วิธีที่ 5 ทานไอศกรีมและดื่มนม (ไม่พร่องมันเนย)
สาวๆ ที่กังวลเรื่องน้ำหนักมักคิดว่า การดื่มนมพร่องมันเนย หรือนมไขมันต่ำ อ้วนน้อยกว่าการดื่มนมธรรมดา แต่สำหรับใครที่อยากมีเจ้าตัวเล็กไว้เชยชม คงต้องเลี่ยงนมไขมันต่ำไปก่อน เพราะผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า ผู้หญิงที่บริโภคผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำอาจมีปัญหาไข่ไม่ตกมากขึ้นถึงร้อยละ 85 ขณะที่การบริโภคผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ซึ่งมีไขมัน เช่น นมจืด (ไม่พร่องมันเนย) และไอศกรีม กลับลดความเสี่ยงนี้ได้
นายแพทย์จอร์เก ชาร์วาโร หัวหน้าคณะวิจัย และผู้เขียน The Fertility Diet อธิบายว่า สาเหตุอาจมาจากสารอาหารและฮอร์โมนในนมที่ช่วยกระตุ้นการเจริญพันธุ์นั้นละลายได้ในไขมัน ดังนั้นนมพร่องมันเนยที่สกัดไขมันออก ก็อาจมีสารอาหารเหล่านี้น้อยลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นว่าที่คุณแม่ก็ไม่ควรมีปัญหาน้ำหนักเกิน ดังนั้นคุณจึงควรบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมแต่พอดี และลดไขมันชนิดอื่นซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ (เช่น บรรดาอาหารขยะต่างๆ) ลงด้วย
วิธีที่ 6 เข้านอนให้เร็วขึ้น
“8% ของการตกไข่จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเที่ยงคืน – ตีสี่ ขณะที่คุณกำลังนอนหลับสนิท” คุณหมอกรีน กล่าว การนอนหลับไม่เพียงพออาจส่งผลต่อการผลิตไข่ รวมถึงลดระดับฮอร์โมนสืบพันธุ์ของคุณได้ ดังนั้น จงพยายามเข้านอนเร็วๆ เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน รวมถึงงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 6-8 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
วิธีที่ 7 กินคาร์โบไฮเดรตที่ ‘มีประโยชน์’
คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น น้ำตาล แป้ง ข้าวขาว และมันฝรั่ง ฯลฯ จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและเปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ากินมากเกินไปก็อาจสะสมอยู่ในกระแสเลือด จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง รวมถึงโรคอ้วนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะรังไข่ทำงานผิดปกติ (Polycystic Ovarian Syndrome – POCS)
ดังนั้น พยายามเลือกกินคาร์โบไฮเดรตชนิดเชิงซ้อน เช่น ข้าวซ้อมมือ ถั่ว ผลไม้ที่มีกากใย และธัญพืชฯลฯ แทนดีกว่า เพราะอาหารเหล่านี้มีสารอาหารชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ใยอาหาร และวิตามินเกลือแร่ เมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างกายจะต้องใช้เวลาย่อยสลาย จึงให้พลังงานอย่างต่อเนื่อง และไม่ทำให้อ้วน (ถ้าไม่กินมากเกินไป)
วิธีที่ 8 เพิ่มกรดโฟลิก
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Fertility and Sterility รายงานว่า กรดโฟลิกไม่ได้ส่งผลดีแค่กับว่าที่คุณแม่ไตรมาสแรก แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ด้วย เพราะฉะนั้น รีบกินอาหารที่มีกรดโฟลิกเช่น ผักใบเขียว ข้าวกล้อง ถั่วแดง และผลไม้ ฯลฯ ตุนไว้เสียแต่วันนี้ ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับกรดโฟลิกอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม (และเพิ่มเป็น 600 ไมโครกรัมเมื่อตั้งครรภ์)