แผลผ่าคลอด เป็นสิ่งที่คุณแม่ทั้งหลายกังวล และมักจะเกิดคำถามที่ว่า แผลจะจางหายไปจนหมดหรือไม่ จะมีอาการเจ็บบริเวณแผลนานเท่าไหร่ และควรดูแลอย่างไร
ดูแล “แผลผ่าคลอด” อย่างไร? ให้เนียน สวย ไม่ติดเชื้อ!!
การผ่าคลอด โดยทั่วไปมีความปลอดภัย แต่แน่นอนมันมีความแตกต่างจากการคลอดธรรมชาติ เนื่องจากการผ่าคลอดนั้นทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่จะกังวลว่า รอยแผลเป็นนั้นจะไม่จางหายไปจนหมด ทีมแม่ ABK ตระหนักถึงความกังวลนี้ จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับการผ่าคลอด และวิธีดูแลแผลที่ผ่าคลอด ให้จางหายไปโดยเร็ว
แผลผ่าคลอด คุณแม่ควรดูแลอย่างไรหลังผ่าคลอด
การผ่าคลอดดีอย่างไร
- สามารถกำหนดเวลาคลอดได้อย่างชัดเจน คุณพ่อคุณแม่สามารถไปหาฤกษ์เกิดดีๆ เป็นสิริมงคลให้ลูกได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือตั้งแต่ 38 สัปดาห์ขึ้นไป
- ไม่ต้องรอนาน เพราะไม่ต้องรอให้ปากมดลูกเปิดเหมือนการคลอดธรรมชาติ โดยใช้ระยะเวลาในการผ่าคลอดประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
- ลดการยืดหย่อนของเชิงกราน เนื่องจากแรงแบ่งของคุณแม่ในการคลอดแบบธรรมชาตินั้น จะส่งผลต่อการยืดของกระบังลมของเชิงกรานหรือเส้นเอ็นยึด แต่การผ่าคลอดจะช่วยลดแรงเบ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้ได้
- ลดอาการเจ็บปวดในขณะคลอด แพทย์จะโปะยาสลบหรือบล็อกหลัง ทำให้คุณแม่ไม่เจ็บ หรือไม่ต้องออกแรงเบ่งในขณะคลอด อาจมีอาการเจ็บแผลหลังคลอดบ้าง แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว
- คุณแม่และลูกจะได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เกิดปัญหา เพราะในการผ่าคลอด แพทย์จะต้องหารือและวางแผนร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ฝ่าย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉิน
แผลผ่าคลอดมีลักษณะเป็นอย่างไร
แผลผ่าคลอด จะเป็นแผลลักษณะแนวนอนตามแนวขอบกางเกงชั้นในหรือแนวตั้งใต้สะดือ ขึ้นอยู่กับลักษณะการลงแผลตอนผ่าคลอด ความยาวของแผลประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ในการดูแลสุขภาพร่างกาย และรอยแผล เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดรอยแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ และการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงการเกิดแผลติดเชื้อ
การดูแลหลังผ่าคลอด
ในสัปดาห์แรกหลังจากผ่าคลอด ผิวชั้นนอกของแผลจะเริ่มติดกัน จากนั้นแผลจึงปิดสนิทและเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงอยู่นานประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น จะค่อย ๆ จางลงเป็นสีขาวและเรียบขึ้น ส่วนแผลที่กล้ามเนื้อท้องและมดลูกอาจใช้เวลานานหลายเดือนจึงจะหายดี
การเคลื่อนไหว
หลังจากการผ่าคลอด คุณแม่ควรพลิกตัวบ่อยๆ เพื่อช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็วขึ้นและลดอาการท้องอืด พยาบาลจะเข้ามาวัดความดันโลหิตทุก ๆ 30 นาที ในระยะแรกหลังคลอด หากรู้สึกเจ็บหรือปวดแผล ควรแจ้งพยาบาลเพื่อจะให้หมอสั่งยาลดปวด คุณแม่สามารถให้น้ำนมลูกได้ทันทีเมื่อคุณแม่พร้อม
- หลังผ่าคลอด ในวันแรก คุณแม่ควรลุกขยับตัวให้ได้เร็วที่สุดหลังจากผ่าคลอด เช่น ลุกนั่ง หรือลุกยืนข้างๆ เตียง แต่ถ้ามีอาการมึนศีรษะ ควรนอนราบบนเตียง ทั้งนี้คุณแม่อาจจะเดินไปรอบ ๆ ห้อง เพื่อป้องกันท้องอืด และทำให้ลำไส้ได้ขยับและกลับมาทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็ว
- ในวันที่ 2 เป็นต้นไป คุณแม่อาจจะนั่งหรือยืนได้เอง อย่างไรก็ดี คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บแปลบที่แผลผ่าตัดได้ ซึ่งเป็นอาการปกติ หากไอ ควรใช้มือหรือหมอนกดที่แผล หายใจลึกๆ กลั้นไว้ก่อน แล้วจึงค่อยไอออกมาแรงๆ 2-3 ครั้ง เพื่อกำจัดเสมหะ
การพักผ่อน
ควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้มากที่สุด เพราะร่างกายยังคงอ่อนเพลียจากการผ่าตัดคลอด และการให้นมลูก
อาหาร
คุณแม่ควรงดรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ แล้วค่อย ๆ เริ่มจิบน้ำ หรืออาหารใส ๆ เช่น ซุป น้ำแกงใส ๆ โดยเริ่มทีละนิด แล้วค่อยเพิ่มเป็นอาหารเหลว หรือโจ๊ก จากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารย่อยง่ายรสจืด ควรงดดื่มนมหรือน้ำอัดลม เพราะจะทำให้เกิดอาการท้องอืด งดอาหารรสจัด อาหารหมักดอง แอลกอฮอล์ กาแฟ ชา หรือน้ำที่มีคาเฟอีน
การขับถ่าย
ใน 2 วันแรก คุณแม่จะมีสายสวนปัสสาวะอยู่ แต่ในวันที่ 3 เมื่อเอาสายสวนปัสสาวะออกแล้ว คุณแม่จะต้องปัสสาวะเองให้ได้ ภายใน 6 ชั่วโมง เมื่อปัสสาวะแล้ว ต้องทำความสะอาดอย่างดี ในระยะแรกลำไส้ใหญ่อาจจะยังไม่ขยับตัวเพราะได้มีการสวนอุจจาระก่อนที่จะผ่าคลอด แต่หากในวันที่ 3 ยังไม่สามารถถ่ายได้ ต้องใช้ยาถ่ายเป็นตัวช่วย
น้ำคาวปลา
หลังจากผ่าคลอด คุณแม่จะยังคงมีน้ำคาวปลาอยู่ จะมีสีแดงสด และมีปริมาณมาก ในวันแรก ๆ แล้วจะค่อย ๆ มีสีอ่อนลง และมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ คุณแม่ควรใช้ผ้าอนามัยไปจนกว่าน้ำคาวปลาจะหมด ซึ่งน้ำคาวปลาจะหมดในราว ๆ 2 – 3 สัปดาห์
แผลหลังผ่าตัดและมดลูก
คุณแม่จะรู้สึกเจ็บในมดลูกเป็นครั้งคราวเนื่องจากมดลูกกำลังหดตัว และอาจรู้สึกเจ็บมากขึ้นในขณะที่กำลังให้นมลูก ในส่วนของแผลผ่าคลอด จะมีผ้ากอซปิดที่แผลไว้ คุณแม่ต้องระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ และต้องสังเกตว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น มีไข้ มีเลือดออกมาจากแผล แผลบวม แดง ร้อน เป็นต้น
การให้นม และการดูแลลูก
น้ำนมแม่
สืบเนื่องจากการผ่าคลอดและการให้ยา จึงอาจทำให้น้ำนมของคุณแม่ผลิตได้ช้า แต่เรามีวิธีแนะนำที่จะช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น โดยการเริ่มให้นมลูกให้เร็วที่สุด ยิ่งเริ่มตั้งแต่ยังอยูบนเตียงผ่าตัด ก็จะยิ่งช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากขึ้น
ให้นมลูกบ่อย ๆ
ในตอนกลางวัน คุณแม่ควรให้นมลูกทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง และทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง ในเวลากลางคืน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากขึ้น หลังพ้นระยะแรกแล้ว คุณแม่สามารถให้นมลูกเมื่อลูกหิวได้ทันที
วิธีอุ้มลูกขณะให้นม
ให้คางของลูกอยู่ใกล้กับเต้านมแม่ เพื่อให้ปากของลูกงับได้ถึงบริเวณลานหัวนม แล้วยังอาจทำให้คุณแม่ได้ยินเสียงลูกดูดและกลืนนมได้
วิธีิอุ้มลูกขณะให้นมในวันแรก
คุณแม่อาจจะนอนตะแคง ให้ศีรษะของลูกอยู่ในระดับเดียวกับเต้านม ให้ท้องของแม่แนบไปกับตัวลูก โดยให้คางลูกอยู่ติดกับเต้านม
วิธีิอุ้มลูกขณะให้นมในวันต่อ ๆ มา
หลังจากที่คุณแม่สามารถขยับตัวได้สะดวกขึ้นแล้ว ควรนั่งในขณะให้นมลูก โดยอุ้มลูกแนบตัว ศีรษะของลูกอยู่ที่เต้านม ใช้แขนรองหลังลูก ท่านี้เรียกว่าท่าอุ้มลูกบอล เนื่องจากแขนจะอยู่ในลักษณะเดียวกันกับเวลาที่เราอุ้มลูกบอล อาจจะใช้หมอนรองใต้แขนเพื่อความสบาย ท่านี้ช่วยให้คุณแม่ให้นมลูกได้สะดวก และตัวลูกไม่ทับแผลผ่าตัดด้วย
วิธีดูแลแผลหลังผ่าคลอด
- ไม่ยกของหนักในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าคลอด
- หมั่นล้างแผลและทำความสะอาดผิวอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผิวบริเวณเชิงกราน
- ล้างมือก่อนสัมผัสแผลหรือทำแผลทุกครั้ง
- ไม่ดึงปลายไหมเย็บแผลที่โผล่ออกมา ควรแจ้งแพทย์ให้เล็มปลายไหมให้ เพื่อป้องกันไหมเย็บแผลเกี่ยวเสื้อผ้า
- อาบน้ำฝักบัวแทนการแช่น้ำในอ่าง
- อาบน้ำด้วยสบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน และไม่ถูสบู่ เจลอาบน้ำ หรือทาแป้งลงบนแผลโดยตรง
- ซับแผลให้แห้งด้วยผ้าขนหนูสะอาด
- สวมเสื้อผ้าและกางเกงชั้นในที่หลวม ไม่รัดแน่น เพื่อป้องกันการเสียดสีที่แผล
- ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากินหรือยาทาสำหรับรักษาแผลผ่าคลอดทุกครั้ง
- คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือเครื่องสำอางบางชนิดระหว่างอยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
- หมั่นเช็ดบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยพับเหนือแผลผ่าตัดให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้บริเวณดังกล่าวชื้นเหงื่อ
- ควรพบแพทย์ทันทีในกรณีที่พบสัญญาณการเกิดแผลติดเชื้อ เช่น เกิดรอยแดงที่แผล มีไข้ขึ้นสูง เป็นต้น
- หลังแผลแห้งปิดสนิท ทาวิตามินอีที่แผลเพราะวิตามินอีจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระ โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินอีเข้มข้นสูงเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแล, อัลเลียม ซีปาจะช่วยลดอาการอักเสบ และซิลิโคนจะช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดแผลเป็นนูน
วิธีป้องกันแผลติดเชื้อ
- ดูแลแผลผ่าคลอดอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลแผลให้เข้าใจ
- หากได้รับยาปฏิชีวนะ ควรรับประทานจนครบกำหนด ไม่หยุดยาหรือลดปริมาณยาเองโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์
- ทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าพันแผลอย่างสม่ำเสมอ
- ควรซักถามแพทย์เกี่ยวกับคำแนะนำในการอุ้มและการให้นมบุตร เพื่อป้องกันแผลถูกกดทับขณะอุ้มหรือให้นม
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นหรือทาครีมบริเวณแผลผ่าคลอด
- ระวังอย่าให้ผิวหนังบริเวณแผลผ่าตัดเสียดสีกัน
- ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายในทันที หากรู้สึกไม่สบายหรือมีไข้
- รีบไปพบแพทย์ทันที ในกรณีที่สงสัยว่าแผลติดเชื้อ
บทความเกี่ยวกับ แผลผ่าคลอด ที่ทีมแม่ ABK ได้รวบรวมข้อมูลมานี้ คงจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ที่กำลังตัดสินใจจะผ่าคลอด เพื่อช่วยลดความกังวลต่างๆลงได้นะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รวมวันดี วันมงคล ฤกษ์คลอดลูก ฤกษ์คลอดปี 2565 / 2022 ฤกษ์ผ่าคลอด ปูทางสำเร็จให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.paolohospital.com, https://www.samitivejhospitals.com, https://www.pobpad.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่