ไข้เลือดออก ขณะตั้งครรภ์ไตรมาสต่างๆ
ในแม่ท้อง การตั้งครรภ์ไม่ได้ทำให้โรคไข้เลือดออกเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นอาการ การรักษา และผลการรักษา แต่มีผลกับการตั้งครรภ์ ดังนี้
- ไข้เลือดออก ขณะตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 1 ช่วงตั้งครรภ์ 1-3 เดือน งานวิจัยพบว่าไวรัสเดงกีสามารถผ่านรกของแม่ไปสู่เด็กในครรภ์ได้ แต่ยังไม่มีข้อยืนยันว่า ไวรัสไข้เลือดออกสามารถทำให้เด็กพิการ หรือแท้ง หรือขาดอาหาร แม้จะมีรายงานพบเด็กทารกมีไขสันหลังพิการ และแม่แท้งลูก ในแม่ท้องสามเดือนแรกที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกก็ตาม
- ไข้เลือดออก ขณะตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 2 ช่วงตั้งครรภ์ 4-6 เดือน หากเป็นไข้เลือดออก อาจส่งผลให้ทารกแท้งมารดามีเกล็ดเลือดต่ำ และตกเลือดหลังแท้งได้
- ไข้เลือดออก ขณะตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 3 ช่วงตั้งครรภ์ 7-9 เดือน พบการคลอดก่อนกำหนดถึงร้อยละ 22-50 ทำให้ทารกมีอาการขาดออกซิเจนจนเสียชีวิตในครรภ์หรือเสียชีวิตเมื่อคลอดออกมา แม่มีอาการตกเลือดขณะคลอดและหลังคลอด แม่ต้องอยู่ในห้องไอซียูนานกว่าคนปกติ ทารกที่คลอดในแม่ที่เป็นไข้เลือดออกติดเชื้อในช่วง 1 สัปดาห์แรกของการคลอด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สังเกตง่ายๆ แม่ท้องเป็นไข้เลือดออกหรือไม่
มีไข้สูง กินยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล แล้วไข้ไม่ลง ไม่มีอาการไอหรือมีน้ำมูก อาจมีอาการเจ็บคอ ร่วมกับอาการข้อใดข้อหนึ่งในต่อไปนี้
- คลื่นไส้อาเจียน
- มีผื่นเหมือนออกหัดขึ้นตามลำตัว แขน ขา
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก
- ปวดท้อง จุกท้อง
- ท้องเสีย
- อาเจียนเป็นเลือด มีเลือดออกจากเหงือก หรือมีเลือดกำเดาออก
- ซึม กระสับกระส่าย
- มีอาการบวมน้ำ เช่น หนังตาบวม หน้าแข้งบวม มือเท้าบวม
- อยู่ในถิ่นระบาดของไข้เลือดออก
หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ทันที
การวินิจฉัยไข้เลือดออก ขณะตั้งครรภ์
แพทย์วินิจฉัยโดยอาศัยอาการทางคลินิก คือ มีไข้สูงและมีอาการอื่นๆ ที่น่าสงสัย การทดสอบโดยการรัดแขนให้ผลบวก การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจหาความเข้มข้นของเลือด การนับเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งจะพบว่า เลือดข้น เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน อาจต้องเอ็กซเรย์ปอด ตรวจค่าการทำงานของตับ ฯลฯ นอกจากนั้นยังใช้การตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการอาศัยการตรวจหาตัวเชื้อ และ ภูมิคุ้มกันจำเพาะต่อเชื้อไวรัสเดงกี เพื่อช่วยในการวินิจฉัย