ยาคุมชนิดฮอร์โมนฉีดวัคซีน – เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวน่าเศร้าของหญิงวัย 32 ปี รายหนึ่ง ที่เสียชีวิต หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดย ซิโนแวค ไบโอเทค ซึ่งหลังจากการได้รับวัคซีน พบว่ามีอาการเหนื่อยง่าย ขึ้นลงบันไดเหนื่อย ก่อนล้มลงและเสียชีวิต ซึ่งจากผลตรวจ CT scan พบลิ่มเลือดในปอด (PE) โดยแพทย์คาดอาจเกิดจากการทานยาคุมกำเนิด หลังจากข่าวเผยแพร่ออกมาได้สร้างความแตกตื่นในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดคำถามมากมายว่า หากใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนอยู่ต้องหยุดยาก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนหรือไม่
ใช้ ยาคุมชนิดฮอร์โมนฉีดวัคซีน ป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่?
ล่าสุด ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเรื่อง การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และ การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ใจความว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งส่วนหนึ่งใช้ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนมีหลายอย่าง เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด และ แผ่นยาปิดผิวหนังคุมกำเนิด
สำหรับในประเทศไทย การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ และมีผลข้างเคียงน้อย ยาเม็ดคุมกำเนิดได้รับการวิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 50 ปี
จากประกาศดังกล่าวนี้ทาง ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
โควิด-19 ในผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนไว้ ดังนี้
1. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ยาเม็ด ยาฉีดคุมกำเนิด
และแผ่นยาปิดผิวหนังคุมกำเนิด มีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้วิธีการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวพบได้น้อยมากในสตรีไทย และยังพบได้น้อยกว่าในสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งมีระดับเอสโตรเจนสูงมากตามธรรมชาติ
2. ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ซึ่งรวบรวมจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในสตรีทั่วโลกและในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ไม่พบว่ามีการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด
3. ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิด สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้
4. หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์.
ยาคุมฉุกเฉิน ผู้หญิงรู้ไว้ใช้บ่อยไปผลร้ายตกอยู่กับคุณ!
ยาคุมกำเนิดแม่หลังคลอดกินอย่างไรให้ปลอดภัย? ไม่กระทบน้ำนม
อัพเดทล่าสุด รีวิว15 ยาคุมยี่ห้อไหนดี พร้อมข้อดี-ข้อเสียแบบชัดๆ เข้าใจง่าย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ด้าน พล.อ.ท. นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธาน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊ก ตอบข้อซักถาม กรณีการคุมกำเนิดกับการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ไว้น่าสนใจดังนี้
” ในฐานะของหมอเมดไม่ใช่หมอสูติ เลยต้องอ้างอิงข้อแนะนำของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศอังกฤษ (Royal College of Obstretricians & Gynecologists) โดย Faculty of Sexual and Reproductive Healthcare (FSRH) เรื่องการคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมกับการรับวัคซีนโควิด-19 สรุปให้อ่านกันตามนี้ครับ
“การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำเพิ่มขึ้น (ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีน) ซึ่งผู้รับการคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมยอมรับต่อความเสี่ยงนี้ เมื่อเทียบกับผลดีจากการใช้การคุมกำเนิดดังกล่าว
“มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำเพียงไม่กี่รายหลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ และไม่มีข้อมูลว่าการคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมทำให้ความเสี่ยงนั้นเพิ่มขึ้น ”
จากทั้งสองข้อมูลดังกล่าวข้างต้น อาจทำให้ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรู้สึกอุ่นใจกันได้บ้าง หลังจากมีข้อสงสัยและวิตกกังวลในวงกว้าง จนเป็นประเด็นร้อนทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ในเพจเฟซบุ๊คชื่อดังอย่าง หมอแล็บแพนด้า ก็ได้มีการออกมาโพสต์ข้อความยืนยันประกาศจากทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ข้างต้น และได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “สำหรับใครยังมีความกังวลใจ และอยากหยุดยาคุมชนิดฮอร์โมน ก็ให้เลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ แทนได้ แต่หลักๆ ก็คือ ใครใช้ยาคุม สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ได้ตามปกติ”
ทั้งนี้ ล่าสุด วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ซีเอ็นบีซี รายงานว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดย ซิโนแวค ไบโอเทค สำหรับรายการใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อปูทางสู่การใช้วัคซีนตัวที่ 2 ของจีน ในประเทศยากจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยการได้รับอนุมัติให้วัคซีนดังกล่าว อยู่ในรายการฉุกเฉินของ WHO ถือเป็นสัญญาณถึงหน่วยงานกำกับดูแลระดับประเทศ เกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน นอกจากนี้ทาง WHO ยังอนุมัติให้วัคซีนจาก ซิโนแวค สามารถนำไปใช้ใน โครงการโคแวกซ์ (Covax) ได้อีกด้วย
คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระเผยในแถลงการณ์ว่า พวกเขาแนะนำให้ใช้วัคซีนซิโนแวคกับผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปี โดยให้เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก ราว 2-4 สัปดาห์ พร้อมระบุว่าวัคซีนชนิดนี้ ไม่จำกัดอายุสูงสุดของผู้เข้ารับวัคซีน เนื่องจากตามข้อมูลบ่งชี้ว่ามีแนวโน้มที่วัคซีนจะมีผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้สูงอายุ
ปัจจุบันถือการรับวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค นอกจากนี้ การให้ความสำคัญและใส่ใจในการป้องกันและดูแลตัวเอง เช่น การหมั่นล้างมือบ่อยๆ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน แม้แต่การเว้นระยะห่างทางสังคมก็ยังเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
ในช่วงที่ผ่านมาของการเกิดโรคระบาด เราอาจเห็นภาพของเด็กๆ ตัวน้อยที่คุณพ่อคุณแม่สวมหน้ากากอนามัยให้อย่างเข้มงวดเมื่อต้องอยู่นอกบ้าน หรือเทเจลแอลกอฮอล์ให้เด็กๆ ล้างมือทุกครั้งหลังวิ่งเล่นซนในที่สาธารณะ ซึ่งสิ่งนี่ก็คือการปลูกฝังให้เด็กๆ ได้รู้จักระมัดระวังป้องกันตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บ ที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนสามารถทำได้และควรทำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่โรคระบาดแทบจะมาเคาะประตูหน้าบ้านเราอยู่ทุกวัน หากเราสามารถปลูกฝังเด็กๆ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยส่งเสริมให้พวกเขาจะเกิดทักษะที่สำคัญด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี (HQ) ทำให้รู้จักดูแลและป้องกันตัวเอง ให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : http://www.rtcog.or.th/home , prachachat.net , www.who.int , เพจหมอแล็บแพนด้า
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ผู้เชี่ยวชาญชี้! การให้ วัคซีนโควิด คนท้อง ยังปลอดภัย หลังไม่พบเคสรุนแรงหลังฉีด
วิธีเช็กความ เสี่ยงติดโควิด-19 อาการแบบไหนต้องรีบไปตรวจหาเชื้อ
กรมอนามัยเผย คนท้องติดเชื้อโควิด เสี่ยงป่วยหนัก แนะฉีดวัคซีนป้องกัน! หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่