แผลผ่าตัดคลอด จะกลายเป็นแผลเป็นนูนหรือไม่ และคุณแม่จะมีวิธี ป้องกัน แผลเป็นนูน หลังผ่าคลอด ได้อย่างไร พญ.ญาดา มโนมัยพันธุ์ (หมอแนน) แพทย์ผิวหนังประจำศูนย์ผิวหนังโรงพยาบาลสุขุมวิท เจ้าของเพจหมอมัมมีเคล็ดลับมาฝากค่ะ
สวัสดีค่ะหมอแนน เพจหมอมัมค้า…
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หลายๆ ท่าน อาจจะมีความกังวลว่า ถ้าคลอดลูกด้วยการผ่าตัดทางหน้าท้องนั้น จะทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้หรือไม่ รอยแผลผ่าตัดจะกลายเป็นแผลเป็นนูนใหญ่ขึ้นมารึเปล่า จะป้องกันและรักษาได้อย่างไร วันนี้หมอแนนมีคำตอบมาให้ค่ะ
เผยเคล็ดลับ! ป้องกัน “แผลเป็นนูน” หลังผ่าคลอด
แผลเป็นนูนหรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า แผลคีลอยด์ (Keloid Scar) หมายถึง ลักษณะการหายของแผลเป็นที่ขยายขนาดโตกว่า หนากว่า ขอบเขตของแผลเดิม ส่วนมากมักจะมีสีที่เข้มขึ้น สีชมพูอมม่วง อาจจะมีอาการเจ็บ คัน ระคายเคืองร่วมด้วยได้ค่ะ
แต่ไม่ใช่ทุกคนนะคะที่การหายของแผลจะกลายเป็นแผลเป็นนูน ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดคีลอยด์นั้น ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม (กรณีมีคนในครอบครัวเป็น อาจจะมีโอกาสเป็นได้มากขึ้น) คนเอเชียและคนผิวสีจะมีโอกาสเกิดคีลอยด์ได้มากกว่าคนผิวขาว และช่วงอายุน้อยๆ (ไม่เกิน 30 ปี) จะมีโอกาสเกิดมากกว่าค่ะ
ที่สำคัญนะคะ รอยแผลผ่าตัดที่เป็นเส้นตรงเล็กๆ นี้ ส่วนมากจะนูนและขยายขนาดขึ้น ภายในช่วง 1 ปีแรกหลังคลอด แต่สามารถเกิดได้เร็วสุดตั้งแต่เดือนแรกเลยทีเดียวค่ะ ดังนั้น หมอจึงแนะนำให้คุณแม่ที่มีแพลนจะผ่าตัดคลอดอยู่แล้ว เตรียมอุปกรณ์ที่จะช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดแผลเป็นนูนไว้ล่วงหน้าเลยค้า นั่นคือ
- Silicone sheet แผ่นซิลิโคนสำหรับปิดแผลเป็น เช่น Mepiform® (สามารถกันน้ำได้ ปิดแผลได้ตลอด 24 ชั่วโมง), Cica Care® (ซิลิโคนนุ่มกว่า แต่ต้องแกะออกเวลาอาบน้ำ) เป็นต้น
- Silicone gel สำหรับทาแผลเป็น เช่น Dermatix Ultra® Strataderm® เป็นต้น
- กางเกงในสำหรับใส่หลังผ่าคลอดแบบเต็มตัว (เพื่อลดโอกาสการเสียดสีบริเวณแผลผ่าตัด)
การดูแลแผลหลังคลอดด้วยตัวเอง ป้องกัน “แผลเป็นนูน”
การดูแลแผลหลังคลอดด้วยตัวเอง ตามประสบการณ์ของหมอนะคะ หลังจากที่แผลแห้งแล้ว ก็จะเริ่มทา Silicone gel และปิด Silicone sheet ไว้ตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ หมอจะมีแกะออกมาเพื่อนวดตัวเจลประมาณวันละ 2-3 ครั้ง และปิดเอาไว้ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ จนกว่าตัว Silicone sheet จะเริ่มติดไม่อยู่ค่ะ โดยเฉลี่ย 1 แผ่นจะใช้ได้นาน 3-4 สัปดาห์เลยทีเดียว โดยทั่วๆ ไปหมอจะแนะนำให้ปิดแผลไว้อย่างนี้ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 1 เดือน แต่ในคนที่มีประวัติเกิดคีลอยด์ได้ง่าย อาจจะปิดไว้นานถึง 3 เดือนได้เลยค่ะ
หากเกิดแผลเป็นนูนแล้วจะทำอย่างไรดี
หมอแนะนำให้รีบมาพบแพทย์ผิวหนังทันทีที่รู้สึกว่าแผลเป็นเริ่มนูนแข็ง ขยายตัวขึ้นกว่าเดิมนะคะ เพราะการรักษายิ่งเร็วเท่าไร ยิ่งได้ผลดีที่สุดค่ะ โดยการรักษาเบื้องต้นสามารถที่จะใช้ยาสเตียรอยด์ ฉีดเข้าไปบริเวณคีลอยด์เผื่อลดการอักเสบ ลดขนาด และทำให้แผลเป็นนุ่มขึ้นได้ค่ะ โดยจะต้องฉีดทุกๆ 3-4 สัปดาห์จนกว่าจะเรียบ ร่วมกับการทา Silicone gel และแปะ Silicone sheet ไว้ตลอดเวลาด้วยค่ะ ในส่วนของสีที่อาจจะเข้มกว่าผิวหนังบริเวณปกติ อาจจะทา Silicone gel ที่มีส่วนผสมช่วยปรับสีผิวต่อไปเรื่อยๆ ได้ หรือใช้เลเซอร์กลุ่มที่ลดรอยแดงควบคู่ไปด้วยได้เช่นกันค่ะ
- แผลผ่าคลอดอักเสบ ปวด คัน เป็นหนอง ต้องทำอย่างไร?
- 10 พิกัดอยู่ไฟหลังคลอด สไตล์คุณแม่ยุคใหม่ ช่วยแม่พื้นตัวเร็ว
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดลูก คุณแม่มือใหม่ต้องพร้อมรับมือ
สุดท้ายนี้อยากจะฝากเคล็ดลับการดูแลแผลผ่าตัดนี้ ให้คุณแม่ที่กำลังจะมีแพลนผ่าตัดคลอดทุกคนนะคะ เพราะการป้องกันไม่ให้เกิดคีลอยด์นั้น ง่ายและคุ้มค่ากว่าการรักษาคีลอยด์แน่นอนค่ะ
และเพื่อการกลับมาใส่ชุดว่ายน้ำ bikini กันได้แบบไม่ต้องกังวลรอยแผลผ่าคลอดกันค่ะ
พญ.ญาดา มโนมัยพันธุ์ (หมอแนน)
แพทย์ผิวหนังประจำศูนย์ผิวหนังโรงพยาบาลสุขุมวิท
เจ้าของเพจหมอมัม
Heatlh Quotient ฉลาดดูแลสุขภาพ หนึ่งใน Power BQ 10 ความฉลาดที่เด็กยุคใหม่ควรมี เริ่มต้นได้ตั้งแต่ในท้องแม่ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ เตรียมพร้อมหาข้อมูลต่างๆ ในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและปลอดภัยกับลูกในท้อง เพื่อส่งต่อสุขภาพที่ดีสู่ลูกน้อยในครรภ์ เป็นต้นทุนชีวิตที่ดีตั้งแต่แรกเกิดให้กับลูกน้อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตามสาระความรู้ การดูแลผิวคุณแม่ท้องและลูกน้อย
และเคล็บลับเลี้ยงลูกในมุมของหมอผิวหนัง กับคุณหมอญาดา
ได้ที่ เพจหมอมัม
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ