คนท้องตรวจโควิดได้ไหม จำเป็นหรือเปล่าที่ต้องตรวจหาเชื้อไวรัส Covid-19
ไขข้อสงสัย คนท้องตรวจโควิดได้ไหม
สถานการณ์โรคระบาดจากโคโรนาไวรัส ทำให้ทุกคนต่างต้องระมัดระวังการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์
คุณแม่บางท่านอาจจะเริ่มกังวลใจ คิดว่าคนท้องจะตรวจโควิดได้ไหม หากมีไข้ไม่สบายในช่วงนี้ ควรตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเปล่า นพ.อดิศร อักษรภูษิตพงศ์ สูติแพทย์ – เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ รพ.พญาไท 3 ระบุถึงความจำของแม่ท้องต้องตรวจหาเชื้อ COVID-19 หรือไม่ โดยแยกเป็น 3 กรณี ว่า
- มีอาการเจ็บป่วย ไข้ ไอ หายใจติดขัด เจ็บคอ มีน้ำมูก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษา ในรายที่ต้องสงสัยการติดเชื้อ COVID-19 แพทย์จะส่งตรวจหาเชื้อไวรัสทันที
- กรณีที่ไม่มีอาการเจ็บป่วย แพทย์จะประเมินว่าเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงหรือไม่ ถ้าใช่จะได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัส ซึ่งผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสสูงในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ประกอบด้วย ผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามรดจากผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย และผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ป่วยและอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน
- เป็นผู้มีความเสี่ยง โดยการมีประวัติในช่วงเวลา 14 วันก่อนวันเริ่มป่วย อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีประวัติเดินทางไปยัง หรือมาจาก หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรค COVID-19
- มีผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้านเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรค COVID-19
- เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
- มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยเข่าข่ายหรือยืนยันโรค COVID-19
การตรวจหาเชื้อ COVID-19 ตรวจได้ที่โรงพยาบาลของรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ทั่วประเทศไทย โดยการตรวจจะเป็นการใช้ไม้สอดเข้าไปภายในโพรงจมูกและลำคอ ป้ายเอาสารคัดหลั่งมาตรวจหาเชื้อ
หากแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อจะทำอย่างไร
สูติแพทย์จะให้การดูแลรักษาระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดตามมาตรฐานเหมือนปกติ หากมีการติดเชื้อ COVID-19 จะเพิ่มความระมัดระวังการสัมผัสหรือแพร่เชื้อ COVID-19 ระหว่างการตรวจครรภ์และการทำคลอด ตามนโยบายการดูแลรักษาในปัจจุบัน ส่วนการคลอดให้เป็นไปตามข้องบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าท้องคลอด
แม่ท้องติดโควิดอันตรายแค่ไหน
แม้ว่าข้อมูลของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะยังไม่สูงมาก แต่แม่ท้องก็ต้องระวังตัวมากเป็นพิเศษ โดยพญ.อรวิน วัลลิภากร อาจารย์ประจำสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูตินรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ความเสี่ยงของคุณแม่ที่อายุครรภ์ยังน้อยจะไม่ค่อยมีผล แต่แม่ที่ตั้งครรภ์ 7 เดือนขึ้นไปหรือเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ทารกในครรภ์จะโตขึ้นจนดันกระบังลม ส่งผลให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่ใช่แค่โควิด-19 แต่หากติดเชื้อเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ก็จะมีอาการรุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป เพราะภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม พบรายการของวารสารทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาว่า ทารกในครรภ์สามารถติดเชื้อผ่านสายรกจากแม่ได้ แต่พบในคุณแม่ที่มีอาการรุนแรง มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน และระบบการหายใจล้มเหลว จึงต้องผ่าตัดคลอดทารกทันทีเพื่อลดการเบียดปอด กรณีนี้ทารกต้องใส่เครื่องช่วยหายใจหลังคลอด ทั้งยังตรวจพบเชื้อโควิด-19 แต่อาการของทั้งคู่ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น
ความเสี่ยงของคนท้อง
ด้านพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ย้ำว่า อาการของคนท้องที่ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่พบความเสี่ยงสูงที่โรคจะรุนแรง ยกเว้นในรายที่อ้วนหรือมีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ดีอยู่เดิม ผลของโรคต่อการตั้งครรภ์ แต่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เพิ่มความรุนแรงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยการรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค เป็นการรักษาตามอาการ และการใช้ยาต้านไวรัสมีหลายชนิด ซึ่งการพิจารณาใช้ยาต้านไวรัสจึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับ สำหรับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ยาสามารถผ่านรกและถูกขับออกทางน้ำนมได้ ทำให้เกิดความพิการแก่ตัวอ่อน ในสัตว์ทดลอง ส่วนยาต้านไวรัสดารุนาเวียร์ (Darunavir) สามารถผ่านทางน้ำนมได้เช่นเดียวกัน จึงต้องระมัดระวัง โดยพิจารณาความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับ
หญิงตั้งครรภ์ตรวจโควิด-19 ฟรี หากเข้าเกณฑ์ 3 ข้อ
สำหรับผู้ที่เข้าข่ายมีสิทธิ์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรี กรมควบคุมโรคแจ้งว่าต้องมีประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1.ในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ
– จะต้องเดินทางมาจากเขตติดโรค/พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
– ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรค/พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
– สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องสงสัย/ผู้ป่วยยืนยัน
– เป็นบุคลากรทารการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์)
2.สำหรับอาการโควิดนั้น ต้องมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ, น้ำมูก, เจ็บคอ, หายใจเหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น และลิ้นไม่รับรส
3.ผู้ป่วยปอดอักเสบ ที่มีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
– ใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยโควิด-19
– เป็นบุคลากรทางการแพทย์
– เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาแล้วอาการดีขึ้น
– เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้
หากแม่ท้องเข้าเกณฑ์เหล่านี้ ก็มีสิทธิ์ตรวจโควิดได้ฟรี! แต่ระหว่างนี้ แม่ท้องต้องดูแลตัวเองให้มากเป็นพิเศษ โดยสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ ล้างมือให้บ่อยครั้งโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ เว้นระยะห่างจากผู้อื่นประมาณ 2 เมตร ไม่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงหรือสถานที่ที่แออัด คอยดูแลสุขภาพตัวเอง ทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ดื่มน้ำมาก ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรฉีดวัคซีนที่จำเป็นสำหรับคนท้อง และกินยาหรือวิตามินบำรุงครรภ์ตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ ถ้าพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ รู้สึกไม่สบาย อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบกับคุณหมอให้เร็วที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : pptvhd36, phyathai , pr.moph.go.th และ moph
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
ข้ามสามีให้แพ้ท้องแทน ความเชื่อโบราณให้คนท้องกลั้นหายใจข้ามตัวสามี
คนท้องทํางานเข้ากะได้ไหม อันตรายแค่ไหนถ้าแม่ท้องทำงานดึก ทำงานหนัก
ครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไร ประสบการณ์ครรภ์เป็นพิษ ต้องยุติการตั้งครรภ์