สำหรับคู่รักที่พร้อมจะสร้างคำว่า “ครอบครัว” ให้สมบูรณ์ด้วยการมี “ลูก” เป็นโซ่ทองคล้องใจ อันดับแรกก็ต้องเริ่มเตรียมตัวเตรียมร่างกายและจิตใจให้ดี เพราะใคร ๆ ก็อยากให้การถือกำเนิดของเจ้าตัวน้อยนั้นออกมาราบรื่นไร้ปัญหาใช่ไหมล่ะคะ…โดยเฉพาะคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่ยิ่งต้องเตรียมตัวมากเป็นพิเศษ ลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีอะไรบ้างที่ว่าที่คุณแม่ควรจะได้ทำ เพื่อเตรียมตัวก่อนที่จะมีเจ้าตัวน้อยบ้าง
วิธีที่ 1 เล่นโยคะ
ความเครียดมักเป็นตัวแปรที่ผกผันสวนทางกับระดับฮอร์โมนสืบพันธุ์ การเล่นโยคะจะทำให้คุณสมาธิจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้าออกระหว่างที่ทำท่าต่างๆ จึงช่วยลดความเครียดจากชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ ขณะที่ยืดหยุ่นร่างกาย ผู้ฝึกโยคะยังต้องสูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ ซึ่งจะช่วยให้หัวใจเต้นช้าลง แต่เพิ่มปริมาณออกซิเจนในเลือดมากขึ้น นายแพทย์โรเบิร์ต เอ กรีน ผู้เขียน Perfect Hormone Balance for Fertility แนะนำว่า การเล่นโยคะครั้งละ 45 นาที 2 ครั้ง/สัปดาห์ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
วิธีที่ 2 บอกลาผลิตภัณฑ์ที่มีสารพทาเลต
สารพทาเลตเป็นสารเคมีซึ่งใช้เติมลงไปในพลาสติกเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น มีรายงานถึงความเป็นพิษของสารชนิดนี้ว่า อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในเด็ก และอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนด*
สารในตระกูลพทาเลตที่คุณสาวๆ อาจต้องสัมผัสในชีวิตประจำวัน คือ บิวทิลเบนซิลพทาเลท (butylbenzyl phthalate, BBP) ซึ่งเป็นสารที่สร้างลอกเลียนฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิดความมันเงาในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น สีทาเล็บ ลิปสติก หรือน้ำหอมบางยี่ห้อ ฯลฯ มีรายงานว่า สารเคมีชนิดนี้อาจส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม และภาวะมีบุตรยากได้
*แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เอกสารของกลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
วิธีที่ 3 กินผักผลไม้ปลอดสารพิษ
สารเคมีในยาปราบศัตรูพืชยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืช แมลง และสัตว์อื่นๆ อย่างไร ก็ส่งผลกับร่างกายคุณอย่างนั้น เพียงแต่อาจจะส่งผลน้อยกว่าหรือเห็นผลช้ากว่า ดังนั้นพยายามเลือกกินผักที่แน่ใจว่า ปลอดสารพิษ หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
วิธีที่ 4 ไปตามนัดสูติแพทย์
การไปพบสูติแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการมีบุตร เป็นสิ่งที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ในอนาคตควรปฏิบัติ เพราะสาเหตุของการมีบุตรยากหลายประการ เช่น รังไข่ทำงานผิดปกติ โรคต่อมไทรอยด์ โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือภาวะความผิดปกติของสเปิร์มในฝ่ายชาย ฯลฯ ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จะต้องให้สูติแพทย์ตรวจวินิจฉัยและหาวิธีรักษา
นอกจากนี้ สูติแพทย์ยังช่วยให้คุณคำนวณวันไข่ตกได้แม่นยำขึ้น วางแผนการฉีดวัคซีนต่างๆ เช่น วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน (ซึ่งต้องฉีดก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน) และตรวจหาความเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมียได้ด้วย