บลาสโตซิสท์ ช่วยให้มีลูกคืออะไร - Amarin Baby & Kids

บลาสโตซิสท์ ช่วยให้มีลูกคืออะไร

Alternative Textaccount_circle
event

คราวนี้เรียลพาเรนต์สขอนำเสนอวิธีการล่าสุดที่ช่วยแก้ปัญหาคู่สมรสที่มีบุตรยาก นั่นคือ การทำ บลาสโตซิสท์ มาอธิบายให้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้นค่ะ

บลาสโตซิสท์ เป็นวิธีการทางการแพทย์อีกแบบหนึ่งที่ช่วยให้คู่สมรสมีลูกได้สำเร็จ โดยมีขั้นตอนและวิธีการเริ่มต้นเพื่อให้ได้ไข่ คล้ายการทำไอวีเอฟ และอิ๊กซี่ คือจะใช้การกระตุ้นและเตรียมไข่ของฝ่ายหญิงก่อน เมื่อไข่พร้อม เราก็จะทำขั้นตอนการเก็บไข่ คือนำเข็มไปดูดไข่ในช่องคลอดออกมา แต่วิธีการต่อจากนี้จะต่างกัน นั่นคือ หากทำไอวีเอฟ ก็จะนำสเปิร์มไปใส่ไว้ข้างๆ ไข่ที่เก็บมาได้ แล้วรอให้สเปิร์มวิ่งเข้าไปเจาะเพื่อผสมกับไข่เอง แต่หากทำวิธีอิ๊กซี่ เราจะนำสเปิร์มมาแล้วใช้เครื่องมือจับใส่เข้าไปในไข่ให้เลย โดยไม่ต้องรอให้สเปิร์มวิ่งเข้าไปหาไข่ จากนั้นก็รอกระบวนการที่ไข่กับสเปิร์มเกิดการปฏิสนธิกันเอง วิธีการทำบลาสโตซิสท์ก็จะใช้วิธีการตั้งต้นเหมือนกับไอวีเอฟ และอิ๊กซี่เช่นกัน เพียงแต่ต่างกันเรื่องช่วงเวลาการเลี้ยงตัวอ่อนเท่านั้น

อธิบายง่ายๆ ก็คือ หลังจากที่เราทำไอวีเอฟ หรืออิ๊กซี่ แล้ว เมื่อเกิดการปฏิสนธิกันเรียบร้อย เราก็จะรู้แล้วว่ามีการผสมกันเกิดขึ้นกี่คน คุณพ่อคุณแม่จะมีลูกมากี่คน หรือภาษาทางการแพทย์เรียกว่าตัวอ่อน ซึ่งเราถือว่าเขามีชีวิตแล้ว แต่ปกติการทำไอวีเอฟ และอิ๊กซี่ เราจะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการอยู่ประมาณ 2-3 วัน เมื่อเห็นว่าสมบูรณ์ดี ก็จะนำตัวอ่อนนี้กลับไปหยอดคืนในมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ในผนังมดลูก จนเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น แต่หากตัวอ่อนไม่ฝังในมดลูก หรือที่เรียกว่า ‘หลุด’ ก็เป็นสิ่งที่เทคนิคทางการแพทย์ควบคุมไม่ได้ ต้องหาสาเหตุเพื่อป้องกันแก้ไขกันต่อไป

กลับมาที่การเลี้ยงตัวอ่อน จากเดิมที่เราเคยเลี้ยงเขาไว้ 2-3 วันเพื่อดูความสมบูรณ์ ปัจจุบันมีเทคนิคใหม่ คือการเลี้ยงตัวอ่อนต่อไปให้นานขึ้นอีกประมาณ 2-3 วัน วิธีนี้เรียกว่าการทำ บลาสโตซิสท์ (Blastocyst Culture) คือให้ตัวอ่อนโตขึ้นมาในระยะที่เรียกว่า “บลาสโตซิสท์” ซึ่งเป็นการเรียกชื่อระยะการพัฒนาหรือเติบโตของตัวอ่อนในจุดหนึ่ง บลาสโตซิสท์จะได้เปรียบกว่าการทำไอวีเอฟและอิ๊กซี่ เนื่องจาก 2 วิธีแรกตัวอ่อนที่เลี้ยงไว้จะมีอายุเพียง 2-3 วัน ก็จะนำไปหยอดคืนในมดลูกของคุณแม่แล้ว แต่ บลาสโตซิสท์ตัวอ่อนจะอยู่ในความดูแลของหมอประมาณ 5 วัน แล้วจึงนำไปใส่ให้อยู่กับคุณแม่ต่อไป ซึ่งในบางทฤษฎีก็ชี้ว่าจะสามารถดูแลให้ตัวอ่อนแข็งแรงสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะให้ไปอยู่ในมดลูกคุณแม่ แต่อย่างไรก็ตามวิธีการต่างๆ ก็มีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ แพทย์จึงต้องวินิจฉัยถึงความเหมาะสมก่อนที่จะทำแต่ละวิธีเสมอ

ข้อดีของการทำบลาสโตซิสท์คือ หมอจะได้เห็นศักยภาพของเด็กหรือตัวอ่อนที่เขาจะโตต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง จนมาถึงระยะ บลาสโตซิสท์ ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีความสมบูรณ์ค่อนข้างมาก เนื่องจากในบางครั้ง การที่ตัวอ่อนเติบโตได้อายุ 2-3 วัน อาจจะบอกได้ยากว่าเขาจะโตต่อไปจนแข็งแรงสมบูรณ์ดีเต็มที่แค่ไหน แต่การที่เราเลี้ยงตัวอ่อนให้นานขึ้น จะสังเกตและรู้ว่าเขาจะหยุดเจริญเติบโตหรือเปล่า ดังนั้น บลาสโตซิสท์ จึงมีข้อดีกว่าวิธีอื่นในแง่ที่เราจะได้เห็นการเติบโตสมบูรณ์ของตัวอ่อนได้มากขึ้น

 

จากคอลัมน์ Get Pregnant นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนสิงหาคม 2558

เรื่องโดย นายแพทย์สันธา ศรีสุภาพ หัวหน้าหน่วยผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลราชวิถี

เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพโดย Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up