รู้ใจพันธุ์เจ้าตูบน้อย
ข่าวสุนัขกัดเด็กมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่สุนัขก็ไม่ใช่สัตว์ที่น่ากลัวเสมอไป ก่อนจะนำสุนัขมาเลี้ยง (หรือมีอยู่แล้ว) ต้องเข้าใจลักษณะนิสัยตามสายพันธุ์ของสุนัข ซึ่งบางสายพันธุ์ตัวเล็ก แต่ชอบขบกัด และข่วน ก็อาจจะทำให้ผิวหนังของผู้เลี้ยงเป็นแผลซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อโรคบาดทะยัก บางสายพันธุ์ก็เป็นมิตรกับเด็ก บางพันธุ์ก็มีความรู้สึกขี้น้อยใจเหมือนถูกแย่งความรัก
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า
1. เชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะหน้าร้อนเท่านั้น
2. เชื่อว่าเมื่อถูกสุนัขกัดต้องใช้รองเท้าตบแผล หรือใช้เกลือขี้ผึ้งบาล์ม หรือยาฉุนยัดในแผล
3. หลังถูกกัดต้องรดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้
4. เมื่อถูกสุนัขกัด การฆ่าสุนัขให้ตายแล้วนำตับสุนัขมากิน คนก็จะไม่ป่วยเป็นโรคนี้
5. เมื่อถูกสุนัขกัด การตัดหูตัดหางสุนัขจะช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
6. คนท้องไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
7. โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น
8. วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่ เป็นต้น
ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขที่มีเชื้อไวรัส โรคพิษสุนัขบ้ากัดไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลและดีที่สุด ทำให้โอกาสตายมีร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยขณะนี้วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ามีความปลอดภัยสูง ฉีดเพียง 5 เข็ม และไม่ต้องฉีดทุกวัน
โอกาสที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์กัด ถ้าไม่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่ ให้ถือว่าเป็นไว้ก่อน สัตว์ที่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่พบมากที่สุด คือ สุนัข รองลงมา คือ แมว ม้า ลิง และปศุสัตว์ (วัว, ควาย) สัตว์แทะจำพวกหนู กระรอก ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เป็นโรคกัด โอกาสเป็นโรคโดยเฉลี่ยประมาณ 35% ขึ้นกับบริเวณที่ถูกกัด ถ้าถูกกัดที่ขา โอกาสเป็นโรคประมาณ 21% ถ้าถูกกัดที่ใบหน้า โอกาสเป็นโรคประมาณ 88% ถ้าเป็นแผลตื้น แผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่าแผลลึกหลายๆ แผล
โดยธรรมชาติคนหรือสัตว์จะไม่เกิดโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นเองได้ นอกจากจะถูกสัตว์ที่เป็นโรคนี้กัดจนเป็นแผล ตั้งแต่เป็นรอยขีดข่วนมีเลือดออก เป็นแผลฉีกขาดหรือแผลรูลึก หรือถูกเล็บที่ถูกน้ำลาย สัตว์ป่วยขีดข่วนจนเป็นแผลเลือดออก จึงจะเกิดโรคนี้ได้ มีรายงานทางวิชาการกล่าวไว้ว่า เชื้อที่อยู่ในน้ำลายคนป่วย ถ้าเข้าไปในเยื่อที่ปาก จมูกหรือตา จะสามารถทำให้ผู้รับเชื้อเกิดโรคนี้ได้ แต่รายงานภายในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีใครติดเชื้อจากผู้ป่วยโดยทางนี้
สาเหตุ
เชื้อไวรัสก่อโรคเรียกว่า Rabies virus จัดอยู่ใน Family Rhabdoviridae, genus Lyssavirus เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ สายเดี่ยว และมีทั้งหมด 7 types ลักษณะของเชื้อ รูปร่างคล้ายกระสุนปืน ปลายด้านหนึ่งโค้งมนและปลายอีกด้านหนึ่งตัดตรง ถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำลาย ทางติดต่อสู่คนที่พบบ่อย คือ ถูกกัด โดยทั่วไปเชื้อจะเข้าทางผิวหนังปกติไม่ได้ แต่อาจเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลอยู่เดิม หรือรอยข่วน นอกจากนี้ยังเข้าได้ทางเยื่อเมือก ได้แก่ เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุภายในปาก
วิธีการติดต่อของโรค
เชื้อไวรัสออกมากับน้ำลายสัตว์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน หรือน้อยมากที่พบว่าเชื้อสามารถเข้าทางบาดแผลที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ตามผิวหนัง หรือเข้าเยื่อบุของตา ปาก จมูก ที่ไม่มีแผลหรือรอยฉีดขาด การติดต่อจากคนถึงคน สามารถเกิดได้ตามทฤษฎี เนื่องจากมีการพบเชื้อในน้ำลายของผู้ป่วย แต่ไม่เคยมีรายงานยืนยันที่แน่ชัด นอกจากการติดต่อโดยการปลูกถ่ายกระจกตา จากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคของระบบประสาทส่วนกลางการติดต่อโดยการหายใจพบน้อยมาก มีรายงานการติดต่อในถ้ำค้างคาว และในอดีตมีรายงานในห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ เนื่องจากมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในบรรยากาศสูงมากและขณะนั้นไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอ การติดต่อโดยค้างคาวดูดเลือด ส่วนใหญ่พบในลาตินอเมริกา สำหรับในสหรัฐอเมริกามีรายงานติดโรคมาสู่คนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม โดยค้างคาวกินแมลง แต่พบได้น้อย
ระยะฟักตัวของโรค
ประมาณ 2-8 สัปดาห์ อาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี ระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัย บางประการ ได้แก่ ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางจากแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ และมือ จะมีระยะฟักตัวสั้น จำนวนและความรุนแรงของเชื้อก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อผ้า หรือการล้างแผลจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก
ระยะติดต่อของโรค
สุนัขและแมวอาจแพร่เชื้อได้ 3 – 10 วันก่อนเริ่มแสดงอาการป่วย (พบน้อยมากที่จะเร็วกว่า 3 วัน) และตลอดเวลาที่สัตว์ป่วย ในสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว และสกั้งค์ มีรายงานการปล่อยเชื้อในน้ำลายได้เร็วถึง 8-18 วันก่อนแสดงอาการ
ความไวและความต้านทานต่อการรับเชื้อ
สัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดไวต่อโรคนี้ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าคนมีความต้านทานโรคที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ