คนท้องกินยาลดกรด ได้ไหมจะอันตรายต่อทารกหรือเปล่า? - Amarin Baby & Kids
คนท้องกินยาลดกรด

คนท้องกินยาลดกรด ได้ไหม กินมากไปจะเป็นอันตรายหรือเปล่า?

Alternative Textaccount_circle
event
คนท้องกินยาลดกรด
คนท้องกินยาลดกรด

คนท้องกินยาลดกรด – โดยทั่วไปแล้ว ยาลดกรดที่แพทย์สั่งหรือจำหน่ายตามร้านขายยา สรรพคุณทางยา คือ ช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร อาการเสียดท้อง และปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารอื่น ๆ ที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยในระหว่างตั้งครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 80 มักมีอาการเสียดท้องในบางช่วงของการตั้งครรภ์ เนื่องจากรกปล่อยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมา ทำให้ระบบย่อยอาหารประสิทธิภาพลดลง และอาจทำให้วาล์วเปิดปิดที่เชื่อมต่อระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารคลายตัวทำให้เกิดอาการของกรดไหลย้อน ซึ่งกรดที่ใช้ย่อยอาหารสามารถไหลย้อนกลับขึ้นไปเหนือกระเพาะอาหาร หรือบริเวณทางเดินอาหารส่วนต้นได้

นอกจากนี้ ทารกในครรภ์มักจะใช้พื้นที่มากในช่องท้อง ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้กับอวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหาร สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การที่กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปทางหลอดอาหาร กล่องเสียง และช่องปากได้

คนท้องกินยาลดกรด ได้ไหม กินมากไปจะเป็นอันตรายหรือเปล่า?

ยาลดกรดทำงานอย่างไร?

กระเพาะอาหารมีหน้าที่ย่อยทำลายอาหารให้กลายเป็นสารที่ทำให้ลำไส้สามารถดูดซึมได้ อย่างไรก็ตามอาจมีบางกรณีที่เกิดความไม่สมดุลในการผลิตกรดในกระเพาะอาหารซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้ ยาลดกรดจึงถูกนำมาใช้ เพื่อควบคุมความไม่สมดุล และช่วยคืนความสมดุลในระบบย่อยอาหารให้แก่ผู้ป่วย

ยาลดกรดอาจช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ :

  • อาหารไม่ย่อย
  • แสบร้อนกลางอก หรือกรดไหลย้อน – หรือที่เรียกว่า โรคกรดไหลย้อน  Gastroesophageal Reflux Disease: (GERD)
  • แผลในกระเพาะอาหาร
  • โรคกระเพาะ (การอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร)

ยาลดกรดสามารถบรรเทาอาการผิดปกติต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วภายในสองถึงสามชั่วโมง แต่ยาไม่ได้รักษาในสาเหตุที่แท้จริงซึ่งได้แก่กิจวัตรประจำวันที่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ  นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้ยาลดกรดในระยะยาว ควรปรึกษาแพทย์หากคุณจำเป็นต้องทานยาลดกรดเป็นประจำ โดยเฉพาะในระหว่างการตั้งครรภ์

คนท้องกินยาลดกรด
คนท้องกินยาลดกรด

ประเภทของยาลดกรด

มียาลดกรดมีหลายประเภท ภายใต้ชื่อแบรนด์ต่างๆ  ซึ่งอาจมีการตั้งชื่อตามส่วนผสมหลัก

โดยส่วนผสมที่พบในยาลดกรดแต่ละชนิด ได้แก่ :

  • อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์
  • แมกนีเซียมคาร์บอเนต
  • แมกนีเซียมไตรซิลิเกต
  • แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
  • แคลเซียมคาร์บอเนต
  • โซเดียมไบคาร์บอเนต

ยาลดกรดบางชนิดยังมียาอื่น ๆ เช่น อัลจิเนต (ซึ่งเคลือบลำไส้ของคุณด้วยชั้นป้องกัน) และซิเมติโซน (ซึ่งช่วยลดอาการท้องอืด)

ผลข้างเคียงของยาลดกรด

โดยปกติยาลดกรดจะไม่มีผลข้างเคียงมากนัก หากรับประทานเป็นครั้งคราวและตามขนาดที่แนะนำ

แต่บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ ต่อไปนี้ได้ :

  • ท้องร่วงหรือท้องผูก
  • ท้องอืดจากแก๊ส
  • ปวดท้อง
  • รู้สึกไม่สบายตัว หรืออาเจียน

ซึ่งอาการข้างต้นเหล่านี้ ควรหายไปเมื่อคุณหยุดใช้ยา

การทานยาลดกรดในขณะตั้งครรภ์ปลอดภัยหรือไม่

ยาลดกรดส่วนใหญ่ถือว่าปลอดภัยในขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร แต่ควรรับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเสมอก่อนการใช้ยา ยาลดกรดส่วนใหญ่ที่มีอยู่ตามท้องตลาด สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามมีเพียงยาลดกรดบางชนิด ที่อาจเป็นอันตรายและอาจนำไปสู่การแท้งบุตรได้ สิ่งสำคัญ คือ ต้องได้รับยาลดกรดในปริมาณที่พอเหมาะ และได้รับการอนุมัติจากแพทย์

กินยาลดกรดมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ จะเป็นอะไรไหม?

ยาลดกรดมีส่วนประกอบของสารประกอบต่าง ๆ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียมคาร์บอเนต โซเดียมไบคาร์บอเนต และอลูมิเนียม อย่างไรก็ตาม สารเหล่านี้อาจส่งผลต่อร่างกายได้แตกต่างกัน การบริโภคยาลดกรดในปริมาณมากเกินไปอาจเป็นอันตรายได้ โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดจากการบริโภคยาลดกรดบ่อยและมากเกินไป ได้แก่ การอาเจียน โลหิตจาง และ นิ่วในไต

ยาลดกรด ชนิดใดที่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์?

ยาลดกรดที่ปลอดภัยในระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ :

  • แมกนีเซียม

ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียมค่อนข้างปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ และทำงานได้ดีเมื่อต้องจัดการกับอาหารไม่ย่อย

  • แคลเซียมคาร์บอเนต

ยาลดกรดประเภทนี้ นี้ยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่  และมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการ

คนท้องกินยาลดกรด

ยาลดกรดชนิดใดที่ไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์?

  • อลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์

ยาลดกรดประเภทนี้อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก และส่งผลเสียต่อร่างกายคนท้องได้มากกว่าผลดีในแง่ของการบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้การบริโภคอะลูมิเนียมอย่างต่อเนื่องยังเป็นพิษ และอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น การแท้งบุตรได้

  • โซเดียมไบคาร์บอเนต

ปัญหาของยาลดกรดประเภทนี้ คือ นำไปสู่การกักเก็บน้ำของร่างกาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของโซเดียม ในระหว่างตั้งครรภ์คนท้องมักมีปัญหาที่ต้องเผชิญ เช่น ข้อเท้าบวม และข้อมือบวมเนื่องจากน้ำในร่างกายมีปริมาณมาก ซึ่งปริมาณโซเดียมในยาลดกรด จะทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น

เหตุผลบางประการ ที่ควรหลีกเลี่ยงยาลดกรดในขณะตั้งครรภ์

แม้ว่าการบริโภคยาลดกรดอาจช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ระหว่างการตั้งครรภ์ได้ดี  เช่น อาหารกรดไหลย้อน แสบร้อนหลางทรวงอก (Heartburn)  แต่ต่อไปนี้ คือ เหตุผลบางประการ ที่คุณอาจต้องคิดทบทวนชั่งน้ำหนักให้ดี ก่อนตัดสินใจใช้ยาลดกรดในขณะที่คุณตั้งครรภ์อยู่

1. ลดการผลิตกรดที่ช่วยในการย่อยอาหาร
ในขณะที่ยาลดกรดควรจะช่วยในการควบคุมการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร แต่การใช้มากเกินไปสามารถลดกรดที่จำเป็นในการการย่อยอาหารได้และอาจทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย

2. ภาวะแทรกซ้อนในไตรมาสสุดท้าย
ช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงยาลดกรด เนื่องจากในช่วงนี้ร่างกายมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากยาได้ แม้แต่ยาลดกรดที่ค่อนข้างปลอดภัย เช่น แมกนีเซียมก็เป็นที่ทราบกันดีว่ามีผลต่อการหดรัดตัวของมดลูก และอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้

3. การเกิดผลข้างเคียง
มนุษย์ทุกคนมีร่างกายที่แตกต่างกัน และยาลดกรดสามารถตอบสนองหรือส่งผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปได้ บางรายอาจไม่มีผลข้างเคียงใดๆ แต่สำหรับบางรายอาจได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เวียนศีรษะ ปวดท้อง และอาเจียน ได้เช่นกัน

4. โรคโลหิตจาง
ยาลดกรดส่วนใหญ่ในท้องตลอดมีส่วนผสมของแคลเซียม ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ไม่ดี แต่เดิมที่หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคโลหิตจางอยู่แล้ว ซึ่งยาลดกรดอาจทำให้สถานการณ์นี้แย่ลงได้

5. โรคนิ่วในไต
ตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ว่ายาลดกรดส่วนใหญ่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก ผลเสียอีกประการหนึ่ง คือ แคลเซียมจำนวนมาก หากไม่ได้รับการดูดซึมอย่างถูกต้องจากร่างกายจะถูกส่งต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะซึ่งจะก่อตัวเป็นนิ่วในไตได้ในที่สุดหากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งลักษณะของนิ่วในไต จะเป็นก้อนเกลือ และแร่ธาตุขนาดเล็กขรุขระซึ่งก่อตัวขึ้นภายในไตและอาจเดินทางไปตามทางเดินปัสสาวะซึ่งทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงในช่องท้องส่วนล่าง ขาหนีบ หรือหลัง และบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ และมีเลือดปนในปัสสาวะ ขนาดของนิ่วสามารถมีขนาดได้ตั้งแต่ก้อนเล็ก ๆ ไปจนถึงขนาดเท่าลูกกอล์ฟ

6. กรดในกระเพาะอาหารกลายเป็นด่าง
การบริโภคยาลดกรดเป็นประจำสามารถทำให้กรดในกระเพาะอาหารกลายเป็นด่างได้โดยธรรมชาติ สิ่งนี้จะลดความสามารถของกรดในการย่อยสลายอาหารเพื่อย่อยอาหารได้อย่างที่ควรจะเป็น

7. การตอบสนองของกรด
อาจมีบางกรณีที่กระเพาะอาหารเริ่มตอบสนองต่อการใช้ยาลดกรดบ่อยๆ กระเพาะอาหารจะเพิ่มการผลิตกรดเพื่อเอาชนะฤทธิ์ของยา ส่งผลให้ช่วงเวลาที่คุณไม่มียาลดกรดเป็นเวลาสองสามวันคุณจะต้องทนทุกข์ทรมานจากความเป็นกรดอย่างรุนแรงได้

8. อาการท้องผูก
แคลเซียมเป็นตัวการใหญ่ของปัญหานี้อีกครั้ง แคลเซียมส่วนเกินทำให้กล้ามเนื้อลำไส้คลายตัว สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความล่าช้าในการทำงานของลำไส้ เนื่องจากอาหารใช้เวลานานกว่าจะไปถึงทวารหนักอาหารจึงเริ่มแข็งตัวเมื่อเวลาผ่านไปทำให้ท้องผูกและถ่ายอุจจาระได้ลำบาก และอาจทำให้คนท้องเจ็บป่วยด้วยอาการของโรคริดสีดวงทวารหนักได้

ทางเลือกธรรมชาติสำหรับยาลดกรด

มาถึงตรงนี้ สรุปได้ว่า ยาลดกรดมีอันตรายและไม่ดีใช่หรือไม่? คำตอบคือ ไม่นะคะ เพราะการได้รับยาลดกรด นาน ๆ ครั้ง ถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายระหว่างตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตามก็มีทางเลือกของยาลดกรดจากธรรมชาติที่ดีและเป็นมิตรสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เช่น กล้วย และโยเกิร์ต  ซึ่งว่ากันว่าสรรพคุณในการลดกรดนั้นสูสีกับยาบางตัวจากร้านขายยาเลยทีเดียว

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณห่างไกลจากการใช้ยาลดกรด คือ คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคุณที่สามารถช่วยหลีกเลี่ยงอาการต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์และนำไปสู่การใช้ยาลดกรด

คนท้องกินยาลดกรด

วิธีรับมือภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ที่อาจจำเป็นต้องใช้ยาลดกรด เนื่องจากพบว่ามีอาการของกรดไหลย้อนในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ สามารถบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวันตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ แบ่งมื้ออาหารในแต่ละวันให้ถี่ขึ้น บวกกับลดปริมาณการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง
  • ไม่นอนทันที หลังจากเพิ่งรับประทานอาหาร ควร ยืน นั่ง หรือลุกเดินอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร แล้วค่อยเอนตัวนอนได้ตามปกติ
  • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน เช่น อาหารรสจัด อาหารไขมันสูง ผลไม้รสเปรี้ยว อาหารที่มีกรดเป็นส่วนประกอบ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของมินท์  เพราะมิ้นท์จะยิ่งส่งผลให้อาการกรดไหลย้อนรุนแรงและกำเริบมากยิ่งขึ้น
  • รับประทานโยเกิร์ตหรือดื่มนมเมื่อเกิดอาการ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนจากกรดไหลย้อนได้
  • ไม่ดื่มน้ำบ่อย ระหว่างรับประทานอาหาร ทางที่ดีควรเปลี่ยนมาดื่มน้ำหลังรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว หรือดื่มน้ำในช่วงระหว่างมื้ออาหารแต่ละมื้อแทน
  • ใช้หมอนหนุนบริเวณลำตัวส่วนบนระหว่างนอนหลับ วิธีนี้ ถือว่าช่วยบรรเทาอาการของกรดไหลย้อนได้เป็นอย่างดี การหนุนให้บริเวณลำตัวก็ เพื่อให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร ซึ่งจะช่วยป้องกันกรดไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหารได้  นอกจากนี้ ควรนอนตะแคงซ้าย เพราะการนอนตะแคงด้านขวา จะทำให้ตำแหน่งของกระเพาะอยู่เหนือหลอดอาหารและกรดสามารถไหลย้อนขึ้นมาได้ง่าย
  • ควบคุมน้ำหนักตัว ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนในขณะตั้งครรภ์ได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว ควรใส่เสื้อผ้าหลวมๆ สบายตัว ไม่รัดจนเกินไป เพราะการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่รัดบริเวณท้อง

การหมั่นใส่ใจดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของตัวเราเอง โดยเฉพาะในระหว่างที่คุณตั้งครรภ์อยู่ ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองเท่านั้น แต่ยังมีอีกหนึ่งชีวิตที่รอคอยการกำเนิดอย่างปลอดภัย ซึ่งแน่นอนว่าตัวน้อยของคุณจะนำพาความสุขมาให้ครอบครัว หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุข  คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คือ การที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

ในช่วงเวลาที่ลูกน้อยเริ่มเติบโตเข้าสู่วัยเตาะแตะที่สามารถสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้ การปลูกฝังในเรื่องความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่เริ่มทำได้ทันที เด็กๆ จะค่อยๆ ซึมซับกิจวัตรประจำวันและวิถีชีวิต ต่างๆ ที่ส่งผลดีต่อการมีสุขภาพที่ดี อาทิ การมีโภชนการที่ดีได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ  การรักษาความสะอาดและปลอดภัยของสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และการได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นต้น เมื่อเด็กๆ คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตที่แวดล้อมด้วยผู้ใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็ย่อมส่งผลดีต่อการกระตุ้นให้พวกเขาเกิดทักษะ ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี (HQ) ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะสุขภาพแข็งแรง พัฒนาการดี มีภูมิคุ้มกันโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย ที่สำคัญคือการได้ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุขไปกับการสำรวจและเรียนรู้โลกตามวัยได้อย่างเหมาะสมค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : parenting.firstcry.com , todaysparent.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วิธีแก้กรดไหลย้อน ขณะตั้งครรภ์ อะไรที่แม่ท้องควรกิน vs ไม่ควรกิน

คนท้องกินยาพาราได้ไหม คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ยาที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้างเช็กเลย!

5 เคล็ดลับดูแล “มดลูกแข็งแรง” ก่อนตั้งครรภ์

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up