ปัญหาหลังคลอด คือ อาการที่เกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอดบุตร มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย และทางด้านจิตใจ เนื่องจากฮอร์โมนฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนลดลง ดังนั้นคุณแม่ควรทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ไขข้อสงสัย ปัญหาหลังคลอด ที่แม่มือใหม่ต้องเจอ
กับหมอวิน เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ
สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และคุณพ่อมือใหม่ที่กำลังรอวันที่ลูกรักลืมตาดูโลก นอกจากการจัดเตรียมบ้าน จัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้เด็กอ่อนสำหรับต้อนรับสมาชิกใหม่ในครอบครัว ยังมี ปัญหาหลังคลอด ที่น่ากังวลใจ และอาจเกิดความเข้าใจผิดตามมาอีกหลายอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจและเตรียมตัวเอาไว้ให้พร้อม เพื่อเตรียมรับมือและจัดการกับ ปัญหาลูกรัก ต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบ สบายใจ และสามารถเลี้ยงลูกรักให้เติบโตอย่างมีความสุขและแข็งแรง วันนี้ ทีมแม่ ABK มีความรู้ดี ๆ จาก ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ (หมอวิน) เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ มาฝากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกคนกัน
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ปัญหาหลังคลอด – ภัยเงียบที่คุณแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว!
อาการอย่างหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยหลังจากคลอดลูก นั่นคือ “ซึมเศร้า” ซึ่งอาการซึมเศร้านี้มีหลายระดับ แบ่งเป็น
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Maternity Blues หรือ Postpartum Blues)
คุณแม่หลายคนอาจจะคิดว่าตัวเองคงไม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เพราะก่อนคลอดลูก คุณแม่ก็มีความสุขดี ปกติดีทุกอย่าง แต่เมื่อคุณแม่คลอดลูกแล้ว อาจเกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้โดยไม่ได้ตั้งตัว จากการศึกษา พบว่า คุณแม่ร้อยละ 65-80 เคยผ่านการเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดยภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ ตั้งแต่ 2-3 วันแรก ไปจนถึง 2 สัปดาห์หลังคลอด อาการที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ ไม่มีความสุข รู้สึกวิตกกังวล ไม่มั่นคงทางอารมณ์ รู้สึกไม่สบายใจ เศร้าใจ เสียใจ
- โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression)
หากคุณแม่เริ่มมีอาการที่หนักมากยิ่งขึ้น และอาการเหล่านั้นมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น คุณแม่อาจกำลังเป็น “โรคซึมเศร้าหลังคลอด” ซึ่งมีความรุนแรงของอาการมากกว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” โดยสามารถเกิดอาหารตั้งแต่ 2-3 เดือนแรก ไปจนถึง 1 ปี หลังคลอด หากไม่ได้รับการรักษาให้ถูกวิธีและทันท่วงที อาจเกิดอาการทางจิตตามมาได้ เป็น “จิตเภทหลังคลอด” ซึ่งจะมีอาการที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ได้ยินเสียงแว่ว เกิดภาพหลอน แม้ว่าจะมีอาการที่รุนแรง แต่จิตเภทประเภทนี้เป็นจิตเภทที่พบได้ไม่บ่อยนัก
อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด ที่คุณแม่และคนรอบข้างสามารถสังเกตเห็นได้ มักจะเป็นความรู้สึกเศร้าขึ้นมาเอง เป็นอาการของจิตใจและอารมณ์ที่กระทบกับการใช้ชีวิต เช่น การกิน การนอน รู้สึกง่วงผิดปกติตลอดเวลา ถึงจะนอนพักผ่อนเยอะแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกง่วงมาก หรือคุณแม่บางคนอาจมีอาการนอนไม่หลับ บางคนกินอาหารไม่ได้ กินอาหารไม่หยุดจนผิดปกติ งานอดิเรกที่เคยชื่นชอบ ก็ทำแล้วไม่รู้สึกมีความสุขอย่างเคย เช่น ซีรีส์ที่เคยดูแล้วสนุก ตอนนี้ก็ดูแล้วไม่สนุกแล้ว ส่งผลกระทบต่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม รู้สึกอยากปลีกตัว รู้สึกแปลกแยกจากสังคม มีความคิดร้าย ๆ ความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับตัวเอง ลูก และคนรอบข้าง เช่น รู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง รู้สึกไม่อยากตื่นขึ้นมาอีก รู้สึกอยากจะทิ้งลูก คิดลบกับตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ เป็นแม่ที่ไม่ดี จิตใจอ่อนแอ เป็นแม่ที่ไม่ดีพอ เป็นแม่ที่ใช้ไม่ได้ เป็นต้น
หากมีอาการเช่นนี้ ควรรับการรักษาทันที จากประสบการณ์ของคุณหมอวิน เวลาที่คุณแม่พาลูกมาตรวจสุขภาพหลังคลอด นอกจากการถามถึงสุขภาพของลูกแล้ว คุณหมอจะถามถึงความรู้สึกและความเป็นอยู่ของคุณแม่ด้วย เพื่อเป็นการทดสอบว่า คุณแม่กำลังมีอาการที่เสี่ยงภาวะซึมเศร้าหรือไม่ เช่น คุณหมอจะถามว่า คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง เหนื่อยไหม ยังไหวอยู่ไหม ซึ่งคุณแม่บางคนได้ยินคำถามแล้วร้องไห้ทันทีเหมือนถูกปลดล็อก หรือคุณแม่บางคนก็มีท่าทีนิ่งเฉยแบบดูไม่มีอารมณ์ร่วม หากมีอาการเช่นนี้ คุณหมอจะได้ให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
ภาวะและโรคซึมเศร้าหลังคลอดนั้นสามารถรักษาได้ โดยยาที่รักษาภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าหลังคลอดนั้นมีหลายชนิด มียาหลายชนิดที่สามารถรับประทานไปพร้อมกับให้นมลูกได้ตามปกติ ซึ่งหากรับการรักษาแล้วมีความจำเป็นต้องใช้ยาที่ต้องงดนมแม่ คุณหมอก็จะแจ้งกับคุณแม่ เพื่องดการให้นมในช่วงที่ต้องรับการรักษา และหานมทางเลือกอื่นมาทดแทนนมแม่ เพราะถึงแม้ว่า นมแม่จะเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้ลูกแข็งแรง แต่สิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดคือ “แม่” มากกว่าต้องการนมแม่ คุณแม่จึงต้องรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงก่อน ลูกจึงจะแข็งแรงตามไปด้วย
จากการศึกษาพบว่า การออกกำลังกาย การออกไปเจอแสงแดด การเปิดโอกาสให้ร่างกายได้รับวิตามินดีบ้าง สำคัญสำหรับจิตใจและอารมณ์ โดยสารอาหารที่คุณแม่มักจะขาดคือ “โปรตีน” ถ้ารู้สึกว่าตัวเองรู้สึกดาวน์ ควรลดปริมาณอาหารที่มีคาเฟอีนลง จะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น นอกจากนี้ควรฝึกการให้นมลูกท่านอน จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวมากขึ้น ลดภาระในการให้นมลูกลงบ้าง ไม่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็ง ลดความเหนื่อยล้า ให้คุณแม่ได้นอนหลับไปพร้อมกับลูก
#คุณพ่อ : บุคคลสำคัญที่ช่วยคุณแม่ก้าวข้ามความเศร้า
คุณพ่อคือตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้คุณแม่หลังคลอด สามารถก้าวข้ามผ่านภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ โดยการสังเกตอาการของคุณแม่ ว่ามีพฤติกรรม และลักษณะนิสัยที่แตกต่างไปหลังจากคลอดหรือไม่ เปลี่ยนแปลงไปจนผิดปกติหรือไม่ เพราะคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังคิดลบอยู่ คุณพ่อจึงต้องเป็นคนที่คอยสังเกตว่า คุณแม่มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง คุณพ่อสามารถช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ด้วยการพูดคุยกับคุณแม่อยู่เสมอ คอยให้กำลังใจ สร้างความมั่นใจ รวมไปถึงช่วยทำงานบ้าน โดยเฉพาะในเดือนแรก เพราะคุณแม่เพิ่งผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมา ทั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ความเจ็บป่วยทางกายและทางใจ
ตัวอย่างที่คุณพ่อช่วยทำได้ ได้แก่
- ช่วยอุ้มลูก กล่อมลูก
- ล้างอุปกรณ์ต่าง ๆ
- เตรียมอาหาร
- ช่วยเยียวยาจิตใจ เพราะการรับประทานอาหารที่ดี สลับกับอาหารที่ชอบ ก็จะช่วยให้คุณแม่มีความสุขได้
สุขภาพหัวนม ปัญหาหลังคลอด สำคัญไม่แพ้นมแม่
ยิ่งใกล้ถึงกำหนดคลอด คุณแม่ก็มักจะใส่ใจกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น อวัยวะส่วนหนึ่งที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ “หัวนม” และ “ลานนม” โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด ควรสังเกตดูหัวนมและลานนมของตนเองว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง เช่น หัวนมบอด ลานนมแข็ง เป็นต้น เพื่อที่จะได้แจ้งแพทย์ให้ดูแลบริเวณนี้เป็นพิเศษ
นอกจากนี้คุณแม่ไม่ควรยุ่งกับหัวนมหรือลานนมมากเกินไป คุณแม่บางคนต้องการให้ลูกรับประทานน้ำนมเหลือง จึงเริ่มเก็บน้ำนมตั้งแต่ก่อนคลอด ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ควรทำ เพราะการยุ่งกับหัวนมและลานนมก่อนเวลาอันควรอาจเป็นการกระตุ้นให้คลอดก่อนกำหนดได้ อาจทำให้หัวนมลานนมแตก ทำให้รู้สึกเจ็บทรมานตามมาได้
อย่ารีบซื้อเครื่องปั๊มนมเร็วเกินไป หัวนมและลานนมเป็นอวัยวะที่มีการเปลี่ยนขนาดอยู่ตลอดการตั้งครรภ์ จึงควรเลือกซื้อเครื่องปั๊มนมช่วงใกล้คลอดหรือหลังคลอด เพราะขนาดของหัวนมคุณแม่อาจเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำให้เครื่องที่ซื้อมาล่วงหน้ามีขนาดไม่พอดี ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ควรให้นมแม่ด้วยการเข้าเต้าก่อน คุณแม่หลายคนมีปัญหาเรื่องน้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล จึงกังวลว่าตนเองจะไม่มีนมให้ลูกกิน รู้สึกวิตกกังวลจนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ คุณหมอวินยืนยันว่า น้ำนมเหลืองหรือน้ำนมแม่นั้นอยู่ในหน้าอกแม่ แต่อาจจะยังไม่เห็นในช่วงแรก บีบไม่ออก ถ้าคุณแม่พาลูกเข้าเต้า ลูกก็จะได้รับนมที่มีคุณค่าทางอาหารอย่างแน่นอน คุณแม่จึงควรเอาลูกเข้าเต้าสม่ำเสมอ และควรฝึกวิธีการเอาลูกเข้าเต้าตั้งแต่ที่โรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน โดยช่วงเวลาคุณแม่พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล คือช่วงเวลาที่เหมาสำหรับการเรียนรู้วิธีการให้นมแม่ที่ถูกต้อง
ท่าให้นมที่คุณแม่ควรฝึก
- การให้นมท่านั่ง มือจับประคองหัวลูกเข้าเต้า ข้อสะโพกต้องงอขึ้นเล็กน้อย จึงควรหาอะไรหนุนเท้าให้สูงขึ้น เพื่อให้หน้าขางอเข้าหาตัวเล็กน้อย ป้องกันอาการเกร็ง ปวดเมื่อย ตะคริวกิน คุณแม่สามารถปล่อยมือจากลูกได้ โดยที่ลูกไม่พลิกออกจากเต้านม
- การให้นมท่านอน
3 เทคนิคการให้ลูกดูดนมแม่หลังคลอด
- ดูดเร็ว ควรให้ลูกดูดนมแม่ให้เร็วที่สุด ภายในในชั่วโมงแรกหลังคลอด
- ดูดถูก ควรฝึกวิธีการจับประคองลูกดูดนมจากเต้าให้ถูกท่า ถูกวิธี โดยท่าที่ถูกต้องคือปากของลุกต้องครอบลานนม ปากลูกบานออกเป็นปากเป็ด คางจมเต้า จมูกชิดเต้า เพื่อให้เกิดสุญญากาศในช่องปาก ทำให้ลูกสามารถดูดน้ำนมออกมาได้อย่างถูกวิธี ช่วยให้น้ำนมแม่ไหลดี ถ้าลูกดูดผิดวิธี จะมีเสียงจั๊บ ๆ มี่เกิดจากการที่ปากของลูกไม่ชิดเต้านมแม่ ทำให้ไม่เกิดสุญญากาศภายในปากของลูก ทำให้ลูกดูดนมได้ไม่ดี น้ำนมไหลไม่สม่ำเสมอ น้ำนมไหลน้อย ทำให้ลูกรู้สึกหงุดหงิด หรืออาจทำให้ลูกเคี้ยวหัวนมเพื่อให้น้ำนมไหลออกมา ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้หัวนมและลานนมแตก บาดเจ็บได้
- ดูดสม่ำเสมอ คุณแม่ควรพาลูกเข้าเต้าเพื่อกินนมเป็นประจำสม่ำเสมอ ตามความหิวและความอิ่มของลูก ต่อให้ไม่มีน้ำนม หรือมีน้ำนมน้อย คุณแม่ก็ควรพาลูกเข้าเต้าสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นการผลิตน้ำนมแม่
อ่านต่อ..ไขข้อสงสัย ปัญหาหลังคลอด ที่แม่มือใหม่ต้องเจอ
กับหมอวิน เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ ที่คุณแม่มือใหม่ต้องเจอ กับหมอวิน เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ ..ที่หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่