ปัจจุบันผู้หญิงมักจะแต่งงานมีครอบครัวช้า เนื่องจากปัจจัยทั้งด้านการศึกษา การสร้างความมั่นคงทางการงานการเงิน และการใช้เวลาศึกษาดูใจก่อนแต่งงาน ทำให้กว่าจะมีลูกได้ก็เข้าสู่วัย 35 ปี ซึ่งการตั้งครรภ์ช่วงนี้มักมีโรคภัยและความเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น แต่อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ ร่วมกับการดูแลตัวเองของคุณแม่ ทำให้เราสามารถ ตั้งครรภ์ อายุ 35 ปี ก็มีครรภ์คุณภาพได้แน่นอน
ตั้งครรภ์ อายุ 35 ปี ก็มีครรภ์คุณภาพได้
ตั้งครรภ์ อายุ 35 ปี ขึ้นไป ต้องเข้าใจความเสี่ยง
อันดับแรกหากคุณอายุ 35 ปีขึ้นไป และกำลังเตรียมตัวตั้งครรภ์ หรือแม้กระทั่งตั้งครรภ์แล้ว ต้องทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลความรู้ในเชิงสุขภาพเพื่อเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และต้องรู้ว่าการตั้งครรภ์ในช่วงวัยนี้จะอาจจะต้องพบกับอะไรบ้าง ดังนี้ จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งค่ะ
-
มีลูกยาก หากอายุมากขึ้น
แม้ว่าผู้หญิงที่เตรียมตัวเป็นแม่ในช่วงวัย 35 ปีขึ้นไป จะมีความพร้อมทางด้านการเงินและวุฒิภาวะในความเป็นแม่แล้วแต่ปัญหาคือความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายจะลดลง มีโอกาสตั้งครรภ์ลดลง และมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ได้มากขึ้น โดยมีการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่เลยช่วงอายุ 30 ปีไปแล้วโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัย 35 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสตั้งครรภ์ลดลงกว่ากลุ่มผู้หญิงในช่วงอายุ 20 ปี เพราะภาวะการตกไข่ลดน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาการมีบุตรยาก พร้อมกับมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่างๆ ก็มากขึ้นอีกด้วย
-
อาจต้องใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ช่วยให้มีลูก
เนื่องจากปัญหาอายุมากขึ้นมักจะมาพร้อมกับการมีลูกยาก ทำให้คุณสามีหรือภรรยาที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีลูกด้วยวิธีธรรมชาติแล้วไม่สำเร็จ จึงอาจจะต้องอาศัยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ต่างๆ มาช่วยในการตั้งครรภ์ อาทิ การฉีดเชื้อ การทำเด็กหลอดแก้ว ไอวีเอฟอิ๊กซี่ พลาสโตซิสต์หรืออื่นๆ โดยคู่สามีภรรยาต้องทำความเข้าใจ รู้จักและยอมรับขั้นตอนในการทำ รวมถึงพร้อมที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ซึ่งปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีช่วยในการมีบุตรก็ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จกันมากมาย ถือเป็นทางเลือกสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่วัย 35 อัพมีลูกได้มากขึ้น
-
ต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มมากขึ้น
คุณแม่ที่ ตั้งครรภ์ อายุ 35 ปี ขึ้นไป จำเป็นต้องให้ความสำคัญและเข้าใจเรื่องการตรวจวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์ในแบบต่างๆ มากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์อายุไม่เกิน 35 ปี เพื่อป้องกันความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการตรวจ ดังต่อไปนี้
- การอัลตร้าซาวนด์แบบต่างๆ คือการตรวจครรภ์โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงมาแปล ให้เป็นภาพวีดีโอ เพื่อตรวจดูอายุครรภ์ของคุณแม่ ติดตามดูพัฒนาการเพศ และการเติบโตของอวัยวะต่างๆ ของลูกน้อยในครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปีการตรวจจะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ หาสัญญาณของการเกิดภาวะแทรกซ้อนและความผิดปกติของลูกน้อยค่ะ
- การเจาะเลือดวินิจฉัยโครโมโซม ปัจจุบันนอกจากการเจาะเลือดตรวจเลือด ดูน้ำตาลในเลือดของคุณแม่แล้ว ยังมีการใช้วิธีเจาะเลือดคุณแม่เพื่อตรวจโครโมโซมลูกในครรภ์ได้อีกด้วย เพื่อเป็นการคัดกรองภาวะผิดปกติของโครโมโซม เช่น โรคดาวน์ซินโดรมและอื่นๆ โดยไม่ต้องเจาะน้ำคร่ำ แต่หากตรวจแล้วพบความเสี่ยงอาจจะต้องเจาะน้ำคร่ำอีกครั้งค่ะ
- การเจาะน้ำคร่ำ เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซม หรือโรคทางพันธุกรรมของลูกน้อยในครรภ์โดยใช้เข็มเล็กๆ ขนาดยาวสอดผ่านหน้าท้องเพื่อเจาะเข้าไปยังถุงน้ำคร่ำ เพื่อดูดนำของเหลวมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
- การตรวจชิ้นเนื้อรก เป็นการตัดชิ้นเนื้อรก และนำเซลล์ตัวอย่างจากรกมาตรวจวิเคราะห์เพื่อตรวจหาแนวโน้มว่าลูกน้อยในครรภ์มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่เช่นเดียวกันกับการเจาะน้ำคร่ำ แต่วิธีนี้จะมีความยุ่งยาก และมักไม่ค่อยนิยมใช้นัก แต่ก็จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยในครรภ์ที่มีข้อบ่งชี้ต่อภาวะความเสี่ยงต่างๆ เพื่อการตรวจที่แม่นยำขึ้น
อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยต่างๆ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำและให้คำปรึกษาเท่านั้น การตัดสินใจที่จะตรวจขึ้นอยู่กับความพร้อม การยอมรับและวิจารณญาณของคุณแม่และคุณพ่อค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่