จากเนื้อหาครั้งที่แล้ว คุณพ่อ คุณแม่คงทราบกันแล้วว่า การฝากไข่คืออะไร? ควรฝากตอนอายุเท่าไหร่? และมีข้อจำกัดทางกฎหมายอย่างไร? สำหรับในเนื้อหานี้ จะมาให้ความรู้เรื่อง การเตรียมตัวฝากไข่ ขั้นตอนการฝากไข่ แล้วถ้ามีโรคประจำตัวจะฝากได้หรือไม่ อย่างไรบ้าง?
การเตรียมตัวฝากไข่
ถ้าว่าที่คุณแม่ต้องการที่จะฝากไข่ ต้องเริ่มจากการปรึกษาสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก่อนฝากจะมีกระบวนการที่ต้อง เตรียมตัวก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเก็บไข่ ถ้าว่าที่คุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงดี คุณหมอก็จะเริ่มขั้นตอนเตรียมการเก็บไข่ ซึ่งไม่ยุ่งยาก โดยการเตรียมตัวมีดังนี้
- แสดงความต้องการว่าต้องการฝากไข่ ซักประวัติ และอื่นๆ แล้วก็เข้าสู่กระบวนการใช้ยา เพื่อกระตุ้นรังไข่ เพื่อเร่งให้ร่างกายสร้างไข่ หรือให้มีไข่มากกว่า 1 ใบ เช่น ประมาณ 10 – 20 ใบ เพราะการเก็บไข่จะไม่เก็บทีละใบ เนื่องจากต้องใช้เวลา และป้องกันความผิดพลาด ยาที่ใช้กระตุ้นนั้น จะเป็นยาฉีดชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทำเด็กหลอดแก้ว โดยการฉีดกระตุ้นรังไข่ทุกวัน ประมาณ 4 – 5 วัน จากนั้นคุณหมอจะนัดตรวจดูว่าร่างกายตอบสนองกับยาดีหรือไม่ มีขนาดของไข่ที่ใช้ได้หรือยัง
- เมื่อใช้ยาทำให้ตกไข่แล้ว คุณหมอจะนัดมาดูดไข่ ในช่วงที่ว่าที่คุณแม่กำลังมีประจำเดือน มีการเจาะเลือด ตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อดูว่ามีไข่อยู่ข้างไหน จำนวนเท่าไหร่ เมื่อได้จำนวนไข่ที่มากพอ การกระตุ้นรังไข่เพื่อเก็บไข่นี้ จะใช้เวลาประมาณ 8 – 10 วัน เมื่อไข่พร้อมแล้ว มีความแข็งแรง และมีจำนวนมากพอ คุณหมอจะเริ่มดูดเก็บไข่จากรังไข่ของว่าที่คุณแม่ ในช่วงประมาณวันที่ 2 หรือ 3 ของการมีประจำเดือน
หลังจากกระตุ้นไข่แล้ว ร่างกายผลิตไข่จำนวนมากพอ และได้ขนาดตามต้องการแล้ว คุณหมอจะทำการดูดเก็บไข่ ซึ่งมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ส่วนใหญ่จะให้ยานอนหลับระยะสั้นๆ ประมาณ 10 – 15 นาที จากนั้นคุณหมอจะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปทางช่องคลอด แล้วใช้เข็มเล็กๆ สอดเข้าไป เพื่อดูดไข่ทั้งหมดออกมา และใช้เวลาไม่นาน โดยการดูดที่ตัวรังไข่ คุณหมอจะทำก่อนไข่ตก เพราะถ้าเดินทางมาที่นำไข่แล้ว จะทำให้เก็บยุ่งยาก เนื่องจากต้องตามหาว่าไข่ตกอยู่ตรงไหนบ้าง หลังจากคุณหมอดูดออกแล้ว ก็จะนำไปเก็บ หรือฝากไว้ เพื่อให้ไข่คงอายุ และคุณภาพ กระบวนการฝากไข่ทั้งหมด ว่าที่คุณแม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีข้อจำกัดอะไร
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่