ลาคลอด สิทธิและประโยชน์ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับตามกฎหมาย ลาคลอดได้กี่วัน ในระหว่างลาคลอดได้รับค่าจ้างหรือไม่ ถ้าได้จะได้จำนวนเท่าไหร่ ต้องดำเนินการอย่างไร
ลาคลอด สิทธิและสวัสดิการ ของคุณแม่ลูกอ่อน
คุณแม่หลังคลอดต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆมากมาย เช่น แผลหลังคลอด การเอาลูกเข้าเต้า การอาบน้ำลูก เป็นต้น ดังนั้นการ ลาคลอด เพื่อให้คุณแม่ได้จัดสรรชีวิตครอบครัวให้ลงตัว เตรียมพร้อมเพื่อไปทำงานได้อย่างราบรื่น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่กฎหมายได้ระบุไว้ รายละเอียดเป็นอย่างไร ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้วค่ะ
ลาคลอด สิทธิและสวัสดิการ ของคุณแม่ลูกอ่อน
กฎหมายใหม่ สิทธิลาเพื่อคลอดบุตร
เพิ่มวันลาคลอด จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน
และการลาเพื่อคลอดบุตรหมายความรวมถึงการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดด้วย
ซึ่งหมายถึง วันที่ลูกจ้างลาไปตรวจครรภ์ก็ให้นับรวมใน 98 วันด้วย
ส่วนการจ่ายค่าจ้างในวันลา ไม่มีการแก้ไข คือลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงที่ลา 45 วัน เช่นเดิม
ส่วนอีก 8 วันที่เพิ่มขึ้น (ในกรณีลูกจ้างใช้สิทธิลาครบ 98 วัน) นายจ้างจะจ่ายหรือไม่ ก็แล้วแต่ตกลงกัน ซึ่งควรจะตกลงให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
กรณีลาคลอดแล้วเกิดแท้งลูก
มีประเด็นถามกันมาตลอด คือ ลูกจ้างลาคลอดแล้วปรากฎว่าลูกจ้างแท้งลูก ลูกจ้างยังหยุดงานต่อไปหรือจะต้องกลับเข้าทำงานหลังจากพักฟื้นร่างกายแล้ว กรณีนี้ กฎหมายมิได้เขียนไว้ และศาลไม่เคยตัดสินไว้ เช่นนี้ เมื่อลูกจ้างไม่มีบุตรที่ต้องเลี้ยงดูหลังคลอด สิทธิหยุดงานเนื่องจากลาคลอดน่าจะสิ้นสุดลงภายหลังจากที่สุขภาพของลูกจ้างได้พักฟื้นเป็นปกติพร้อมที่จะทำงานต่อไป ฉะนั้น หากนายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ลูกจ้างจะต้องกลับไปทำงานต่อไป
กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการแก้กฎหมายลาคลอด เพื่อคุ้มครองค่าจ้างทั้ง 98 วัน
โฆษกกระทรวงแรงงาน ได้แจงว่า กระทรวงแรงงานเดินหน้าปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนวันลาคลอดให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองทั้ง 98 วัน โดยสำนักงานประกันสังคมและนายจ้างรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างคนละครึ่ง
นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า แม้สิทธิการลาเพื่อคลอดบุตรจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน แต่ลูกจ้างยังมีความกังวลว่าจะได้รับค่าจ้างในส่วนวันลา 8 วัน หรือไม่ อย่างไรนั้น กระทรวงแรงงานเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ในเบื้องต้น ขอชี้แจงว่า ข้อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบัน กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างลา แต่ไม่เกิน 45 วัน โดยลูกจ้างยังมีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมอีก ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน จึงเห็นได้ว่า จำนวนวันลา 8 วันที่เพิ่มขึ้นนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องค่าจ้าง
ดังนั้นในเรื่องนี้กระทรวงแรงงาน จึงได้ดำเนินการให้สำนักงานประกันสังคมเสนอปรับแก้ไขกฎหมาย เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้าง โดยจะปรับเพิ่มประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตน จากร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน เป็นร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 98 วัน ซึ่งจะมีผลให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างในวันลาเพิ่มขึ้น จากสิทธิเดิม อีก 4 วัน ในส่วนของค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร อีก 4 วัน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานประเมิลผลสัมฤทธิ์กฎหมาย เพื่อปรับแก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้าง ต่อไป ในส่วน อนุสัญญา ฉบับที่ 87 และ 98 อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. … ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะนำเข้า ครม. และสภาฯ ต่อไป เมื่อผ่านสภาฯ แล้ว จะนำไปสู่ขั้นตอนการรับรองอนุสัญญาฯ ต่อไป
ค่าจ้างในช่วงลาคลอด
ตามกฎหมายจะได้รับเงินจาก 2 ช่องทาง ดังนี้ั
- จากนายจ้าง ได้รับสิทธิ์การลาคลอดไม่เกิน 98 วัน และได้รับค่าจ้างจากนายจ้างจำนวน 45 วัน เช่น เงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างจำนวน 15,000 บาท (คำนวณมาจากรายได้เฉลี่ยที่คิดเป็นรายวัน (10,000 / 30) x 45 วัน)
- จากสำนักงานประกันสังคม ผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิ (คำนวณจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ถ้าคุณแม่มีเงินเดือน 15,000 บาท หรือสูงกว่า 15,000 บาท ก็จะได้เท่ากับ 15,000 x 3 เดือน (90 วัน) x 0.5 = 22,500 บาท และสามารถใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)
อ่านต่อ…ลาคลอด สิทธิและสวัสดิการ ของคุณแม่ลูกอ่อน คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่