ยาคุม ยาคุมฉุกเฉิน ยาคุมแบบฝัง และอีกหลากหลายชนิดของยาคุมที่คุณสาว ๆ ควรรู้ก่อนใช้ จะได้ไม่พลาด ไม่เสี่ยง ใช้แบบไหนไม่อันตราย กับ 10 เรื่องควรรู้ก่อนใช้
8 เรื่องควรรู้ก่อนใช้ ยาคุม กับ 7 เรื่องยาคุมฉุกเฉินที่รู้ไว้ไม่พลาด!!
เพศสัมพันธ์ พฤติกรรมทางเพศ กับวัฒนธรรมสังคมไทย ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ได้เปิดกว้างทั้งการยอมรับ และการพูดถึงเท่าไหร่นัก แต่ก็คงโต้แย้งไม่ได้ว่าพัฒนาการเรื่องเพศเกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เด็กจนโต การที่เราได้เรียนรู้ธรรมชาติความเป็นจริงทางเพศตามวัยอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เรานำความรู้นั้นมาใช้ปรับตัว และมีพฤติกรรมที่ถูกต้องในเรื่องเพศ ดังนั้นเรื่องเพศจึงสามารถสอนได้ เรียนรู้ได้ การมีแนวทางที่ถูกต้อง จะสามารถป้องกันปัญหาทางเพศที่อาจเกิดตามมาทั้งต่อสุขภาพร่างกาย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือปัญหาทางสังคม เช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น
ความรู้เรื่องการคุมกำเนิด รู้ไว้..ง่ายกว่าการรับมือ เมื่อตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม
การคุมกำเนิดเป็นความรู้หนึ่ง ที่เราควรทราบ และสอนลูกหลานต่อไป เป็นองค์ความรู้เบื้องต้นที่ทุกคนควรทราบ เพราะการคุมกำเนิดเป็นเรื่องง่ายกว่าการรับมือเมื่อตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม
การคุมกำเนิด (Contraception, Birth Control) หมายถึง วิธีการป้องกันไม่ให้อสุจิ และไข่ผสมกันจนเกิดการปฏิสนธิ หรือป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนที่ถูกผสมแล้ว รวมถึงการทำลายไข่ที่ผสมแล้วและมีการฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งมีหลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการใส่ถุงยางอนามัย การทานยาคุมกำเนิด การทำหมัน
ในที่นี้ขอกล่าวถึง การใช้ยาคุมกำเนิด ในการคุมกำเนิดว่า มียาคุมแบบใด ชนิดใด วิธีการใช้ยา ข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบ และอาการข้างเคียงของยาคุมแต่ละชนิด เพื่อเป็นความรู้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้เลือกใช้การคุมกำเนิดแบบการทานยาคุม จะได้เลือกใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมกับตัวเอง และข้อควรระวังต่าง ๆ
ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน
ยาคุมกำเนิด (Contraceptive Pill หรือ Birth Control Pill) เป็นหนึ่งในวิธีการคุมกำเนิดด้วยการรับประทานยาเม็ดซึ่งบรรจุฮอร์โมนเพศหญิงไว้ ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง ทั้งปากมดลูก ผนังมดลูก และรังไข่ ผู้หญิงที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นการทานยาคุมก็จำเป็นต้องทานอย่างถูกต้องถูกเวลาและสม่ำเสมอ หากลืมทานอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้
8 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิด
- ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด (Birth Control Pill) ประกอบไปด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีความสำคัญต่อการป้องกันการตั้งครรภ์
- ยาคุมกำเนิดมีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้ นอกจากนี้ยังทำให้เมือกบริเวณปากมดลูกมีความเหนียวข้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้อสุจิไม่สามารถเข้ามาผสมกับไข่เพื่อปฏิสนธิได้นั่นเอง
- ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด มีทั้งแบบ 21 เม็ด และแบบ 28 เม็ด โดยแบบ 21 เม็ด เมื่อกินจนหมดแผงแล้ว จะต้องเว้นไป 7 วันจึงจะสามารถเริ่มแผงใหม่ได้ ส่วนแบบ 28 เม็ด จะมีตัวยาจริงเพียง 21 เม็ด และมีเม็ดแป้งอีก 7 เม็ด (ซึ่งเสมือนเป็นยาหลอก) เหมาะสำหรับคนที่กลัวจะนับวันผิด จึงต้องกินต่อกันจนหมดแผง แต่ไม่ว่าจะกินแบบใด21 หรือ 28 เม็ด ก็ได้ผลในการคุมกำเนิดเท่ากัน
- สำหรับการใช้ยาคุมกำเนิดครั้งแรก หรือการเริ่มใช้อีกครั้งหลังหยุดคุมกำเนิดไประยะหนึ่ง ควรเริ่มกินภายในวันที่ 1-5 ของช่วงที่มีประจำเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ เพราะอาจเสี่ยงทำให้ตัวอ่อนทารกพิการได้หากกำลังตั้งครรภ์อยู่พอดี
- การกินยาคุมกำเนิดจะต้องกินเวลาเดิมทุกวัน หากลืมกินยาจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง และหากลืมกินยาคุมกำเนิดมากกว่า 3 ชั่วโมง ให้กินทันทีที่นึกขึ้นได้ และกินเม็ดต่อไปในเวลาเดิม
- การกินยาคุมกำเนิดอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัดเต้านม อารมณ์แปรปรวน หรือมีเลือดออกผิดปกติ อาการเหล่านี้บางคนอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้
- วิธีกินยาคุมกำเนิดที่ถูกต้อง ควรดูวันที่ตามจริงและวันที่บนแผงอย่างละเอียด ซึ่งบนแผงยาจะระบุวันไว้ตั้งแต่วันจันทร์ถึงอาทิตย์ หากวันที่จะเริ่มกินยาเม็ดแรกเป็นวันพุธก็ให้แกะยาเม็ดแรกของวันพุธมากิน แล้วกินต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแผง ที่ต้องให้กินแบบนี้เพื่อจะได้ไม่หลงลืมว่าในวันนั้นๆ กินยาไปแล้วหรือยัง
- ก่อนกินยาคุมกำเนิดแผงใหม่ทุกครั้ง ควรตรวจเช็คดูวันหมดอายุก่อนใช้ยา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ประเภทของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน
- ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว
เป็นยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงชนิดเดียว เป็นชนิดที่ผลิตออกมาเพื่อลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เหมาะกับคนที่มีปัญหาสุขภาพหรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรหลังคลอด เพราะหากทานชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยจะส่งผลต่อการผลิตน้ำนมของคุณแม่ ผลข้างเคียงคืออาจจะทำให้รอบเดือนไม่มา มาไม่สม่ำเสมอ หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอยเป็นๆ หายๆ ขณะที่ใช้ยา - ยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวม
เป็นชนิดที่นิยมใช้กันมากที่สุดมีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินรวมกันในเม็ดเดียว โดยยาคุมชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงหากรับประทานอย่างถูกต้อง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิด
ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลังการใช้ยา ดังนี้
- มีเลือดไหลก่อนรอบประจำเดือน
- เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้วิงเวียน ปวดหน้าอก อารมณ์แปรปรวน
- ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้
- เพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน มะเร็งเต้านม
ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลังการใช้ยา ดังนี้
- มีเลือดไหลก่อนรอบประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- อารมณ์แปรปรวน
- เกิดปัญหาสิวอุดตัน
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- ปวดหัว ปวดหัวไมเกรน
- ปวดหน้าอก หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น
- ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
- มีแรงขับทางเพศที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง
- เกิดถุงน้ำ (ซีสต์) ที่รังไข่
ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน (Emergency pill)
การคุมกำเนิดฉุกเฉิน คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือ เกิดการผิดพลาด เช่น ถุงยางอนามัยหลุด การไม่ได้รับประทานยาคุมกำเนิด ลืมกินยาคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด หรือยาฝังคุมกำเนิดหลุด รวมไปถึงการถูกข่มขืน การรับประทานยาคุมฉุกเฉินจะต้องเริ่มทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินเป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูงทั้งผลในระยะสั้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และผลในระยะยาว หากเกิดการตั้งครรภ์ในขณะที่รับประทานยาคุมฉุกเฉินไป จะทำให้มีโอกาสเกิดการท้องนอกมดลูกได้สูง ซึ่งเป็นอันตรายมาก ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำ
วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน
ในประเทศไทยจะมีขายยาคุมฉุกเฉินชนิด 2 เม็ดในหนึ่งกล่อง ซึ่งตัวยามีขนาดเม็ดละ 0.75 mg โดยสามารถกินยาคุมฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนี้
- กินยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกให้เร็วที่สุดหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือภายใน 72 ชั่วโมงแรก
- กินยาคุมฉุกเฉินเม็ดที่สองหลังจากเม็ดแรกภายใน 12 ชั่วโมง
ทั้งนี้การกินยาคุมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดไม่ควรเกิน 3-5 วัน เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างเต็มที่
7 ข้อควรรู้ในการใช้ยาคุมฉุกเฉิน
- ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถใช้ในการทำแท้งได้ เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินมีกลไกในการยับยั้งการตกไข่ และป้องกันการฝังตัวของไข่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก เพราะฉะนั้นหากมีไข่ที่ผสมกับอสุจิ และฝังตัวอยู่ที่ผนังมดลูกเรียบร้อยแล้ว ยาคุมฉุกเฉินจะไม่สามารถเข้าไปทำลาย หรือยุติการตั้งครรภ์ดังกล่าวได้
- ยาคุมฉุกเฉินมีผลข้างเคียงสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นอาการหลังกินยาคุมฉุกเฉิน ไปจนถึงผลข้างเคียงระยะยาว ซึ่งระยะแรกอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่ในระยะยาวหากมีการกินยาคุมฉุกเฉินอยู่บ่อยครั้ง อาจส่งผลต่อการท้องนอกมดลูกได้ในอนาคต
- ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 75% หากกินยาคุมฉุกเฉินควรกินให้เร็วที่สุดหลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน และต้องกินยาเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมง และตามด้วยยาเม็ดที่สอง แต่อย่างไรก็ตามหากทานภายใน 24 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ จะช่วยเพิ่มการป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากถึง 85%
- ยาคุมฉุกเฉิน ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ยาคุมฉุกเฉินไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ และไม่ส่งผลให้การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปช้าลง หรือมีโอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลง
- หากต้องการคุมกำเนิดระยะยาวควรรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติ
- ยาคุมฉุกเฉินสามารถกินพร้อมกันสองเม็ด แต่ก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ต่างกับการกินทีละเม็ด แต่การกินสองเม็ดพร้อมกันอาจจะก่อให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียนมากกว่าการกินทีละเม็ด
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.paolohospital.com/www.doctorraksa.com/www.pobpad.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
วิธีคุมกำเนิด แบบไหนมีสิทธิภาพและปลอดภัย ถ้าแม่ยังไม่พร้อมมีลูกคนที่ 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่