ฝากไข่ อายุ 40 จะแก่เกินไปหรือปล่าวนะ แล้วอายุที่เหมาะสมในการฝากไข่ควรเป็นเท่าใด มีวิธีการ ขั้นตอนยุ่งยากไหม อีกหลากหลายคำถามคาใจ เรารวมคำตอบมาให้แล้วที่นี่
สิ่งต้องรู้เมื่อจะ “ฝากไข่” อายุ 40 รีบใช้ ควรเก็บไข่ก่อน35ปี
ด้วยวิถีชีวิตสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อน ทำให้ค่านิยมในการแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก ได้ถูกเลื่อนระยะเวลาช่วงอายุของผู้หญิงออกไป จากที่เคยมีครอบครัวในช่วงอายุที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คำว่า “วัยเจริญพันธุ์”นั้น ในมุมมองจากทางด้านโครงสร้างของร่างกาย ที่พร้อมจะรับการตั้งครรภ์ และคลอดบุตรนั้น อายุที่เหมาะสมก็คือ 18 ปีขึ้นไป แต่ถ้าหากจะให้สมบูรณ์พร้อมทั้งทางด้านจิตใจ และกฎหมายร่วมด้วยแล้วละก็ อายุที่เหมาะสมก็คือ 20 ปีบริบูรณ์ (บรรลุนิติภาวะ) และวัยเจริญพันธุ์จะสิ้นสุดลงเมื่อรังไข่หมดความสามารถในการตกไข่ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วรังไข่จะหมดความสามารถนี้เมื่อถึงอายุเฉลี่ย 48-50 ปี
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ผศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้นำเสนองานวิจัยในหัวข้อ “ทำไมน้องไม่แต่งงาน? ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทย” ซึ่งได้จัดทำร่วมกับ Ms. Lusi Liao นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
งานวิจัยได้ศึกษารูปแบบการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทยในช่วงระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา (1985-2017) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้หญิงไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นโสดมากขึ้นและมีลูกน้อยลง
ผู้หญิงไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเลือกอยู่เป็นโสดมากขึ้น หรือ หากแต่งงานก็มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกน้อยลง
ดร.ศศิวิมล ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ “Marriage strike” ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงานให้ช้าลง เนื่องจากระดับการศึกษาที่สูงขึ้นทำให้ผู้หญิงได้รับค่าจ้างในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการแต่งงานและการลาคลอดบุตรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ คณะผู้วิจัยก็พบปรากฏการณ์ “Marriage strike” ในประเทศไทยเช่นกัน โดยพบว่าสัดส่วนของผู้หญิงโสดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก thaipublica.org
จากงานวิจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่าอายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่สิ้นสุดวัยเจริญพันธุ์นั้นมีช่วงอายุที่ไม่ไกลไปจากอายุเฉลี่ยของผู้หญิงในปัจจุบันที่จบการศึกษา และกว่าจะเริ่มตัดสินใจมีครอบครัว ทำให้เกิดเทรนใหม่ในปัจจุบันขึ้นในเรื่องของการ “ฝากไข่”
การฝากไข่ คืออะไร?
ฝากไข่ (Eggs freezing หรือ Oocyte cryopreservation) คือการนำเอาไข่สภาพดีในวัยเจริญพันธุ์ออกมาจากรังไข่ จากนั้นนำมาแช่แข็งเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -150 องศาเซลเซียส ด้วยเทคนิค Vitrification หรือการใช้ไนโตรเจนเหลวในการเก็บรักษาโดยไข่ที่ถูกเก็บจะเหมือนถูกหยุดอายุเอาไว้ ทำให้ไม่เสื่อมสภาพและสามารถนำกลับมาผสมกับอสุจิ เพื่อส่งตัวอ่อนกลับเข้าไปฝังในมดลูก จนเกิดการปฏิสนธิและเจริญเป็นตัวอ่อนในครรภ์ได้เมื่อถึงเวลาที่ต้องการ
การใช้ไข่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะเกิดมาพร้อมความผิดปกติ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ไข่อาจบรรจุโครโมโซมที่ผิดปกติเอาไว้ได้ และอีกประการ คือ เมื่ออายุมากจำนวนไข่ก็ลดลงด้วย ทำให้โอกาสในการมีลูกก็น้อยลงตามไปหากปล่อยให้ตั้งครรภ์ตามวิธีธรรมชาติ
ทุกคนสามารถทำการฝากไข่ได้หรือไม่?
ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้อธิบายถึง การฝากไข่ จะทำในกรณี 2 กรณีใหญ่ ๆ ดังนี้
1. คนที่กำลังรักษาโรคมะเร็ง
เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิง เช่น การรับเคมีบำบัดอาจทำให้ไม่มีการตกไข่ ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หรือในบางรายอาจต้องจำเป็นต้องตัดรังไข่ออก การนำไข่มาฝากไว้ก่อน จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการวางแผนมีบุตรหลังจากที่รักษาโรคมะเร็งจนหายดีแล้ว
2. ผู้ที่ไม่ได้เจ็บป่วย แต่มีปัจจัยอื่นที่ทำให้ยังไม่สามารถมีบุตรได้ในช่วงเวลาปัจจุบัน
- ผู้ที่ไม่สะดวกที่จะมีลูกในช่วงเวลาปัจจุบัน กล่าวคือ ผู้ที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว แต่ช่วงชีวิตทำให้ยังไม่พร้อมมีบุตร แต่อยากมีบุตรในอนาคต เช่น ผู้หญิงหลายคนกำลังวางแผนที่จะเรียนต่อ หรือไปทำงานต่างประเทศ หรือกำลังให้ความสำคัญกับการทำงาน จึงทำให้ไม่พร้อมต่อการมีบุตร แต่ยังมีความต้องการที่จะมีบุตรในอนาคต หากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ที่ไข่มีความสมบูรณ์ ก็สามารถนำฝากไข่เพื่อเก็บไว้ผสมหลังจากที่ตนเองมีความพร้อมแล้ว
- คนในครอบครัวเคยมีประวัติประจำเดือนหมดเร็ว โดยปกติผู้หญิงจะตกไข่ได้ประมาณ 400-500 ใบ ตลอดช่วงชีวิต ซึ่งจะอยู่ระหว่างช่วงอายุ 47-50 ปี แต่หากคนในครอบครัวหมดประจำเดือนไวกว่านี้ ก็เป็นไปได้ว่าคุณจะหมดประจำเดือนไวเช่นกัน ทำให้ระยะเวลาที่สามารถตั้งครรภ์ได้ สั้นกว่าคนอื่น ๆ หากต้องการมีบุตรควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝากไข่
- ผู้มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการมีบุตรและระบบสืบพันธุ์ในอนาคต เช่น ผู้มีแนวโน้มที่จะเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝากไข่
ซึ่งไม่ว่าจะกรณีใด ๆ เจตนาของการฝากไข่ เพื่อทำให้เกิดเป็นตัวเด็ก เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป เพราะฉะนั้นตัวเด็กก็ต้องเด็กที่มีคุณภาพ ซึ่งควรเกิดจากไข่ที่มีคุณภาพ ดังนั้น ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ จึงได้ให้ข้อแนะนำไว้ว่า “อยากให้ทำการฝากไข่ไว้ก่อนอายุ 35 ปี แล้วอายุที่เหมาะสมต่อการนำไข่กลับมาสู่การตั้งครรภ์ ภายใน 5 ปี ซึ่งก็หากฝากในช่วงอายุ 35 ปี ก็จะทำให้ไม่ควรไว้นานเกินอายุ 40 ปี”
ทำไม ฝากไข่ อายุ 40 ขึ้นไปแล้วควรรีบใช้ ?
แม้จะมีการฝากไข่ไว้ แต่ปัจจัยของการตั้งครรภ์นั้น ปัญหาสุขภาพของตัวคุณแม่จะมีส่วนสำคัญ เช่น หากฝากไข่ในกรณีของการให้เคมีบำบัดผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคร้าย สุขภาพของคุณแม่จะแข็งแรงพอที่จะใส่ตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์หรือไม่ และในกรณีที่ฝากไข่จากเหตุผลส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยนั้น แม้จะไม่ค่อยมีข้อจำกัด แต่เมื่อผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี ก็มักจะมีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า เช่น ปัญหาในเรื่องเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง หรือมีการตกเลือดหลังคลอด เป็นต้น ทำให้การดูแลขณะตั้งครรภ์ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ และโอกาสเสี่ยงทั้งต่อตัวคุณแม่ และลูกก็มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ขั้นตอนการฝากไข่ทำอย่างไร ?
- เมื่อถึงกำหนดวันไข่ตกตามที่แพทย์นัด แพทย์จะให้ยาสลบระยะสั้น และยาแก้ปวดก่อนเริ่มกระบวนการ
- แพทย์จะใช้อัลตราซาวด์ (Ultrasound) ในการฉายภาพรังไข่เพื่อหาตำแหน่งตกไข่ จากนั้นจะดูดออกมาผ่านทางช่องคลอด แต่หากใช้อัลตราซาวด์หาตำแหน่งไม่เจอ แพทย์อาจใช้การผ่าทางช่องท้องเพื่อนำไข่ออกมา
- หลังจากได้ไข่ออกมา แพทย์จะตรวจความสมบูรณ์ของไข่ภายในห้องปฏิบัติการ จากนั้นก็จะนำไปเข้ากระบวนการแช่แข็ง
- หากคู่รักที่มีสเปิร์มจากสามีอยู่แล้ว อาจปรึกษาแพทย์เพื่อผสมตัวอ่อนเอาไว้เลย จากนั้นค่อยนำไปแช่แข็ง (Embryo freezing) ซึ่งการผสมตัวอ่อนก่อนแช่แข็ง มีแนวโน้มจะสำเร็จมากกว่าการฝากไข่เพียงอย่างเดียว
ฝากไข่ราคาแพงไหม?
การฝากไข่จะมีราคาประมาณ 100,000-150,000 บาท ซึ่งราคาจะต่ำหรือสูงนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน และยังมีค่าฝากไข่รายปีอีกด้วย ประมาณ 1,500 บาทต่อปี
นอกจากนี้บางโรงพยาบาลอาจมีค่าเก็บรักษาไข่เป็นรายปีอยู่ระหว่าง 2,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล และจำนวนไข่
ข้อกำหนดตามกฎหมายที่ควรรู้ก่อนการฝากไข่
พรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พศ. 2558
- ห้ามมิให้ผู้ที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้บริการ
- ห้ามสร้างตัวอ่อน เว้นแต่เพื่อใช้ในการบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยากของสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย นั่นหมายถึง การจะนำไข่ออกมาผสมกับอสุจิในภายหลังนั้น กฎหมายได้ระบุว่าให้ทำได้กับคู่ที่มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแล้วเท่านั้น หากไม่มีคู่สามีตามกฎหมาย ก็ไม่สามารถนำไข่ออกมาผสมเพื่อทำการตั้งครรภ์ได้
- ห้ามซื้อ เสนอซื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออก
- หากเจ้าของที่ฝากไว้เสียชีวิต ห้ามนำไข่มาใช้ เว้นแต่มีการให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ก่อนตาย และต้องใช้เพื่อการบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยากของสามี หรือภรรยาที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น
ประกาศแพทยสภา ที่ 95(9)/2558
- วิธีการรับฝาก
- ผู้ฝากลงนามในหนังสือแสดงการยินยอมในการฝากให้เก็บรักษา
- มีการตรวจผู้ฝากเพื่อป้องกันการถ่ายทอดโรคติดต่อ เช่น เชื้อเอชไอวี ตับอักเสบ ซิฟิลิส
- ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีคุณสมบัติ จัดทำระบบข้อมูลในการเก็บรักษาข้อมูลไว้ไม่น้อยกว่า 20 ปี
- มีระบบการเก็บรักษาที่แยกกันชัดเจนในกรณีที่มีการติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ
- การรับฝากไข่
- เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำไปปฎิสนธิกับอสุจิของสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ กฎหมายเมืองไทยอนุญาตให้ผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นโรคทำการเก็บไข่ไว้ได้ แต่ต้องเก็บไว้เพื่อใช้ในอนาคตกับตัวเองเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เก็บไข่ตัวเองเพื่อนำไปใช้ในการอื่น ๆ เช่น บริจาคให้ญาติพี่น้องที่มีลูกไม่ได้
- รับฝากไข่ในช่วงก่อนการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการรักษาอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อรังไข่
- กำหนดระยะเวลาการเก็บ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ยกเว้นมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้อย่างอื่น
- กรณีสถานพยาบาลยุติการให้บริการ ให้สถานพยาบาลนั้นติดต่อส่งมอบไข่ที่แช่แข็งไว้ให้สถานพยาบาลอื่นที่ขึ้นทะเบียน และรายงานคณะกรรมการฯพิจารณา และดำเนินการต่อไป
จะเห็นได้ว่า จากสังคมในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้หญิงออกมาทำงานมากขึ้น สภาวะเศรษฐกิจที่การมีลูกต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หรือสภาพสังคมครอบครัวเดี่ยวที่ทำให้ขาดคนดูแลเด็กเล็กเมื่อพ่อแม่ไปทำงาน จึงส่งผลให้ผู้หญิงมีความจำเป็นในการชะลอการมีลูกเพิ่มมากขึ้น ทำให้อายุล่วงเลยไปกว่าจะเริ่มมีความคิด และความพร้อมที่จะมีลูกได้ก็อาจสูญเสียโอกาส และร่างกายที่ดีไป เนื่องจากล่วงเลยวัยเจริญพันธุ์ไปเสีย ปัจจุบันสังคมไทยจึงมีการพูดถึงการฝากไข่เพิ่มมากขึ้น
ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ได้กล่าวแนะนำถึงเรื่องนี้ว่า “อยากบอกว่าการฝากไข่มีทั้งข้อดี ข้อเสีย คำว่าการฝากไข่ในกรณีที่มีเหตุผล เช่น จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคต่าง ๆ กรณีนี้มีประโยชน์มาก ส่วนกรณีทางสังคม ต้องดูเอาว่าจริง ๆ เราจำเป็นหรือไม่ เพราะการฝากไข่มีค่าใช้จ่าย และมีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง จะต้องเจ็บตัวมาฉีดยา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่คุณผู้หญิงมักคิดถึงเรื่องงาน หรือเรื่องอื่นมาก่อนตัวเอง จนลืมไปว่าตัวเรายังอายุเท่าเดิมตลอดกาล ทั้งที่มีงานวิจัยมากมายสุภาพสตรีหลังอายุ 35 ปีไปแล้ว การทำงานของรังไข่ก็จะน้อยลง และการฝากไข่ควรเลือกสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต”
ตัวอย่างสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต
โรงพยาบาลของรัฐ เช่น รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ธรรมศาสตร์ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎฯ ส่วนที่โรงพยาบาลเอกชน เช่น รพ.วิภาวดี รพ.วิชัยยุทธ
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับข้อมูลที่เราควรทราบก่อนการฝากไข่ เมื่อได้ศึกษาจนครบแล้ว คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับสาว ๆ แล้วละว่าหากยังต้องการ ฝากไข่ อายุ 40 ปีเมื่อไหร่ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีลูกแบบนี้จะดีไหม หรือหากไม่ได้ติดขัดอื่นใดที่จำเป็นสำหรับคนที่ต้องการมีลูก การมีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีธรรมชาติยังถือว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุดอยู่ เพราะการฝากไข่นั้นมีข้อจำกัดทั้งเรื่องประสิทธิภาพไม่ 100% และที่สำคัญค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ก็นับว่าสูงไม่น้อยเลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก hd.co.th/ กรุงเทพธุรกิจ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
อยากมีลูก ทำไงดี? 10 เคล็ด(ไม่)ลับทำให้ท้อง เพิ่มโอกาสมีลูกสมใจ
มีบุตรยาก ชี้เป้า 15 ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ช่วยสานฝันโอกาสให้ได้เป็นพ่อแม่สมปรารถนา
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่