เหงื่อ ออกเยอะตื่นมาให้นมหลังเปียกชุ่ม แบบนี้เป็นเรื่องผิดปกติหรือเปล่า อาการหลังคลอดลูกแบบไหนที่เป็นเรื่องปกติ แบบไหนที่ควรเฝ้าระวัง วันนี้มาฟังคำตอบกัน
เหงื่อ ออกมากหลังคลอด..ผิดปกติหรือเปล่า?
เมื่อเราเข้าสู่ภาวะการตั้งครรภ์ คุณแม่จะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- น้ำหนักตัว ตลอดการตั้งครรภ์ น้ำหนักจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นช่วง 3 เดือนแรกจะเพิ่มไม่มาก ไม่เกิน 2 กิโลกรัมต่อเดือน ตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักควรเพิ่มอย่างน้อยประมาณ 10-12 กิโลกรัม
- ขนาดของมดลูกและหน้าท้อง เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นหน้าท้องจะขยายออกมากขึ้น ช่วงหลังตั้งครรภ์ไป 3 เดือน อาจคลำพบก้อนแข็งนูนขึ้นมาเหนือหัวเหน่า นั่นคือ มดลูกที่โตจากอุ้งเชิงกรานจนไปถึงระดับสะดือ เดือนที่ 8-9 เป็นช่วงที่รู้สึกอึดอัดมาก เพราะยอดมดลูกโตขึ้นมาถึงระดับลิ้นปี่
- เต้านมขยาย จากเดือนที่ 2 ขึ้นไป เส้นเลือดที่เต้านมจะขยาย หัวนมจะขยายใหญ่และมีสีคล้ำ อาจจะมีก้อนนูนที่ใต้รักแร้ ซึ่งเป็นส่วนปลายของเต้านมที่เจริญเติบโต
- ผนังหน้าท้องลาย ผิวหน้าท้องจะยืดขยายคล้ายแตกออกที่เรียกว่าท้องลาย
- ช่องคลอดเปลี่ยนแปลง มีมูกและตกขาวเพิ่มขึ้น ถ้าตกขาวไม่มากถือว่าปกติ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่แต่เพียงภายนอก หากมีอาการผิดปกติ มีสีผิดปกติ หรือมีกลิ่นเหม็นควรไปพบแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รพ.เปาโล
แต่รู้หรือไม่ว่า หลังคลอดคุณแม่ก็ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอีกครั้ง ระยะหลังคลอดหรือระยะอยู่ไฟ เป็นช่วงที่ร่างกายปรับตัวคืนสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนการตั้งครรภ์ ระบบต่างๆ ในร่างกายทั้งทางร่างกายและจิตใจก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ดังนี้
- มดลูก จะโตและอยู่สูงจากระดับสะดือทันที่ที่หลังคลอด และจะลดขนาดลงเพื่อเข้าสู่สภาพปกติวันละครึ่งนิ้ว เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “มดลูกเข้าอู่” หลังการคลอดใน 24 ชั่วโมงแรกบริเวณที่รกเกาะจะเป็นแผลใหญ่และมีเลือดซึมออกมา ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้มากที่สุดในระยะ 10-14 วันแรกของการคลอด จึงต้องเฝ้าระวังและดูแลรักษาเป็นพิเศษในระยะสำคัญนี้
- เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก เนื้อเยื่อส่วนชั้นผิวที่เหลืออยู่จะถูกร่างกายขับออกมาให้เห็นเป็นเลือดตั้งแต่หลังคลอดจนถึง 3 สัปดาห์หรือ 6 สัปดาห์ในบางรายหลังคลอด ซึ่งเราเรียกว่า “น้ำคาวปลา” ส่วนในชั้นเยื่อบุโพรงมดลูกป็นส่วนที่อยู่ติดกับเนื้อมดลูก ภายใน 3 สัปดาห์ก็จะมีการเจริญจนเต็มโพรง แต่จะกินเวลานานถึง 6 สัปดาห์ ในส่วนที่รกเกาะหากไม่มีการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะทำให้กลายเป็นแผลเป็น ซึ่งการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปจะมีอันตรายได้
- ช่องคลอดและปากช่องคลอด เป็นอวัยวะที่ผนังมีการหย่อนมากกว่าเดิม ไม่สามารถกลับสู่สภาพปกติเหมือนตอนก่อนคลอดได้ ส่วนที่ควรหมั่นสังเกตคือ รอยแผลฝีเย็บสำหรับผู้ที่คลอดบุตรเอง หากมีอาการบวม และอักเสบแสดงว่ามีการติดเชื้อเข้าไปภายในช่องคลอดได้
- ระบบปัสสาวะ ส่วนนำของทารกจะไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะในระหว่างการคลอด ทำให้ผนังใต้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะเกิดบวม มีเลือดคั่งและเลือดออก ความจุของกระเพาะปัสสาวะจะมีมากขึ้น มีความยืดหยุ่นลดน้อยลง ทำให้เกิดการโป่งของกระเพาะปัสสาวะ เมื่อถ่ายปัสสาวะก็จะถ่ายออกได้ไม่หมด นอกจากนั้น ใน 1-2 วันแรกหลังคลอด ยังอาจพบโปรตีนในปัสสาวะด้วย ซึ่งภาวะนี้จะเกิดร่วมกับการขยายตัวของหลอดไตและกรวยไต จึงทำให้ทางเดินปัสสาวะมีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ในเวลา 8-12 สัปดาห์ กรวยไตและหลอดไตที่ขยายตัวก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ
- ระบบไหลเวียนของเลือดและหัวใจ มดลูกจะมีการหดรัดตัวทันทีหลังคลอด เพื่อไล่เลือดในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกเข้าสู่ระบบไหลเวียน ในร่างกายจึงมีปริมาณเลือดไหลเวียนเพิ่มมากขึ้นกะทันหัน แต่มารดาที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวหัวใจหรือหลอดเลือดก็จะไม่เกิดอันตรายขึ้น เพราะระหว่างการคลอดที่มีการเสียเลือดจะช่วยรักษาสมดุลเอาไว้ได้
- การเปลี่ยนแปลงของเต้านม ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากรกจะหมดไปภายหลังการคลอด ทำให้ต่อมปิทูอิตารี่ส่วนหน้าเกิดการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน ส่งผลให้มีน้ำนมเกิดขึ้น
- การตกไข่และการมีประจำเดือน ระยะหนึ่งหลังจากการคลอดจะไม่มีการตกไข่และไม่มีประจำเดือน และในรายของมารดาที่ให้นมบุตรก็จะมีช้ากว่ารายที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมของตัวเอง ใน 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ รังไข่จะหยุดทำงานจึงทำให้ไม่มีประจำเดือน และเป็นผลจากการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากรกด้วย หลังคลอดใน 4-6 สัปดาห์ หากไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองประจำเดือนก็จะกลับมา
- อุณหภูมิ อุณหภูมิของร่างกายอาจสูงขึ้นได้ภายหลังการคลอด 24 ชั่วโมงแรก แต่จะไม่เกินไปกว่า 38 องศาเซลเซียส สำหรับในรายที่มีการติดเชื้อก็อาจมีอุณหภูมิของร่างกายสูงเกินและนานกว่านี้ก็ได้
- ผมร่วงหลังคลอด ภาวะนี้จะเกิดกับแม่หลังคลอดได้ถึงร้อยละ 50 แต่จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว และจะกลับมาสู่ปกติมีผมใหม่มาแทนที่ประมาณ 6-12 เดือนหลังคลอด
- การเปลี่ยนแปลงของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ในระหว่างเจ็บครรภ์น้ำหนักของแม่จะลดลงจากการเสียน้ำทางเหงื่อ และการหายใจร่วมกับน้ำหนักของเด็ก และรกไปประมาณ 5.5 กิโลกรัม และในสัปดาห์แรกของเหลวจะถูกขับออกมาอีกประมาณ 2 ลิตร ทำให้น้ำหนักของมารดาลดลงไปอีกประมาณ 4 กิโลกรัม และของเหลวจะถูกขับออกมาอีกประมาณ 1.5 ลิตรในอีก 5 สัปดาห์ต่อมา และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่บางคนเกิดอาการเหงื่อออกมากจนผิดสังเกต จนเกิดเป็นข้อกังวลใจให้มาตั้งคำถามว่า เป็นอาการปกติหลังคลอดจริงหรือไม่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก healthcarethai
มาดูการทำงานของเหงื่อกัน
ร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยอวัยวะต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกัน เกิดเป็นกระบวนการต่างๆ ซึ่งกระบวนการเมตาบอลิซึ่ม (Metabolism) ก็เป็นอีกกระบวนการทำงานที่สำคัญของร่างกาย ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงอาหารที่เราทานเข้าไปให้เป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายเกิดความร้อน ซึ่งเมื่อร่างกายเกิดความร้อน ร่างกายก็จะมีกลไกในการควบคุมหรือระบายความร้อน นั้นออกมาในรูปแบบของ “เหงื่อ” เพื่อให้ความร้อนในร่างกายอยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือเรียกว่า “การหลั่งเหงื่อ คือการถ่ายเทความร้อนที่เกิดจากกระบวนการต่างๆ ในร่างกายออกไป”
อาการเหงื่อออกมากนั้นจะเป็นภาวะอย่างหนึ่งในทางการแพทย์ ซึ่งเราเรียกได้ว่า “ภาวะเหงื่อออกมาก หรือภาวะเหงื่อออกง่าย Hyperhidrosis” คือ ภาวะที่ร่างกายมีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ ถึงแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้อต่ออาการเหงื่อออกก็ตาม เช่น อากาศหนาวเย็น
เหงื่อแบบไหนปกติ
หากคุณมีอาการเหงื่อออกมากเพียงอย่างเดียว ก็สามารถดูแลตนเองได้ง่าย ๆ เช่น ดื่มน้ำทดแทนเหงื่อที่สูญเสียไป ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งโล่งสบาย ลดอุณหภูมิห้องลง เป็นต้น
เหงื่อแบบไหนผิดปกติ
หากอาการเหงื่อออกมากผิดปกติของคุณแม่หลังคลอด มาพร้อมกับอาการเหล่านี้ ได้แก่
- มีไข้
- ปวดในช่องท้องส่วนล่าง หรือกระดูกเชิงกราน
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
- ผิวซีดซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการเสียเลือดในปริมาณมาก
- หนาวสั่น
- ปวดหัว
- เบื่ออาหาร
- ชีพจรเต้นเร็ว ใจสั่น
- ปัสสาวะลำบาก และเจ็บ
นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า อาการเหงื่อออกมาผิดปกติของคุณแม่หลังคลอดอาจไม่ใช่เรื่องปกติเสียแล้ว เพราะคุณอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะติดเชื้อรุนแรงหลังคลอดได้ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน นับเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดของภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของแม่
ความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังคลอด ขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ในการคลอดลูกโดย
- หากคลอดด้วยวิธีคลอดปกติ จะมีโอกาสติดเชื้อหลังคลอดประมาณ 1 – 3 เปอร์เซ็นต์
- หากผ่าคลอด โดยนัดวันผ่าก่อนเริ่มเจ็บท้อง จะมีโอกาสติดเชื้อหลังคลอดประมาณ 5 – 15 เปอร์เซ็นต์
- หากผ่าคลอด แบบไม่กำหนดเวลา โดยผ่าหลังจากเริ่มเจ็บท้องแล้ว จะมีโอกาสติดเชื้อหลังคลอดประมาณ 15 -20 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นเมื่อคุณแม่หลังคลอดพบอาการเหงื่อออกที่ผิดปกติ หากไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยก็สบายใจได้ว่าเป็นอาการหลังคลอดปกติ ที่ร่างกายของคุณแม่ทำการปรับตัวให้กลับมาสู่ภาวะปกติก่อนการตั้งครรภ์นั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรประมาท หมั่นเช็กอาการ สุขภาพ และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหลังคลอด ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายอื่น ๆ ตามมาได้
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก healthline.com/OB- GYM CMU
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ทำไมต้องผ่าคลอด ข้อบ่งชี้ที่แม่เลือกคลอดเองตามธรรมชาติไม่ได้!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่