รวมเรื่องที่แม่มือใหม่ต้องรู้!! รวมวิธี การดูแลทารกแรกเกิด เข้าใจง่าย โดย พี่กัล – กัลยา เพจ “พี่กัลนมแม่” พยาบาลมือโปรด้านนมแม่และดูแลเด็ก
10 วิธี การดูแลทารกแรกเกิด แม่มือใหม่เข้าใจง่าย!
ฉบับพยาบาลมือโปร
สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ การมีลูกคือความท้าทายอย่างหนึ่งในชีวิต ที่ต้องมีการเตรียมตัวมากมาย ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความพร้อมในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนคลอด และหลังคลอด การเป็นคุณพ่อคุณแม่นั้นเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่และต้องแลกมาด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่เราก็สามารถรับมือได้ หากมีการเตรียมตัวล่วงหน้า วันนี้ ทีมแม่ ABK ขอพาทุกคนไปพบกับ พี่กัล – คุณกัลยา โตใหญ่ดี หรือ “พี่กัล” พยาบาลมือโปรด้านนมแม่และดูแลเด็ก จากเพจ “พี่กัลนมแม่” ที่จะมาแนะนำเทคนิค การดูแลทารกแรกเกิด เตรียมตัวหลังคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่ แบบครอบคลุมแทบทุกเรื่องที่คุณแม่ควรรู้
ภาวะหลังคลอดที่ส่งผลต่อคุณแม่ ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด ที่คุณแม่ยังต้องพักฟื้นอยู่โรงพยาบาล ในช่วงเวลานี้ คุณแม่ส่วนใหญ่จะยังมุ่งความสนใจไปที่ตัวเองเป็นหลัก เนื่องจากเพิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงกับร่างกายของคุณแม่ คุณแม่ยังรู้สึกเจ็บปวดแผลจากการคลอดลูก และรู้สึกอ่อนเพลีย
หลังจากคลอดลูกประมาณ 3 วัน คุณแม่จึงจะเริ่มสนใจลูกมากขึ้น ซึ่งปัญหาที่คุณแม่มักพบเจอเมื่อออกจากโรงพยาบาล กลับถึงบ้านแล้ว คือลูกร้องไห้ไม่หยุด คุณแม่ไม่รู้ว่าลูกต้องกินนมเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ ต้องอุ้มกล่อมลูกอย่างไร ต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร
การดื่มนมแม่เป็นเรื่องสำคัญ นมแม่เป็นนมที่ดีที่สุด มีสารอาหารครบถ้วน 200 กว่าชนิด มีภูมิคุ้มกันที่ไม่มีในนมผง จึงเหมาะสำหรับเด็กวัยแรกเกิด จนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งลูกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้การให้ลูกดื่มนมแม่ ยังเป็นวิธีการป้องกันมะเร็งในคุณแม่อีกด้วย
1. เทคนิคอาบน้ำลูก การดูแลทารกแรกเกิด
การดูแลทารกแรกเกิด ก่อนอาบน้ำลูก ควรปรับอุณหภูมิร่างกายของลูก ห้องที่ลูกอยู่ รวมถึงห้องที่อาบน้ำลูกให้เหมาะสม ด้วยการปิดแอร์ ปิดพัดลม เพราะอาจทำให้ลูกรู้หนาวได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมน้ำในกะละมังให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร จากก้นกะละมัง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกลื่นหลุดมือ และจมน้ำ อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมคือประมาณ 37 องศาเซลเซียส คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกอาบน้ำอุ่นในช่วงอายุเดือนแรก หลังจากนั้นจึงเริ่มอาบน้ำอุณหภูมิปกติได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกผิวแห้ง
ขั้นตอนการอาบน้ำ
เริ่มจากการแกะเสื้อผ้าของลูกออก ก่อนที่จะแกะผ้าอ้อมออกเป็นอย่างสุดท้าย ห่อตัวแบบเปิดศีรษะ เพื่อสระผมให้ลูก จับลูกให้มั่น มือประคองท้ายทอยให้ตัวลูกแนบกับลำตัวของเรา วักน้ำล้างหน้า และรดน้ำที่ศีรษะของลูก กดแชมพูใส่มือ แล้วถูให้ทั่ว นวดศีรษะให้ลูกรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด เช็ดศีรษะของลูกให้แห้ง กดสบู่ถูที่ตัว โดยเว้นบริเวณมือของลูกไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเอาสบู่เข้าปาก ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้สึกเมื่อย ไม่ถนัด สามารถอุ้มลูกออกมาถูตัวข้างนอกอ่าง เสร็จแล้วจึงค่อยอุ้มเข้ามาล้างตัวในอ่างก็ได้
ขั้นตอนการล้างตัวลูก
ล้างมือของลูกเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะล้างทั้งตัว อุ้มลูกออกมาวางข้างนอกอ่างอาบน้ำ เช็ดตัวลูกให้แห้ง แล้วชะโลมผิวด้วยโลชั่นบำรุงผิว ห่อตัวลูกแบบปิดศีรษะ เป็นวิธีการห่อตัวที่เหมาะสำหรับเวลาที่อากาศหนาวเย็น หรือช่วงวัยที่ลูกยังต้องการความอบอุ่นเป็นพิเศษ เช่น วัยแรกเกิด หรือเวลาที่ลูกงอแง โดยการห่อตัวแบบนี้จะเปิดเฉพาะบริเวณใบหน้าของลูก ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการพับผ้าเป็นสามเหลี่ยม ทำเป็นหมวกคลุมผม พับบริเวณคาง ใช้แขนลูกหนีบชายผ้า 1 ข้างเอาไว้ ก่อนที่จะนำแขนของลูกอีกข้างลงมา แล้วนำผ้ามาห่อพันไว้
2. การดูแลทารกแรกเกิด อุ้มเรอ หลังกินนม
เป็นขั้นตอนการนวดเพื่อไล่ลม ลดอาการท้องอืด ปวดท้อง ไม่สบายตัว โดยเด็กเล็กมักเกิดอาการท้องอืด เนื่องจากการทำงานของระบบทางเดินอาหารยังไม่สมบูรณ์ ลูกขับลมเองได้ยาก นอกจากนี้ การกินนมและร้องไห้ยังทำให้ลูกมีโอกาสได้รับลมเข้าไปในระบบทางเดินอาหารมากขึ้นอีกด้วย
อาการท้องอืด
วิธีสังเกตอาการท้องอืดของลูกคือ ลูกร้องกวน ร้องโยเย แอ่นตัว มือเท้าหงิก ลูกไม่สบายท้อง ท้องกาง เมื่อลองเคาะไปที่ท้องจะดังป๊อกๆ แสดงว่ามีลมในท้อง คุณพ่อคุณแม่สามารถอุ้มลูกเรอได้หลายช่วงเวลา ทั้งหลังกินนม และระหว่างกินนม บางครั้งอาจต้องอุ้มเรอก่อน ค่อยนำลูกกลับมาเข้าเต้าใหม่อีกครั้ง
วิธีการอุ้มเรอ
ให้นำสันมือวางที่ตำแหน่งลิ้นปี่ของลูก โน้มตัวลูกไปข้างหน้า ให้น้ำหนักของลูกทิ้งไปที่ฝ่ามือ จะทำให้ลูกเรอง่ายขึ้น ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าลูกจะรู้สึกสบายตัวมากขึ้น ท่าอุ้มพาดบ่า ให้อุ้มลูกมาวางพาดบนบ่า โดยให้ลิ้นปี่ของลูกอยู่บริเวณหัวไหล่ของแม่
3. การนวดท้องท่าไอเลิฟยู
วิธีการนวดท้องลูกด้วยการนวดวนเป็นรูปตัวไอ แอล และยู
- ไอ เริ่มจากการใช้นิ้วมือกดลากจากใต้ราวนมลงมาที่ขาหนีบของลูก
- แอลคว่ำ นวดวนจากราวนมด้านซ้ายลงไปที่ขาหนีบของลูก
- ยู นวดจากขาหนีบขวาไปที่ขาหนีบซ้าย
นอกจากนี้ยังมีท่าอื่น ๆ ที่ช่วยให้ลูกรู้สึกสบายตัวขึ้น เช่น การปั่นจักรยานอากาศ ช่วยให้ขับลมและขับถ่ายง่ายขึ้น
4. การดูแลทารกแรกเกิด อุ้มลูกดูดนมจากเต้า
อุ้มลูกดูดให้ถึงลานนม วางหมอนรอบตัว ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ล็อคคอลูก ให้ลูกนอนตะแคงเพื่อให้ลูกนอนสบายและถนัด อย่านอนหงายแบบบิดหัว ใช้แขนประคองหลังลูก โกยนมให้หัวนมชี้ ถ้าลูกอ้าปากให้เอาคางลูกเข้าไปก่อน ถ้าลูกไม่อ้าปากให้เอาหัวนมเขี่ยไปที่ปากของลูกเพื่อกระตุ้นให้อ้าปาก จัดท่าให้คางของลูกชิดด้านล่างเต้า ให้ลูกอ้าปากกว้าง ๆ ให้ปากบาน ปากด้านบนมาประกบกับเต้าด้านบน
ถ้าลูกดูดไปนิดนึงแล้วเผลอหลับ ให้บีบเต้านม 5 วินาที เพื่อกระตุ้นให้เต้ากระเพื่อม เป็นการปลุกลูกให้ตื่น ถ้าลูกยังไม่ตื่น ให้เขี่ยข้างแก้มให้ลูกตื่น ถ้าลูกยังไม่ตื่นอีก ให้เอาออกจากตักมานั่งที่หมอนให้ตื่นก่อน แล้วจึงให้ลูกกินนมต่อ
โดยช่วงแรก ควรให้ลูกดูดนม 15-20 นาที/เต้า ถ้าลูกดูดถูกวิธี ปากของลูกจะดูดติดกับเต้านม ดึงลูกออกจากเต้าไม่ได้ ให้คุณแม่นั่งวางแขนสบาย ๆ ได้เลย สำหรับคุณแม่ผ่าตัดคลอด มีหนัาท้องใหญ่ หัวนมสั้น หน้าอกหย่อนคล้อย อาจทำ “ท่าฟุตบอล” เพื่อเหน็บลูกที่รักแร้ได้
วันที่ 4-5 หลังคลอด เมื่อน้ำนมเริ่มไหลสม่ำเสมอดีมากขึ้น ให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า ด้วยการจดจำความรู้สึกตอนที่น้ำนมยังน้อยเอาไว้ ให้ลูกดูดนมจนเต้านิ่ม บีบแลัวน้ำนมไม่พุ่ง ถ้าลูกดูด 1 ข้างจนเกลี้ยง แล้วอีกเต้ายังไม่ได้ดูด หรือดูดไปนิดเดียวแล้วลูกหลับ ปล่อยให้ลูกนอนประมาณ 1 ชั่วโมง พอลูกตื่น ให้สลับมาดูดเต้าที่ยังไม่เกลี้ยงให้เกลี้ยง
5. วิธีดูว่าคุณแม่มีน้ำนมหรือไม่
ประมาณวันที่ 4 หลังคลอด เต้านมของคุณแม่จะรู้สึกคัดตึง แสดงว่ามีน้ำนม มีน้ำนมไหลเปรอะเสื้อ รู้สึกจี๊ด ๆ ในเต้านม
6. วิธีดูว่าลูกได้รับนมเพียงพอหรือไม่
ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ลูกจะต้องฉี่ 6 ครั้ง อึ 3 ครั้ง ฉี่ของลูกควรมีสีเหลืองใส ถ้าฉี่มีสีอิฐแสดงว่าได้นมไม่เพียงพอ และลูกไม่ควรนอนนานมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน
7. การปั๊มนม
คุณแม่สามารถเริ่มเก็บน้ำนมสต๊อก ประมาณ 2 สัปดาห์หลังคลอด โดยปั๊ม 10-15 นาที ทันทีหลังจากลูกดูดเสร็จ ไม่เกิน 1 เดือนหลังจากคลอดลูก โดยแนะนำให้ใช้เครื่องปั๊มน้ำนมไฟฟ้า 2 เต้า มีงานวิจัยว่า การปั๊มน้ำนม 2 ข้าง จะช่วยกระตุ้นการไหลของน้ำนมให้ดีที่สุด โดยควรผลัดกันกระตุ้น 3-4 รอบ/วัน นำนมที่ได้ใส่ถุงเก็บน้ำนม แช่ตู้เย็นช่องธรรมดา ถ้ามีการปั๊มน้ำนมเพิ่มแล้วค่อยเอามารวมกันได้ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อครบ 5 ออนซ์จึงค่อยนำไปแช่ช่องฟรีซ
8. การฝึกลูกดูดขวดนม
เริ่มฝึกให้ลูกใช้ขวดนมได้ตั้งแต่ลูกอายุ 1 เดือนเป็นต้นไป เพราะถ้าลูกเริ่มดูดขวดนมเร็วเกินไป จะทำให้ลูกติดการดูดขวดนม ไม่ยอมดูดนมแม่ เพราะดูดขวดง่ายกว่าการดูดนมแม่ ใช้เหงือกหรือปากงับขวดก็ได้รับน้ำนมได้เลย โดยควรให้นมขวดแค่วันละ 1-2 มื้อเท่านั้น
9. การใช้นมสต๊อก
นมแม่มีอายุการเก็บดังนี้
- อุณหภูมิห้อง เก็บได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
- ห้องเปิดแอร์ เก็บได้ 4 ชั่วโมง
- ตู้เย็นช่องธรรมดา เก็บได้ 2 วัน
- ตู้เย็นช่องฟรีซแบบ 2 ประตู 3 เดือน
- ตู้แช่แข็ง เก็บได้ 6 เดือน ถึง 1 ปี
- กระติกที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้ 24 ชั่วโมง
10. วิธีละลายนมสต๊อก
ถ้าแช่นมใยตู้เย็นช่องฟรีซ ให้ย้ายลงมาช่องธรรมดา 8-12 ชั่วโมงก่อนใช้ เพื่อให้น้ำนมค่อย ๆ ละลายด้วยตัวเอง สามารถนำมาให้ลูกกินได้เลย ถ้าน้ำนมเป็นเกล็ดน้ำแข็งให้แกว่งในน้ำสักพัก เพื่อให้เกล็ดน้ำแข็งละลายก่อน ถ้าเด็กชอบกินนมอุ่น ให้อุ่นนมได้อุณภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้สูญเสียสารอาหารในนมแม่ โดยให้ลูกกินนมชั่วโมงละ 1 ออนซ์ หรือถ้าลูกแรกเกิดถึง 1 เดือน ให้ใช้สูตรคำนวณตามนี้
- น้ำหนักของลูก (กิโลกรัม) x 120 /30 จะได้ปริมาณนมที่ควรกินต่อวัน
- แล้วค่อยนำไปหารเป็นปริมาณนมต่อมื้อ
เรียกได้ว่า การดูแลทารกแรกเกิด ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้ไว้ เพื่อเตรียมรับมือ และรู้หลักวิธีการดูแลลูกที่ต้องต้องไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อถึงเวลาจะได้รับมือทัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
อยากให้ ลูกกินนมแม่ ต้องรู้! 10 อุปสรรคใหญ่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ลูกไม่เรอ ลูกเรอยาก ต้องดู! คลิปสอน วิธีจับลูกเรอ 2 วิธีทําให้ลูกเรอง่ายๆ