เมื่อแม่ท้องแพ้ท้อง ก็อยากจะหาตัวช่วยมาบรรเทาให้อาการแพ้ท้องดีขึ้น ยาหอม เป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่แม่ท้องนิยมทาน แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ายาหอมปลอดภัยต่อลูกในท้อง?
คนท้องกิน “ยาหอม” แก้แพ้ท้อง กระทบลูกในท้องไหม?
ปัจจุบันคนไทยรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก หรือคุ้นเคยกับ ยาหอม ทั้ง ๆ ที่ยาหอมมีประวัติการใช้คู่กับคนไทยมานานมากกว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว ยาหอม คืออะไร ชื่อของตำรับยาก็บ่งบอกว่าตำรับยานี้ต้องมีกลิ่นหอม นั่นคือส่วนประกอบของตัวยาจะต้องเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ใช้แก้ลมวิงเวียน แก้ปวดท้อง เป็นลมในท้อง ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยได้บันทึกถึงตำรับยาหอมซึ่งมีมากกว่า 300 ตำรับ ใช้รักษาโรคต่าง ๆ แพทย์ไทยสมัยโบราณจะมียาหอมพกติดตัวไว้ในล่วมยาสำหรับรักษาโรคยามฉุกเฉิน แล้วค่อยจ่ายยาต้มตามมาภายหลัง ถือได้ว่ายาหอมเป็นตำรับยาสำคัญทีเดียวในการแพทย์แผนไทย และยาหอมคือ มรดกทางภูมิปัญญาที่อยู่คู่ประเทศไทยมานาน
ยาหอมมากสรรพคุณ ปรับสมดุลธาตุ
ในส่วนของสรรพคุณ นอกจากยาหอมจะช่วยบรรเทาอาการปวดมึนศีรษะ เป็นลม วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น อย่างที่ เรารู้ ๆ กันแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะข้างเดียว ความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งบำรุงประสาทและบำรุงหัวใจอีกด้วย ที่สำคัญคือ ปัจจุบันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงสรรพคุณต่าง ๆ ของยาหอมมีส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายของเราด้วย
โดยข้อมูลศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์นี้ได้เลือกทำการศึกษาเปรียบเทียบ ตำรับยาหอม 3 ตำรับคือ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทรจักร ซึ่งเป็นยาในชื่อบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ของกระทรวงสาธารณสุข 2 ตำรับ มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบกว่า 50 ชนิด และยาหอมของภาคเอกชน 1 ตำรับ ซึ่งยาหอมทั้ง 3 ตำรับนี้จะมีสมุนไพรที่ทับซ้อนกันอยู่ประมาณ 40 ชนิด โดยผลจากการวิจัยครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าสารสกัดยาหอมทั้ง 3 ตำรับนี้มีฤทธิ์ต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเรา คือ
- ยาหอมมีฤทธิ์ต่อหัวใจ คือสามารถเพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสกัดยาหอมอินทรจักร
- มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิต โดยเฉพาะในขนาด 4 กรัม ผงยาหอม/กิโลกรัม มีฤทธิ์เพิ่มความดันเลือด systolic, diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย โดยมีผลต่อความดันเลือด systolic มากกว่า ความดันเลือด diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย
- มีฤทธิ์ต่ออัตราการไหลเวียนในหลอดเลือดสมอง พบว่า หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น
- ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง หรือส่งผลต่อการนอนหลับได้ โดยสารสกัดยาหอมของเอกชนและอินทจักร มีฤทธิ์กดต่อระบบประสาทส่วนกลางเมื่อให้สัตว์ทดลองได้รับเฉพาะแต่สารสกัด แต่ถ้าให้สารสกัดยาหอมทั้ง 2 ชนิดนี้ร่วมกับ pentobarbital ซึ่งเป็นยานอนหลับ จะพบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานอนหลับยาวนานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะสารสกัดยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางมากกว่า 2 ชนิดแรก
- มีฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร สารสกัดยาหอมนวโกฐจะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ซึ่งพบว่า ยาหอมนวโกฐมีผลยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กได้มากกว่าอีก 2 ตำรับ
- ฤทธิ์แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน สารสกัดยาหอมอินทรจักรสามารถต้านการอาเจียนได้
แม้ว่ายาหอมจะเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่เนื่องจากยาหอมมีหลากหลายตำรับ ซึ่งแต่ละตำรับก็จะมีส่วนผสมของสมุนไพรที่แตกต่างกัน สมุนไพรบางชนิดก็ไม่เหมาะกับคนท้อง หรืออาจจะส่งผลกระทบต่อแม่ท้องและลูกในท้องได้ ทีมแม่ ABK จึงขอนำข้อมูลยาตำรับ ของยาหอมตำรับหลัก ๆ มาให้แม่ ๆ ได้ศึกษากันค่ะ
ยาหอมทิพโอสถ
ข้อบ่งใช้ – แก้ลมวิงเวียน
วิธีใช้
- ชนิดผง – รับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม ละลายน้ำกระสายยา เมื่อมีอาการ ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
- ชนิดเม็ด – รับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ข้อควรระวัง
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ – อาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
- ผู้ป่วยโรคไต – อาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
- ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
ยาหอมเทพจิตร
ข้อบ่งใช้ – แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
วิธีใช้
- ชนิดผง – รับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม ละลายน้ำสุก เมื่อมีอาการ ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
- ชนิดเม็ด – รับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ข้อควรระวัง
- ผู้ป่วยโรคตับ – อาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
- ผู้ป่วยโรคไต – อาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
- ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
ยาหอมนวโกฐ
ข้อบ่งใช้
- แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ
- แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนเพลีย)
วิธีใช้
- ชนิดผง – รับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ละลายน้ำกระสาย เมื่อมีอาการ ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
- ชนิดเม็ด – รับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ทุก 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ข้อควรระวัง
- ผู้ป่วยโรคตับ – อาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
- ผู้ป่วยโรคไต – อาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
- ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
ยาหอมอินทจักร์
ข้อบ่งใช้
- แก้ลมบาดทะจิต
- แก้คลื่นเหียนอาเจียน
- แก้ลมจุกเสียด
วิธีใช้
- ชนิดผง – รับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
- น้ำกระสายยาที่ใช้
กรณีแก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิ
กรณีแก้คลื่นเหียนอาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม ถ้าไม่มีใช้น้ำสุก
กรณีแก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้ม
- น้ำกระสายยาที่ใช้
- ชนิดเม็ด – รับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ข้อควรระวัง – ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
ข้อห้ามใช้ – ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
จะเห็นได้ว่า ยาหอม แต่ละยี่ห้อ จะมีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของแม่ท้อง ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อมาใช้นะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, เฟสบุ๊คเพจ เชื่อแมวเหอะ(รู้ไหมว่าตัวเองโดนหลอก)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่