มีลูกอายุ 35 ปีขึ้นไป ต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มมากขึ้น
คุณแม่ที่ ตั้งครรภ์ อายุ 35 ปี ขึ้นไป จำเป็นต้องให้ความสำคัญและเข้าใจเรื่องการตรวจวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์ในแบบต่างๆ มากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์อายุไม่เกิน 35 ปี เพื่อป้องกันความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการตรวจ ดังต่อไปนี้
- การอัลตร้าซาวนด์แบบต่างๆ คือ การตรวจครรภ์โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงมาแปล ให้เป็นภาพวีดีโอ เพื่อตรวจดูอายุครรภ์ของคุณแม่ ติดตามดูพัฒนาการเพศ และการเติบโตของอวัยวะต่างๆ ของลูกน้อยในครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปีการตรวจจะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ หาสัญญาณของการเกิดภาวะแทรกซ้อนและความผิดปกติของลูกน้อยค่ะ
- การเจาะเลือดวินิจฉัยโครโมโซม ปัจจุบันนอกจากการเจาะเลือดตรวจเลือด ดูน้ำตาลในเลือดของคุณแม่แล้ว ยังมีการใช้วิธีเจาะเลือดคุณแม่เพื่อตรวจโครโมโซมลูกในครรภ์ได้อีกด้วย เพื่อเป็นการคัดกรองภาวะผิดปกติของโครโมโซม เช่น โรคดาวน์ซินโดรมและอื่นๆ โดยไม่ต้องเจาะน้ำคร่ำ แต่หากตรวจแล้วพบความเสี่ยงอาจจะต้องเจาะน้ำคร่ำอีกครั้งค่ะ
- การเจาะน้ำคร่ำ เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซม หรือโรคทางพันธุกรรมของลูกน้อยในครรภ์โดยใช้เข็มเล็กๆ ขนาดยาวสอดผ่านหน้าท้องเพื่อเจาะเข้าไปยังถุงน้ำคร่ำ เพื่อดูดนำของเหลวมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
- การตรวจชิ้นเนื้อรก เป็นการตัดชิ้นเนื้อรก และนำเซลล์ตัวอย่างจากรกมาตรวจวิเคราะห์เพื่อตรวจหาแนวโน้มว่าลูกน้อยในครรภ์มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่เช่นเดียวกันกับการเจาะน้ำคร่ำ แต่วิธีนี้จะมีความยุ่งยาก และมักไม่ค่อยนิยมใช้นัก แต่ก็จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยในครรภ์ที่มีข้อบ่งชี้ต่อภาวะความเสี่ยงต่างๆ เพื่อการตรวจที่แม่นยำขึ้น
อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยต่างๆ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำและให้คำปรึกษาเท่านั้น การตัดสินใจที่จะตรวจขึ้นอยู่กับความพร้อม การยอมรับและวิจารณญาณของคุณแม่และคุณพ่อค่ะ
แม่ท้อง 35 อัพ ทำอย่างไรให้ตั้งครรภ์คุณภาพ
แม้จะมีความเสี่ยงและประเด็นสุขภาพให้ต้องกังวลใจ แต่ปัจจุบันผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไปก็ตั้งครรภ์คุณภาพ และสามารถคลอดบุตรที่มีสุขภาพดีได้ค่ะ เพียงแค่คุณแม่ควรดูแลตัวเอง ดังนี้
-
ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายก่อนวางแผนมีลูกและเมื่อตั้งครรภ์แล้วต้องไปฝากครรภ์สม่ำเสมอ
-
ไปรับวัคซีนที่จำเป็นและสำคัญสำหรับแม่ท้องตามคำแนะนำของแพทย์
-
ดูแลโภชนาการให้ได้รับอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วน กินโฟลิกและวิตามินที่หมอแนะนำสม่ำเสมอ
-
ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินกว่ามาตรฐานงดอาหารหวานจัด เค็มจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ อาหารเสี่ยงสารพิษงดสูบบุหรี่ และไม่ซื้อยามากินเอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
-
อยู่ในอากาศที่ดี พักผ่อนให้เพียงพอหมั่นออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ ทำจิตใจให้แจ่มใส
อย่างไรก็ตามแม้คุณแม่อายุ 35 ปีขึ้นไป จะมีข้อจำกัดด้านความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย แต่การตั้งครรภ์ก็อาจจะไม่มีปัญหาหรือจะมีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ หากคุณแม่เตรียมความพร้อม หมั่นดูแลสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์อย่างดี และพบหมอสม่ำเสมอ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ฝากไข่ ไว้มีลูกในอนาคต …เรื่องฮิตที่ผู้หญิงยุคใหม่ควรรู้
- วิธีทำให้ท้องง่าย กับเคล็ดลับบ้านๆ แต่ช่วยมีลูกสมใจ
- 5 ท่าบริหารสำหรับคนอยากมีลูก
- ท่าไหนได้ลูกชาย กับสูตรทำลูกชาย ซึ่งว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องลอง!!
ขอบคุณที่มาจาก: www.independent.co.uk , www.catdumb.com