ประจำเดือนเลื่อน กี่วันถึงท้อง สังเกตอาการว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ดูได้อย่างไร ไม่ว่าคุณกำลังกังวล หรือลุ้นข่าวดี วันนี้เรามาไขความลับให้ฟังกัน
ไขความลับ ประจำเดือนเลื่อน กี่วันถึงท้อง ?
ประจำเดือนเคยมาตรงทำไมเดือนนี้ยังไม่มา ??
เพิ่งมีเพศสัมพันธ์กับแฟนมา ประจำเดือนเลื่อน กี่วันถึงท้อง ??
คราวนี้น้องจะมาไหมนะ ประจำเดือนเลื่อนเสียด้วย อยากมีข่าวดี ??
คำถาม นานาข้อสงสัย วันนี้เราจะมาร่วมไขความลับ ของประจำเดือนผู้หญิงกันว่า สามารถบ่งบอกอะไรกับเรากันได้บ้างนะ เมื่อ ประจำเดือนเลื่อน หมายถึงอะไร สุขภาพของคุณผู้หญิง การจะมีข่าวดี หรือสิ่งที่กังวลจะเกิดจริงไหม ต้องรับมืออย่างไร มาร่วมลุ้นไปด้วยกัน
ประจำเดือนมาไม่ปกติ บอกอะไรแก่คุณผู้หญิงกันบ้างนะ ?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับประจำเดือนของสาว ๆ กันเสียก่อน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เราต้องพบเจอกันเป็นประจำก็ตาม แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ความลับบางเรื่องของมันกัน
ประจำเดือน (Menstruation) หมายถึง การที่มีเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือน เป็นอาการแสดงความพร้อมของร่างกายสู่การเจริญพันธุ์ ประจำเดือนเกิดจากการที่สมองหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมากระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เพื่อเตรียมรอรับการฝังตัวของตัวอ่อน ในแต่ละเดือนจะมีไข่ตกเดือนละ 1 ฟอง หากไม่มีการปฎิสนธิหรือไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกที่เตรียมไว้รอรับตัวอ่อนก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน
ประจำเดือนปกติเป็นอย่างไร?
- ผู้หญิงจะมีประจำเดือนทุกๆ 28 – 30 วัน (หรืออยู่ในช่วง 21- 35วัน)
- ผู้หญิงจะมีประจำเดือนมาประมาณ 3 – 5 วัน หรือไม่ควรมาเกิน 7 วัน
- ปริมาณประจำเดือนที่ออกมาในแต่วันไม่ควรเกิน 80 ซีซี หรือเทียบได้กับการเปลี่ยนผ้าอนามัยประมาณ 4 ผืนต่อวัน (แบบที่มีเลือดชุ่มเต็มแผ่น)
ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนเลื่อน คืออะไร??
การที่ประจำเดือนของสาว ๆ มาไม่ปกติตามที่ได้แบบที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น เราเรียกว่า ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) หมายถึง ภาวะใดภาวะหนึ่งที่ทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาตามปกติ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary Amenorrhea) คือ ผู้หญิงอายุ 18 ปีแล้ว แต่ยังไม่เริ่มมีประจำเดือน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงมักจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12 ปี
2. ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary amenorrhea) คือ ผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาก่อน แต่ต่อมาประจำเดือนขาดหายไปอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 3 รอบเดือน
ประจำเดือนมาไม่ปกติ บอกอะไร?
ใช่ว่า สาว ๆ ทุกคนจะมีประจำเดือนมาปกติ ตลอดเวลา อาจมีบ้างที่เกิดภาวะบางอย่างกับร่างกาย แล้วทำให้ประจำเดือนของเราเลื่อน หรือมาไม่ปกติได้ ซึ่งก็มักจะมาจากสาเหตุหลัก ๆ ที่สาว ๆ จะต้องลองไปนั่งทบทวนดูว่าใช่สาเหตุของการที่ประจำเดือนของเราเลื่อน มาไม่ปกติหรือไม่ อย่าเพิ่งกังวลเกินกว่าเหตุไปเสียก่อน ดังนี้
- ความเครียด
- ตั้งครรภ์ หรือการให้นมบุตร
- วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-55 ปี เนื่องจากระดับฮอร์โมนเริ่มลดลง ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตกเลย
- น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไป สำหรับผู้ที่น้ำหนักตัวน้อยจะมีไขมันน้อย ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตกส่วนผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาทางจิตเวช ยาต้านซึมเศร้า ทำเคมีบำบัด ยารักษาความดันโลหิตสูง และสารเสพติดอื่น ๆ เป็นต้น
- ในบางรายอาจเกี่ยวข้องกับการที่อวัยวะสืบพันธุ์มีความผิดปกติ เช่น เนื้องอก หรือการติดเชื้อที่มดลูก ภาวะพังผืดในโพรงมดลูก เป็นต้น
ประจำเดือนเลื่อน กี่วันถึงท้อง ??
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประจำเดือนของสาว ๆ มาไม่ปกติ หากว่าคุณรู้ว่าก่อนหน้านี้เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิดมาก่อน ก็อาจทำให้เกิดความกังวลว่าสาเหตุของการที่ประจำเดือนมาไม่ปกตินั้น จะมาจาก “การตั้งครรภ์” ซึ่งการท้องนั้น สำหรับผู้หญิง หากมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม และพร้อม นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่สำหรับสาว ๆ บางคนที่ยังไม่พร้อม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ เรามาดูอาการสังเกตกันหน่อยสิว่า ใช่อาการของเรากันหรือไม่ วันนี้เรามีวิธีสังเกต และวิธีการตรวจครรภ์หลากหลายรูปแบบมาให้คุณผู้หญิงเลือกใช้ได้ตามสะดวก
อาการที่บ่งบอกว่าคุณ “ตั้งครรภ์”
นอกจากสาว ๆ จะสังเกตได้ว่า ประจำเดือนขาด ประจำเดือนเลื่อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาณเบื้องต้น หากปกติแล้วประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ แต่จู่ ๆ ขาดหายไปอาจบ่งบอกได้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ ยังมีอาการบ่งชี้ที่ต้องใช้ประกอบการพิจารณาว่าคุณกำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ดังนี้
- คลื่นไส้และอาเจียน มักจะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิสนธิประมาณ 1 เดือน แต่บางคนอาจจะตั้งครรภ์โดยไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้
- คัดเต้านม เกิดจากเลือดไปเลี้ยงบริเวณเต้านมมากขึ้นจนทำให้มีอาการบวม ตึง และยังมีความไวต่อความรู้สึกคล้ายช่วงมีประจำเดือน
- ปัสสาวะบ่อย เพราะร่างกายผลิตเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ มากขึ้นจึงทำให้ไตขับของเสียออกจากร่างกายมากขึ้นด้วย
- ท้องผูก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง รวมถึงเกิดจากการขยายตัวของมดลูกทำให้ไปกดทับลำไส้
- อารมณ์แปรปรวน จะมีอาการโกรธ หรือหงุดหงิดง่าย เนื่องจากร่างกายกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุล
อ่านต่อ >> ประจำเดือนเลื่อน กี่วันถึงท้อง กับวิธีตรวจการตั้งครรภ์ง่าย ๆ ด้วยตนเอง คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่