การแพร่กระจายของโรคพิษสุนัขบ้า
มักเกิดในฤดูหนาวแล้วนำไปสู่การระบาดในฤดูร้อน เนื่องจากหน้าหนาวในประเทศไทย ซึ่งเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน เป็นฤดูผสมพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด
อาการ
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่อันตราย เพราะหากรับเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที ปล่อยไว้จนปรากฏอาการของโรค ทำให้เสียชีวิตได้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเราหรือที่พบเห็น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวอย่าง สุนัขและแมวเป็นโรคนี้ วิธีง่ายๆ คือ หมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยง ในบ้านของเราเองว่ามีอาการของโรคนี้หรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของพิษสุนัขบ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงหน้าร้อน โดยทั่วไปแล้วสุนัขจะแสดงอาการของโรคได้เร็วกว่าคน คือ หลังจากรับเชื้อแล้วประมาณ 1-3 เดือน โดยในสุนัขและแมวที่มีเชื้อนั้น จะมีอาการที่แสดงให้เห็นว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ 2 แบบ คือ ชนิดดุร้ายและชนิดเซื่องซึม
1. ชนิดดุร้าย ในสุนัขจะมีอาการผิดไปจากปกติ ถ้าหากล่ามโซ่หรือเลี้ยงไว้ในกรงก็จะมีอาการเดินไปมา กระวนกระวาย พยายามหาทางออก โดยการกัดโซ่ กัดกรงขังจนเลือดออกโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด วิ่งไปโดยไร้จุดหมาย กัดคน กัดสัตว์ทุกชนิดที่ขวางหน้า น้ำลายฟูมปาก คางห้อย หางตก แววตาน่ากลัว หลังจากนั้นก็จะเริ่มมีอาการอัมพาต ขาหลังไม่มีแรง วิ่งลำบากขึ้น ขณะวิ่งอาจจะวิ่งไปล้มไป เมื่อมีอาการอัมพาตมากขึ้น ขาหน้าก็จะหมดแรง แล้วค่อยๆ ล้มลงหมดสติและตายภายใน 3-6 วัน หลังจากที่แสดงอาการ ส่วนในแมวจะแสดงอาการดุร้ายมากกว่าสุนัข มีอาการพองขน กางอุ้งเล็บออก มีลักษณะหวาดระแวง เตรียมพร้อมที่จะสู้อยู่ตลอดเวลา ส่งเสียงดังเป็นพักๆ มีอาการราว 2-4 วัน ก็จะเริ่มเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวได้ช้าลง หมดสติและตายในที่สุด
- ชนิดเซื่องซึม จะสังเกตได้ยาก เพราะแสดงอาการป่วยเหมือนกับสัตว์เป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคหวัด ไข้หัดในระยะต้นๆ สุนัขหรือแมวจะหลบไปนอนในที่เงียบๆ ไม่แสดงอาการดุร้าย จะกัดคนหรือสัตว์เมื่อถูกรบกวน หรือเมื่อเอาน้ำ เอายาหรือเอาอาหารไปให้ เมื่ออาการของโรคกำเริบมากขึ้น จะมีอาการอัมพาต ลุกขึ้นเดินไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ และตายในที่สุดและส่วนมากจะตายภายใน 3-6 วัน หลังจากแสดงอาการเช่นกัน
การเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์
ถ้าเป็นสุนัขหรือแมว ที่สามารถกักขังไว้ได้ให้ กักสัตว์นั้นอยู่ในบริเวณไม่ให้หนีไปได้ เพื่อเฝ้าดูอาการประมาณ 10 วัน ถ้าสัตว์ แสดงอาการป่วย หรือไม่สามารถกักขังสัตว์นั้นได้ หรือถ้าเป็นสัตว์ชนิดอื่น ให้รีบทำลายสัตว์นั้น และรับส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันที เมื่อสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าตายลง ให้ตัดหัวหรือถ้าสัตว์นั้นมีขนาดเล็กให้ส่งตรวจ ได้ทั้งตัว ตัวอย่างที่ส่งตรวจต้องใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิด ห่อด้วยกระดาษหลายๆ ขั้น และใส่ถุงพลาสติก อีกชั้นหนึ่ง ปิดปากถุงให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย จากนั้นนำใส่ภาชนะเก็บความเย็น ที่บรรจุน้ำแข็ง ปิดฉลาก ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ผู้ส่งตรวจ และวัน เดือน ปี ที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจให้ชัดเจน รีบนำส่งห้องปฏิบัติการทันที
สิ่งที่ต้องระวังคือ ผู้ที่ตัดหัวสัตว์ต้องไม่มีแผลที่มือ และต้องใส่ถุงมือยางหนา ซากสัตว์ที่เหลือให้ฝังดินลึกประมาณ 50 ซม. มีดที่ใช้ตัดหัวสัตว์ เครื่องมือที่ใช้ต้องต้มให้เดือด 30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อ และบริเวณที่ตัดหัวสัตว์ต้องล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
หากคิดจะเลี้ยงสุนัขอย่าลืมว่าจะต้องนำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามอายุของสุนัข และสิ่งที่ต้องนำมาประเมินมากที่สุดคือเรื่องความสะอาด ว่าครอบครัวของเราสามารถจัดการพื้นที่ในบ้านและทำความสะอาดทั้งที่อยู่ของเราและของเจ้าสุนัขตัวน้อยได้มากแค่ไหน
ที่มาเรื่องวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า : กลุ่มงานควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา