คนท้องต้องรู้! เชื้อ CMV ไวรัส Cytomegalo Virus อันตรายที่ส่งผลกับทารกแรกเกิดได้
เชื้อ CMV คืออะไร
กลายเป็นคุณพ่อป้ายแดงเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่พระเอกหนุ่ม เอส กันตพงศ์ ประกาศข่าวดีว่า ภรรยาชาวเยอรมัน คริสติน่า วิงเคลอร์ ได้คลอดลูกสาวหน้าตาน่ารัก ด.ญ.วาเลนติน่า เอริก้า บำรุงรักษ์ (Ms.Valentina Erika Bumrungrak) ไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 โดยมีน้ำหนักแรกคลอด 3,950 กรัม เห็นร่างกายแข็งแรงแบบนี้ แต่คุณพ่อเอสก็มีเรื่องให้กังวลใจ เมื่อภรรยาเคยตรวจพบเบาหวานขณะตั้งครรภ์และตรวจพบไวรัส CMV (Cytomegalo Virus) ซึ่ง 2 โรคนี้อาจส่งผลต่อลูกได้
คุณพ่อเอสโพสต์ว่า ก่อนอื่นพวกเรา #ครอบครัวบำรุงรักษ์ ต้องขอขอบคุณทุกๆคำอวยพร ที่ส่งมาให้หนูน้อย @valentina.erika.b และพวกเรามาก ๆ เลยนะคร๊าบ และผมต้องขอบคุณภรรยาสุดที่รักของผม @thekittyway ที่อุ้มท้องวาเลนติน่า มาตลอด 40 สัปดาห์ ด้วยความรัก ความเข้มแข็ง คิตตี้ตรวจพบเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้ต้องเจาะเลือดทุกวัน ถึงวันละ 4 ครั้ง ตลอดการตั้งครรภ์ และตรวจพบไวรัส CMV (Cytomegalo Virus) ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยมากประมาณ 10 ใน 10,000 คน ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้สามารถส่งผลต่อลูกได้โดยตรง ทำให้เมื่อคลอดออกมา วาเลนติน่าต้องค้างที่โรงพยาบาลต่ออีก 4 วัน เพื่อตรวจเลือด ตรวจคลื่นสมอง การมองเห็น การได้ยิน และอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งผลตรวจออกมาเป็นปกติ แข็งแรง สมบูรณ์ทั้งคุณแม่ คุณลูกคร๊าบ!!!
ตอนนี้เหลือแค่การตรวจอีกไม่กี่รายการ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างสมบูรณ์ตามคาดเท่านั้นครับ คุณพ่อลุ้นมาก ๆ และดีใจมาก ๆนะครับลูก
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่น้องวาเลนติน่า แข็งแรง ปลอดภัย แต่จริง ๆ แล้วเชื้อ CMV หรือไวรัส Cytomegalo Virus นั้นสามารถส่งผลกับทารกแรกเกิด ได้เช่นกัน แล้วเชื้อตัวนี้คืออะไร อันตรายมากน้อยแค่ไหน มาอ่านบทความนี้กันค่ะ
เชื้อไวรัส Cytomegalo Virus
ไวรัส Cytomegalo Virus (CMV) เป็นเชื้อที่พบได้ประมาณร้อยละ 0.2 ถึง 2.2 ของทารกแรกเกิด เมื่อร่างกายติดเชื้อจะตรวจพบไวรัสได้ ในสารคัดหลั่งทุกชนิด แต่ที่อันตรายคือ หากร่างกายติดเชื้อไวรัส CMV ครั้งแรกจะซ่อนในร่างกายอย่างสงบ มักไม่มีอาการ และถูกกระตุ้นให้กระจายเชื้อไวรัสออกได้อีกคล้ายเชื้อไวรัสกลุ่มเริม คนท้องหรือหญิงตั้งครรภ์มี IgG antibody ไม่อาจป้องกันการกลับมาใหม่ (recurrence) การปลุกฤทธิ์คืน (reactivation) การติดเชื้อซ้ำ (reinfection) การติดเชื้อของทารกในครรภ์ตลอดจนทารกแรกเกิดจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้มากถึงร้อยละ 25 ถึงร้อยละ 60 ของ หญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อปฐมภูมิ (primary infection) พบได้ประมาณร้อยละ 36 เมื่อติดเชื้อในไตรมาสที่ 1 ร้อยละ 40 เมื่อติดเชื้อในไตรมาสที่ 2 และร้อยละ 65 เมื่อติดเชื้อในไตรมาสที่ 3
อาการของคนท้องหากได้รับเชื้อ Cytomegalo Virus
ส่วนใหญ่แล้วคนท้องหรือหญิงตั้งครรภ์มักไม่มีอาการหลังได้รับเชื้อ CMV มีเพียงร้อยละ 10 ถึง 15 จะมีอาการดังนี้
- ไข้
- คออักเสบ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ข้ออักเสบ
หากคนท้องมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromise) อาจมีอาการที่รุนแรง หรือส่งผลต่อทารกในครรภ์ให้เกิดการเจริญเติบโตในครรภ์บกพร่อง (intrauterine growth retardation)
อาการของทารกที่ติดเชื้อไวรัส CMV
เช่นเดียวกับคนท้อง ทารกที่ติดเชื้อแต่กำเนิดมักไม่แสดงอาการ พบเพียงร้อยละ 10 แสดงอาการดังนี้
- ตัวเหลือง
- ตับม้ามโต
- จุดเลือดออกขนาดเล็กในชั้นผิวหนัง (petechiae)
- ผื่นจ้ำเขียวบนผิวหนัง (purpuric rash)
- น้ำหนักตัวน้อย หายใจลำบาก (respiratory distress)
- การอักเสบของคอรอยด์และเรตินา (chorioretinitis)
- ระดับความสามารถทางสมองและประสาทสั่งการบกพร่อง (mental and motor retardation)
- ภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก (hemolytic anemia)
การติดต่อของ Cytomegalovirus infection (CMV)
โรคติดเชื้อซีเอ็มวี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเป็นโรคติดต่อระหว่างคนสู่คน เมื่อรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะแฝงอยู่ไปตลอดชีวิต ปกติเชื้อนี้จะไม่มีอาการรุนแรง เว้นเสียแต่ว่า มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง และทารกในครรภ์ก็มีโอกาสติดเชื้อผ่านรกจนเกิดเป็นความพิการแต่กำเนิด
CMV ติดต่อสู่ร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่
- ทารกได้รับเชื้อจากมารดาในครรภ์ ,ในระยะคลอด และในระยะให้นม
- การถ่ายเลือด
- การปลูกถ่ายอวัยวะ
- เพศสัมพันธ์
- ทางหายใจผ่านละอองฝอยในอากาศ
- การสัมผัส โดยสัมผัสน้ำลาย และปัสสาวะ
แหล่งของเชื้อ CMV พบได้จากสารคัดหลั่งหลายชนิด เช่น น้ำลาย, ปัสสาวะ, น้ำอสุจิ, สารคัดหลั่งจากปากมดลูก, น้ำนม, น้ำตา, อุจจาระ และเลือด
การวินิจฉัยและการรักษา
เมื่อพบว่าแม่ตั้งครรภ์ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ เช่น ตรวจพบลักษณะผิดปกติของทารกในครรภ์จากภาพคลื่นเสียงความถี่สูง หรือหญิงตั้งครรภ์มีอาการคล้ายกลุ่ม mononucleosis จะใช้วิธีตรวจมาตรฐานเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ CMV แต่กำเนิด ได้แก่การเพาะเชื้อไวรัส การตรวจ CMV nucleic acid amplification จากน้ำคร่ำซึ่งมีความไวร้อยละ 70 ถึง 99 โดยความไวสูงสุดเมื่อทำการเจาะเยื่อถุงน้ำคร่ำ (amniocentesis) เพื่อเก็บน้ำคร่ำอย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ หากได้ผลลบไม่ สามารถตัดการติดเชื้อของทารกในครรภ์ได้ทั้งหมด และอาจต้องเจาะซ้ำหากสงสัยการติดเชื้อมากหรือการเจาะหลอด เลือดสายสะดือ (cordocentesis) เพื่อนำเลือดทารกไปตรวจ
ด้านการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ยังไม่มียาจำเพาะ ส่วนวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ Cytomegalo Virus ในปัจจุบันยังไม่มี
วิธีป้องกันการติดเชื้อ CMV
เนื่องด้วยปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ CMV การดูแลที่ดีที่สุดคือ การรักษาสุขอนามัยเช่นเดียวกับโควิด-19 กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้ถูกวิธี หมั่นทำความสะอาดบ้าน ดูแลข้าวของเครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะของใช้ทารก และต้องดูแลลูกเวลาออกนอกบ้าน เพราะทารกชอบเอามือเข้าปาก หากไปสัมผัสเชื้อโรคอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
หากทารกติดเชื้อ CMV แต่กำเนิด อาจก่อให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาและระบบประสาท เช่น หูหนวก บกพร่องทางการมองเห็น ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงถึงขั้นทารกเสียชีวิตได้ด้วย แม่ท้องจึงต้องฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียด หรือหากมีอาการอันตรายต้องรีบพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ให้ทารกคลอดออกมาแข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : มากกว่าไต, mutualselfcare.org, med.cmu.ac.th และ dmsc.moph.go.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม