การผ่าคลอด โดยไม่มีข้อบ่งชี้ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอด!! - Amarin Baby & Kids
การผ่าคลอด

การผ่าคลอด โดยไม่มีข้อบ่งชี้ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอด!!

Alternative Textaccount_circle
event
การผ่าคลอด
การผ่าคลอด

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาประกาศจุดยืนเรื่อง การผ่าคลอด โดยไม่มีข้อบ่งชี้ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอดหลายอย่าง และมีความรุนแรงหลายระดับทั้งต่อมารดาและทารก

การผ่าคลอด โดยไม่มีข้อบ่งชี้ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอด!!

แม่ท้องที่อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2-3 มักจะเริ่มวางแผนคลอดลูก รวมถึงกังวลถึงความเจ็บปวดระหว่างคลอดธรรมชาติ (อ่าน คลอดธรรมชาติแบบบล็อคหลัง อีกหนึ่งทางเลือกของคุณแม่) ทำให้ต้องตัดสินใจว่าควรจะผ่าตัดคลอดหรือคลอดทางธรรมชาติดี ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงมีข้อมูลจากการประกาศจาก ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ถึงจุดยืนต่อการผ่าตัดคลอด ดังนี้

ในปัจจุบันนี้ การผ่าตัดคลอดมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและนานาประเทศ การศึกษาและการประมวลผลจาก World Health Organization (WHO) พบว่า การผ่าคลอดนั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้สูงกว่าการคลอดทางช่องคลอด และยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น รวมทั้งเกิดความสิ้นเปลืองของทรัพยากรอื่นๆ โดยไม่เกิดประโยชน์

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อกำหนดถึงอัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมที่เป็นมาตรฐานยอมรับกันทั่วโลก เพราะอัตราดังกล่าวขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ การศึกษาในประเทศไทยพบว่า อัตราการผ่าตัดคลอดในสถานพยาบาลของรัฐในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่สูง คือ ประมาณร้อยละ 30-50 และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การประเมินอัตราการผ่าตัดคลอดนั้น WHO แนะนำให้สถานพยาบาลใช้การเก็บข้อมูลแบบ Robson Classification ซึ่งเป็นวิธีการที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อประโยชน์ในการประเมิน ติดตาม เปรียบเทียบข้อมูลทั้งภายในและระหว่างสถานพยาบาล และองค์กรต่างๆ รวมทั้งใช้ในการวางแผนการพัฒนา และประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

ผ่าตัดคลอด
ผ่าตัดคลอด

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในการกำกับดูแลด้านวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ขอประกาศจุดยืนเกี่ยวกับการผ่าตัดคลอดในประเทศไทย ดังต่อไปนี้

  1. การผ่าตัดคลอด ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น คือเมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือเมื่อมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้
  2. ประชาชนควรทราบว่าการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอดหลายอย่าง และมีความรุนแรงหลายระดับทั้งต่อมารดาและทารก มากกว่าการคลอดทางช่องคลอด
  3. การผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
  4. ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเหมาะสม เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์ จนเข้าใจดีและยินยอมรับการผ่าตัด
  5. สตรีตั้งครรภ์ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดคลอดตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ควรสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการผ่าตัดคลอดได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา
  6. อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน เพราะแปรผันตามบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ
  7. สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

ประกาศ ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2562

พลอากาศโทนายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย คนที่ 18

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ 10 ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ของ การผ่าคลอด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up