ทำ หาเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น และไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
ที่สำคัญหากความรู้สึกเศร้านั้นเป็นนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป คุณแม่ไม่ควรรีรอที่จะไปพบจิตแพทย์ เพื่อรับการประเมินเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด เพราะจิตแพทย์จะช่วยปรับทัศนคติและแนวทางในการดำเนินชีวิตเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณแม่ค่อยๆ สามารถปรับตัวไปกับการเลี้ยงดูลูกอย่างมีความสุขได้ในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.samitivejhospitals.com , www.dmh.go.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจคลิกที่ภาพได้เลย ⇓