ลูกดิ้น ถือเป็นการส่งสัญญาณของลูกน้อยในครรภ์ให้คุณแม่ดีใจว่าลูกกำลังขยับเขยื้อนร่างกายอยู่ แต่ถ้า ลูกในท้องไม่ดิ้น หรือลูกดิ้นน้อยลงขึ้นมา เกิดอะไรขึ้น จะทำยังไงดี?
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะเริ่มรู้สึกว่าลูกในท้องดิ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 16-20 ของการตั้งครรภ์ นั่นคือการเคลื่อนไหวครั้งแรกของทารกที่นำมาสู่ความตื่นเต้นดีใจให้กับว่าที่พ่อแม่มือใหม่ และถือเป็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเจริญเติบโตและความแข็งแรงของลูกน้อยในครรภ์ โดยสาเหตุที่ทำให้ลูกดิ้นหรือมีการขยับตัวนั้น อาจมาจากการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์และอากัปกิริยาต่าง ๆ เช่น การสะอึก การได้รับสารอาหารและออกซิเจน บางครั้งอาจเป็นการสื่อสารที่ทารกต้องการตอบสนองกับมารดา ที่ต่อจากนี้คุณแม่ต้องคอยสังเกตความผิดปกติ และคอยจดบันทึกนับการดิ้นของลูกเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
บทความแนะนำ : แจก ตารางจดบันทึกลูกดิ้น พร้อมวิธีนับลูกดิ้น เพื่อความปลอดภัยของลูกในท้อง
ลูกในท้องไม่ดิ้น แม่จะรู้ได้ยังไง? ความรู้สึกแบบนี้ใช่ “ลูกดิ้น” หรือเปล่า
อาการลูกดิ้นในช่วงแรก ๆ ทารกในครรภ์จะขยับตัวเพียงเล็กน้อยและไม่บ่อย แต่ก็ทำให้คุณแม่รู้สึกได้ว่ามีการขยับตัวของลูกน้อยภายในท้องซึ่งมีทั้งการถีบ เตะ กระทุ้ง พลิกตัว หรือโก่งตัว คล้ายกับโดนปลาตอดหรือโดนกระตุกเบา ๆ ที่ท้อง เมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายของไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 4-6 เดือน) การดิ้นของลูกจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้คุณแม่สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของลูกได้อย่างชัดเจนและบ่อยมากขึ้นและอาจรู้สึกถึงความเจ็บท้องในขณะที่ลูกดิ้น ซึ่งการดิ้นของทารกในครรภ์นั้นยังบอกได้ถึงสภาวะทางอารมณ์ของลูกน้อย รวมทั้งเกิดขึ้นได้จากปัจจัยที่มีผลตอบสนองต่อการดิ้นของทารกด้วย ได้แก่ ปริมาณน้ำคร่ำ อาหารที่คุณแม่ทาน ระดับน้ำตาลในเลือดของแม่ และสิ่งกระตุ้นภายนอกอื่นๆ เช่น แสง หรือเสียง เป็นต้น
บทความแนะนำ : ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ลูกดิ้น สัญญาณสำคัญที่แม่ท้องต้องรู้
นับจำนวนการดิ้น เช็กความแข็งแรงของลูกน้อย
สำหรับการนับความถี่การดิ้นของทารกในครรภ์ คุณแม่สามารถใช้การนับลูกดิ้นด้วยวิธีง่าย ๆ คือ นับจำนวนครั้งการดิ้นของลูกตั้งแต่เช้าถึงเย็นหรือประมาณ 10-12 ชั่วโมง แล้วดูว่าลูกดิ้นมากกว่า 10 ครั้งหรือไม่ ถ้ามากกว่า 10 ครั้งถือว่ายังปกติ หรือถ้าลูกดิ้นตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ภายใน 1 ชั่วโมงแสดงว่ายังปกติ แต่ถ้านับแล้วมีการดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งให้ลองนับต่อไปอีก 1 ชั่วโมง เนื่องจากว่าทารกในครรภ์จะมีการหลับอยู่ที่ประมาณ 20-40 นาที หรืออาจหลับยาวนานถึง 75 นาที เพราะฉะนั้นการนับการดิ้นของลูกต่อเนื่องไปชั่วโมงที่สองต้องไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง แต่ถ้านับได้น้อยกว่า 3 ครั้ง ติดกันทั้ง 2 ชั่วโมง อาจแสดงถึงภาวะผิดปกติของลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งโดยปกติแล้วการดิ้นของทารกในแต่ละวันนั้นอาจจะไม่เท่ากัน บางวันดิ้นมากบางวันดิ้นน้อย แต่ก็จะดิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นถึงทารกมีการเจริญเติบโตด้านระบบประสาทและกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง โดยประมาณแล้วช่วงอายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะดิ้นอยู่ประมาณ 200 ครั้งต่อวัน และจะดิ้นได้สูงสุดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 30-32 สัปดาห์ โดยมีอัตราการดิ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 375-700 ครั้งต่อวัน หลังจากนั้นเมื่อทารกตัวโตขึ้นจนเต็มโพรงมดลูก ทำให้พื้นที่ในการดิ้นลดลง จำนวนครั้งของการดิ้นที่นับได้จึงน้อยลงด้วย
ลูกในท้องไม่ดิ้นแม่อย่านิ่งนอนใจ!
การดิ้นของทารกนั้น แม้จะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์ แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่อาจซ่อนอยู่ได้เช่นกัน เพราะการที่ลูกดิ้นมาก มีการเคลื่อนไหวที่ลดน้อยลง หรือลูกไม่ดิ้นนั้นอาจมีข้อบ่งชี้มาจาก
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีโรคหรือมีความผิดปกติที่ตรวจพบอยู่ก่อนแล้วหรือกำลังรักษาอยู่ หากพบว่าลูกในครรภ์ดิ้นแรงมากอยู่ระยะหนึ่งแล้วหยุดดิ้นไปเลยและไม่มีอาการดิ้นอีกต่อไป นั่นคือสัญญาณอันตรายที่บอกว่าทารกในครรภ์เสียชีวิตไปแล้ว
- ลูกน้อยในครรภ์ไม่ได้รับออกซิเจนหรือสารอาหารที่เพียงพอตามความต้องการผ่านทางรก
- ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปหรืออาการแทรกซ้อนในระยะแรกของการตั้งครรภ์
- พื้นที่ในโพรงมดลูกคับแคบจนกระทั่งลูกแทบจะเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือทารกตัวใหญ่จนขยับตัวได้ยาก
- เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์จนลูกไม่มีแรงจะดิ้น หากปล่อยไว้นานก็จะทำให้ทารกไม่มีโอกาสรอดชีวิตเลยก็เป็นได้
ดังนั้นเมื่อคุณแม่รับรู้ได้ว่าลูกดิ้นการรับจำนวนครั้งในการดิ้นของลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างในช่วงเวลาตั้งครรภ์ และสามารถกระตุ้นการดิ้นของทารกในครรภ์ให้เกิดการตอบสนองได้ อาทิเช่น
- การยืน เดิน ขยับตัวเคลื่อนไหวเบา ๆ ไปรอบ ๆ ห้อง
- แตะท้องให้เป็นจังหวะเบา ๆ หรือลูบท้องบ่อย ๆ
- การรับประทานของว่าง
- การดื่มน้ำเย็น
- การร้องเพลงหรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง
- ส่องไฟฉายไปที่ท้อง
- แต่ถ้าลูกยังไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง ก็เป็นไปได้ว่าอาจเกิดความผิดปกติกับการตั้งครรภ์หรือมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อย ซึ่งคุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดนะคะ นอกจากนี้
- ปรับเปลี่ยนท่านอนเป็นตะแคงซ้าย ตะแคงขวาบ้าง หรือจะกึ่งนั่งกึ่งนอน
- ออกกำลังกายสำหรับคนท้อง เช่น โยคะคนท้อง ว่ายน้ำ
หากใช้วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้นและมีการเคลื่อนไหวคุณแม่ก็สามารถเบาใจและคลายกังวลลงได้ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อยหรือไม่ดิ้นในช่วงเวลาหนึ่งอาจเป็นเพราะทารกในครรภ์กำลังหลับซึ่งทำให้ลูกขยับน้อยมากนั้นเอง แต่ถ้าพบว่าไม่ว่าจะมีการกระตุ้นใด ๆ ก็ตาม ลูกไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองต่อการกระตุ้น หรือการเคลื่อนไหวของลูกน้อยลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือค่อย ๆ ลดลงเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน เมื่อสังเกตเห็นอาการแบบนี้ควรไปพบหมอทันที และที่สำคัญการฝากครรภ์เพื่อไปพบหมอตามนัดให้คุณแม่และลูกน้อยได้รับการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่าง ๆ ในขณะตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงคลอดให้ลูกน้อยได้ลืมตาดูโลกได้อย่างปลอดภัยกันทั้งคู่นะคะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.sanook.com, www.pobpad.com, www.paolohospital.com
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก :
ลูกดิ้นน้อยลง อาการนี้ที่แม่ท้องแก่ต้องรู้!
ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ลูกดิ้น สัญญาณสำคัญที่แม่ท้องต้องรู้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่