พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง - Amarin Baby & Kids

พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง

Alternative Textaccount_circle
event

คุณแม่มือใหม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรเรียนรู้ พัฒนาการทารกในครรภ์ เพื่อนำไปประกอบการดูแลครรภ์อย่างถูกวิธี และช่วยลดความวิตกกังวลระหว่างตั้งครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง

คุณท้องค่ะ ยินดีด้วยนะคะ เมื่อคุณแม่ได้ยินประโยคนี้คงจะตื่นเต้น ดีใจมาก และคงเกิดคำถามตามมามากมายเกี่ยวกับลูกในครรภ์ เช่น ลูกจะมีขนาดเท่าไหร่แล้ว จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะรู้สึกว่าลูกมีการเคลื่อนไหวเมื่อไหร่ ทีมแม่ ABK จึงได้รวบรวมข้อมูล พัฒนาการทารกในครรภ์ มาให้คุณแม่ได้เรียนรู้ ถึงการพัฒนาของทารกในแต่ละเดือน เพื่อช่วยให้คุณแม่คลายความวิตกกังวลต่างๆ และดูแลครรภ์ให้มีคุณภาพ

9 เดือนในครรภ์
9 เดือนในครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง

เดือนที่ 1

  • ทางการแพทย์จะเริ่มวันแรกของการตั้งครรภ์ คือวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย และนับไปจนครบ 40 สัปดาห์ เป็นวันที่คาดการณ์กำหนดคลอด
  • ช่วงแรกสุดของชีวิต คือการที่ไข่ผสมกับสเปิร์ม และสร้างเป็นตัวอ่อนในระยะสัปดาห์ที่ 2-4 นับจากวันแรกของรอบเดือนรอบสุดท้าย ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะค่อยๆ เคลื่อนมาตามท่อนำไข่ และฝังตัวที่มดลูก ขณะที่ไข่เคลื่อนตัวมานั้น เซลล์จะเริ่มแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อถึงตอนที่ตัวอ่อนมาถึงมดลูก จะมีเซลล์ประมาณ 100 เซลล์ หลังจากหนึ่งสัปดาห์ ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะฝังตัวที่ผนังมดลูก ซึ่งถือว่ากระบวนการปฏิสนธิสมบูรณ์แล้ว

เดือนที่ 2 (5 – 8 สัปดาห์)

  • เราจะเริ่มเห็นพัฒนาการได้ชัดเจน หลังจากตัวอ่อนได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้ว
  • ตัวอ่อนในครรภ์จะมีความยาวประมาณ 4 – 25 มิลลิเมตร รูปร่างโค้งงอ
  • ยังไม่สามารถสังเกตเห็นการตั้งครรภ์ได้ชัด
  • ตัวอ่อนจะเริ่มมีการพัฒนาอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ระบบประสาท ตา แขนและขา ส่วนศีรษะจะใหญ่กว่าอวัยวะอื่น
  • สามารถตรวจพบการเต้นของหัวใจของตัวอ่อนในครรภ์ และสามารถเห็นตัวอ่อนขยับไปมา ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป จากการทำอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดได้

เดือนที่ 3 (9 – 12 สัปดาห์)

  • ตัวอ่อนมีความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 2.5 – 7 เซนติเมตร
  • อวัยวะบนหน้าเกือบจะสมบูรณ์ ทั้งตา ปาก จมูก และหู เพียงแค่ตายังคงปิดอยู่
  • เริ่มมีการพัฒนาของสมองและกล้ามเนื้อ
  • สมองและกล้ามเนื้อเริ่มทำงานประสานกัน กล้ามเนื้อกำลังพัฒนา เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวของแขนขา
  • ข้อต่างๆ เริ่มประสานกัน นิ้วมือและนิ้วเท้าพัฒนาจนสมบูรณ์และงอได้ เล็บเริ่มงอก
  • ทารกจะเริ่มดูดนิ้ว และอาจกลืนน้ำคร่ำ หรือลอยตัวในน้ำคร่ำ ซึ่งทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องร่างกายเล็กๆ ไว้อย่างดี
  • อวัยวะต่างๆ พัฒนาเกือบครบทุกส่วนในปลายเดือน ระยะนี้คุณแม่จะต้องระวัง อย่ารับประทานยาหรืออาหารที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก

เดือนที่ 4 (13 – 16 สัปดาห์)

  • ทารกมีความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 7 – 12 เซนติเมตร
  • ทารกโตขึ้นวันละ 2 – 3 มิลลิเมตร
  • ทารกมีแขนและข้อต่อที่สมบูรณ์ กล้ามเนื้อแข็งแรง นิ้วมือนิ้วเท้าเห็นชัดเจน และเคลื่อนไหวได้มากขึ้น แต่คุณแม่มือใหม่อาจจะยังไม่รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของทารก
  • ใบหน้าตัวอ่อนเห็นชัดเจนขึ้น
  • ไตเริ่มทำงานเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
  • จำนวนเส้นประสาทและกล้ามเนื้อจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในระยะนี้ทารกจะเตะ ยืดนิ้วมือนิ้วเท้า
  • เริ่มฟังเสียงหัวใจทารกได้ และสามารถมองเห็นอวัยวะเพศได้ ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์

เดือนที่ 5 (17 – 20 สัปดาห์)

  • ทารกมีความยาวจากหัวถึงเท้าประมาณ 16 – 25 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 100 – 300 กรัม
  • ระยะนี้ทารกจะโตเร็วมาก คุณแม่จะรู้สึกว่า ลูกดิ้นบ่อยๆ
  • สามารถฟังหัวใจทารกเต้นได้ด้วยหูฟัง จากการฟังทางหน้าท้อง
  • เริ่มมีขนตา ขนคิ้ว มีขนอ่อนปกคลุมทั่วตัวและหน้า ผมเริ่มงอก ฟันเริ่มพัฒนาอยู่ใต้กราม กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
  • ทารกจะสร้างไขมันเพื่อปกป้องผิวหนังและผม
  • ทารกจะเพิ่มพัฒนาสัมผัสรับรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรสชาติ กลิ่น และเสียง อีกทั้งยังสัมผัสถึงแสงจ้าได้ แม้ว่าตาจะยังปิดอยู่
  • หูทำงานเต็มที่เริ่มได้ยินเสียงแม่ และรู้สึกเมื่อคุณแม่ลูบท้อง
  • ช่วงปลายเดือน ทารกจะเริ่มปัสสาวะปนมาในน้ำคร่ำ

เดือนที่ 6 (21 – 24 สัปดาห์)

  • ทารกมีความยาวประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 300 – 600 กรัม
  • คุณแม่จะรู้สึกว่าทารกบิดตัวไปมา
  • ทารกจะโตช้ากว่าเดิม เพื่อให้อวัยวะภายในร่างกาย และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายพัฒนา
  • ผมที่ศีรษะและคิ้ว จะปรากฏชัดขึ้น
  • ทารกจะได้ยินเสียงหัวใจของแม่ เสียงดนตรี และเสียงอื่นๆ
  • คุณพ่อและคุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกในครรภ์ได้ในระยะนี้ เนื่องจากทารกมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระทำของแม่
  • ทารกมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย จึงทำให้ดูผอม
  • สามารถมองเห็นเพศชัดเจน เมื่อตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง
ทารกในครรภ์
ทารกในครรภ์

เดือนที่ 7 (25 – 28 สัปดาห์)

  • ทารกมีความยาวประมาณ 30 – 35 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 600 – 1,000 กรัม
  • ผิวทารกมีรอยย่น เริ่มมีไขมันใต้ผิวหนัง เพื่อรักษาความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย รวมทั้งปกป้องผิวหนังจากของเหลวอื่นๆ
  • ปอดเริ่มพัฒนา
  • ศีรษะโต มีขนคิ้วและขนตา
  • สามารถลืมตาและหลับตาได้แล้ว อีกทั้งยังสามารถเห็นแสงผ่านหน้าท้องของแม่ได้
  • สามารถได้ยินเสียงจากภายนอก และจะขยับตัวเมื่อได้ยินเสียงดัง
  • จังหวะการเต้นของหัวใจจะเปลี่ยนตามแสงและเสียงที่ทารกสัมผัสได้
  • สะอึกได้
  • ทารกจะเริ่มพัฒนาตุ่มรับรส
  • ถ้าคลอดในตอนนี้ อัตราการรอดชีวิตจะค่อนข้างสูง เนื่องจากอวัยวะสำคัญเริ่มทำงานเป็นปกติแล้ว

เดือนที่ 8 (29 – 32 สัปดาห์)

  • ทารกมีความยาวประมาณ 35 – 40 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1,000 – 1,600 กรัม
  • จะดูเหมือนทารกแรกเกิด ผิวหนังบางแดงและคลุมด้วยไข ยังเหี่ยวย่นอยู่ ร่างกายแข็งแรง
  • ถ้าเป็นผู้ชายลูกอัณฑะจะเริ่มเลื่อนลงในถุง
  • ศีรษะจะเริ่มหันมาทางปากมดลูก
  • สามารถเห็นการเคลื่อนไหวของทารกได้จากหน้าท้องคุณแม่
  • ในระยะนี้ คุณแม่อาจมีการเจ็บท้องเตือน เนื่องจากมดลูกบีบตัว

เดือนที่ 9 (33 – 36 สัปดาห์)

  • ทารกมีความยาวประมาณ 40 – 45 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1,600 – 2,500 กรัม
  • ผิวหนังแดง รอยย่นเริ่มหายไป
  • เริ่มดิ้นแรงจนสามารถเห็นการเคลื่อนไหวจากหน้าท้องคุณแม่ได้
  • ปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่

เดือนที่ 10 (37 – 40 สัปดาห์)

  • ทารกมีความยาวประมาณ 45 – 50 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนัก 2,500 กรัมขึ้นไป
  • มีการสะสมไขมันมากขึ้น รอยย่นของผิวหนังหายไป
  • เป็นระยะครบกำหนดคลอด ทารกจะอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอด
  • ศีรษะจะอยู่ใกล้ปากมดลูก และคุณแม่ก็พร้อมจะคลอดได้ตลอดเวลา
  • ทารกอาจคลอดเมื่อไรก็ได้ระหว่างสัปดาห์ที่ 37 – 42 สัปดาห์

การดูแลครรภ์อย่างถูกวิธี

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การฝากครรภ์ มีประโยชน์ดังนี้

  • ดูแลสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ทั้งทางด้านร่างกาย และทางจิตใจ และได้รับการคัดกรอง เพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคธาลัสซีเมีย และดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
  • ตรวจหาโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดในขณะตั้งครรภ์
  • ติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ว่ามีการเจริญเติบโตเป็นปกติหรือไม่
  • ได้รับคำแนะนำในการดูแลตัวเองและทารกในครรภ์อย่างถูกวิธี จากแพทย์และผู้เชียวชาญ
  • ให้กำเนิดทารกที่มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง
  • ลดอัตราการตายของแม่และเด็ก

โภชนาการระหว่างตั้งครรภ์

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรทานอาหารให้หลากหลาย และครบทุกหมู่เป็นประจำทุกวัน

  • โปรตีน ใช้ในการเสริมสร้างอวัยวะ และกล้ามเนื้อของคุณแม่และทารก จึงควรรับประทานโปรตีนจากสัตว์ ไข่ และพืชให้หลากหลาย ปริมาณที่ต้องการคือ 75 – 110 กรัมต่อวัน หรือควรเพิ่มสัดส่วนโปรตีน 30 – 40% ในแต่ละมื้อ
  • สารโฟลิกหรือโฟเลต เป็นสารสำคัญที่คุณแม่ขาดไม่ได้ เป็นสารอาหารสำหรับการสังเคราะห์ดีเอนเอของเซลล์เพื่อสร้างอวัยวะต่างๆ ของทารกในครรภ์ มีรายงานพบทารกสมองไม่ปกติ และท่อหุ้มไขสันหลังไม่ปิด ในมารดาที่ขาดสารโฟเลต กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้สตรีวัยเจริญพันธุ์รับประทานสารโฟเลต 400 มิลลิกรัมต่อวัน โดยโฟเลตพบมากในอาหารจำพวกพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ พบมากในพืชใบเขียว ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว ตับ ไต และยีสต์ แต่อย่างไรก็ตามอาหารพวกนี้อาจไม่เพียงพอ ควรทานอาหารเสริมที่มีสารโฟเลตร่วมด้วยจะดีที่สุด
  • ธาตุเหล็ก จำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือดที่เพิ่มจำนวนอย่างมากในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีปริมาณเลือดเพิ่มสูงขึ้นถึง 70% เพื่อให้เพียงพอต่อการนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกที่อยู่ในครรภ์ จากสถิติพบว่า สตรีตั้งครรภ์มากกว่าครึ่งมีภาวะโลหิตจางจากการได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ
  • แคลเซียม คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการแคลเซียมไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งสูงกว่าช่วงที่ไม่ตั้งครรภ์ไม่มาก
  • วิตามินรวม มีประโยชน์สำหรับคุณแม่ที่ทำงาน ไม่มีเวลาดูแลด้านโภชนาการ อย่างไรก็ตาม หากจะบริโภคควรปรึกษาสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพราะวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินเอ หากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป เกิน 10,000 ยูนิตต่อวัน จะทำให้ทารกมีพัฒนาการผิดปกติได้
  • งดอาหารรสจัด สุรา ยาเสพติด

ในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้แข็งแรง เรื่องของโภชนาการก็สำคัญ เพราะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์โดยตรง ทังนี้หวังว่าบทความเกี่ยวกับ  พัฒนาการทารกในครรภ์ ที่ ทีมแม่ ABK นำมาฝากนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในขณะนี้นะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ฉีดวัคซีนโควิดตอนตั้งครรภ์ ช่วยทารกเข้า รพ. น้อยลง

ไขข้อข้องใจ คนท้องท้องผูก เกิดจากอะไร รับมืออย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก

ไขข้อข้องใจ!! คนท้องกินน้ำกระท่อมได้ไหม ?

ผื่นคันระหว่างตั้งครรภ์ รอยแตกลายที่ท้อง ป้องกันได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.bangkokhospital.com, https://www.samitivejhospitals.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up