คนท้องน้ำตาลต่ำ – การตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างภายในร่างกาย รวมถึงการควบคุมและการเผาผลาญกลูโคสตลอดจนความสามารถในการใช้อินซูลินของร่างกายเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของคนท้องให้เป็นปกติ วันนี้เราจะมาพูดถึงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระหว่างตั้งครรภ์ สาเหตุ ผลกระทบ ตลอดจนวิธีการรับมือค่ะ
คุมอาหารมากไป! คนท้องน้ำตาลต่ำ ระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายไหม
แบบไหนที่เรียกว่าภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ?
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นภาวะทางการแพทย์ เมื่อน้ำตาลในเลือดลดลงน้อยกว่า 70 มก./ดล. ซึ่งความรุนแรงขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดและสภาพของผู้ป่วย
ตามมาตรฐานการดูแลทางการแพทย์ผู้ป่วยเบาหวาน โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งอเมริกา (ADA) กำหนดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำไว้ 3 ระดับ ได้แก่
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มก./ดล. แต่เท่ากับ 54 มก./ดล. หรือสูงกว่า
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำปานกลาง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 54 มก./ดล.
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 40 มก./ดล.
ทั้งนี้ โรคเบาหวาน คือหนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในหญิงตั้งครรภ์ได้ โรคเบาหวานจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ฉีดอินซูลิน มีการศึกษาจากต่างประเทศ ที่ชี้ให้เห็นว่าระหว่าง 19 ถึง 44% ของผู้หญิงที่เป็นเบาหวานมักมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในระหว่างตั้งครรภ์ และสตรีมีครรภ์ที่เป็นเบาหวานมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงได้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำในคนท้อง ได้แก่
สาเหตุทั่วไปที่ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำ
- การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ หรือ คุมอาหารหรือปริมาณน้ำตาลมากเกินไปเนื่องจากกลัวว่าจะเป็นเบาหวาน รวมทั้งการอดอาหาร สามารถส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทารกในครรภ์จะใช้กลูโคสของมารดาอย่างต่อเนื่องโดยไม่คำนึงถึงปริมาณอาหารที่บริโภค ดังนั้นสตรีมีครรภ์ควรรับประทานอาหารที่สมดุลและดีต่อสุขภาพด้วยคาร์โบไฮเดรตและอาหารที่ไม่ผ่านการขัดสีอย่างเพียงพอเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
- การออกกำลังกายที่มากเกินไป การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไปสามารถทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงเนื่องจากร่างกายเปลี่ยนกลูโคสเป็นพลังงานเพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้กับร่างกาย
สตรีมีครรภ์ที่เป็นเบาหวานอาจจำเป็นต้องปรับปริมาณอินซูลินของตนเอง เนื่องจากอินซูลินที่มากเกินไปจะลดน้ำตาลในเลือดได้มากเกินไป ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
หมอแจงแล้ว! ชาไข่มุก ไม่ทำให้ลำไส้อุดตัน แต่ทำให้เป็นเบาหวาน!
คนท้องต้องรู้! กินน้ำตาล ตรวจเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำอย่างไร?
มันฝรั่งทอด กินมากไปเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำ
- เป็นเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูงและต่ำอาจเกิดขึ้นได้ในระยะต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์ ขึ้นอยู่กับอินซูลินและยารักษาโรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ต้องติดตามและปรับขนาดอินซูลินระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับอินซูลินอาจผันผวนได้
- กำลังตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดขึ้นบ่อยขึ้นในช่วงไตรมาสแรกเมื่อคนท้องมีอาการคลื่นไส้อาเจียน (แพ้ท้อง) บ่อยครั้ง การศึกษาพบว่าสตรีมีครรภ์ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาสแรกมากกว่าก่อนตั้งครรภ์ถึง 3 เท่า ช่วงเวลาที่มีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงที่สุดคือระหว่าง 8 ถึง 16 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ เวลาที่มีโอกาสน้อยที่สุดคือในไตรมาสที่สอง
- เคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำก่อนการตั้งครรภ์
- ความอยากอาหารลดลง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วยหลายอย่าง อาจทำให้รู้สึกไม่อยากอาหาร และหากไม่ได้รับอาหารเพียงพอหรือสม่ำเสมออาจพัฒนาไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- เป็นโรคขาดสารอาหาร สิ่งสำคัญคือต้องได้รับแคลอรีเพียงพอในระหว่างตั้งครรภ์ ควรเน้นการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ยารักษาโรคเบาหวานสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เมื่อรับประทานอาหารไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตราย นอกจากนี้ ยาบางชนิดอาจลดน้ำตาลในเลือดได้ อาทิ ซาลิไซเลตหรือยาแก้ปวดรวมทั้งแอสไพริน ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่ไม่แนะนำในระหว่างตั้งครรภ์ ยาปฏิชีวนะที่เรียกว่ายาซัลฟา และยาเพนทามิดีน ตลอดจนยารักษาโรคปอดบวม เป็นต้น
อันตรายเมื่อคนท้องน้ำตาลต่ำ
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเพียงครั้งเดียวระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ แต่หากคนท้องมีอาการน้ำตาลต่ำอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงได้ เพราะ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการชัก โคม่า และเสียชีวิตได้ในผู้ป่วยเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ และ ทารกแรกเกิดอาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่นเดียวกันเมื่อเกิดมาพร้อมกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือพัฒนาทันทีหลังคลอด
ทารกที่เกิดจากมารดาที่เป็นเบาหวาน อาจมีอาการที่เรียกว่าภาวะแมคโครโซเมีย (macrosomia) ซึ่งทำให้ลูกมีขนาดตัวใหญ่ผิดปกติ ทารกแรกเกิดเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจและติดตามอาการผิดปกติ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดอาจลดลงจนเป็นอันตรายและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาในการหายใจ
สัญญาณเตือน และอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
อาการน้ำตาลในเลือดลดลง เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและร่างกาย อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดคงที่อีกครั้ง
- สัญญาณลดน้ำตาลในเลือดในช่วงต้น
- คลื่นไส้และอาเจียน วิงเวียนศีรษะ
- รู้สึกหิวผิดปกติ
- มึนหัว
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- มือสั่น
- เหงื่อออกมาก
- วิตกกังวล
- หน้าซีด
- รู้สึกเหนื่อย
- รู้สึกชาที่ริมฝีปาก
การป้องกันและการรักษา
หากคุณเริ่มรู้สึกถึงอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้ทำดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของคุณอย่างสม่ำเสมอและตระหนักถึงอาการของระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเพื่อให้คุณสามารถรักษาได้อย่างรวดเร็ว
- หากเกิดอาการ ให้หาที่ที่ปลอดภัยที่สามารถนั่งหรือนอนเอนตัวได้ หากคุณกำลังขับรถ ให้หาที่จอดรถ
- พกขนมหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น ]ลูกอมเม็ดกลูโคส นมเม็ด น้ำผลไม้แบบกล่อง หรือขนมหวาน หากคุณมีชุดฉีดกลูคากอน ให้เก็บไว้กับตัวเสมอ การกินหรือดื่มคาร์โบไฮเดรต ประมาณ 15 กรัม จะช่วยปรับระดับน้ำตาลในร่างกายให้เป็นปกติได้
- ไม่ควรงดมื้ออาหารระหว่างวัน
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่เกิดขึ้น
หากคุณป่วยเป็นเบาหวาน แพทย์อาจทำการปรับยาเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ คุณอาจได้รับใบสั่งยาสำหรับสิ่งที่เรียกว่าชุดกลูคากอน ชุดนี้ประกอบด้วยฮอร์โมนกลูคากอนสังเคราะห์ และเข็มฉีดยาที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เมื่อฉีดเข้าไป กลูคากอนจะกระตุ้นตับให้หลั่งกลูโคสสะสม ในทางกลับกันทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น วิธีนี้ใช้เป็นเครื่องช่วยชีวิตสำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง
กุญแจสำคัญคือการลดความเสี่ยงของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำก่อนเป็นอันดับแรก
- กินอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยและพอดี เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในปริมาณคงที่
- ในขณะที่นอนหลับ ซึ่งร่างกายไม่ได้รับสารอาหารใดๆ อาจทำให้เกิดอาการน้ำตาลต่ำกำเริบได้ ดังนั้นอย่าลืมเก็บขนมไว้ข้างเตียงนอนเพื่อที่คุณจะได้กินได้ถ้าตื่นกลางดึก
- ออกกำลังกายให้เหมาะสม เว้นแต่แพทย์จะสั่งห้าม อย่างไรก็ตามไม่ควรออกกำลังเกินระดับปกติของตัวเอง ผลของการออกกำลังกายที่มากเกินไปต่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอาจคงอยู่ได้นานถึง 24 ชั่วโมง
ในระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักเกี่ยวข้องกับการควบคุมเบาหวาน ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ ตลอดจนการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไปเหมาะกับสภาพร่างกายของคนท้องแต่ละคน จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ มีแรงรับมือกับอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างแน่นอนค่ะ
เมื่อถึงวันคุณแม่คลอดเจ้าตัวน้อยออกมาจนลูกเติบโตพอที่สามารถเรียนรู้เรื่องของโภชนาการที่มีประโยชน์ ตลอดจนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีแล้ว อย่าลืมปลูกฝังให้ลูกๆ ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการทานอาหารและการมีสุขภาพที่ดีด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้เด็กๆ เกิดทักษะความฉลาดที่รอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี (HQ) สามารถเรียนรู้และเข้าใจวิธีดูแลและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : healthline.com , medicalnewstoday.com , nhs.uk
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แม่แชร์! เป็นเบาหวานตอนท้อง และวิธีคุมน้ำตาลแบบง่ายและได้ผลดี
ไขข้อข้องใจ คนท้องลื่นล้ม หกล้ม ลูกจะเป็นอะไรไหม แท้งได้หรือเปล่า?
วิจัยล่าสุดเผย! คนท้องอ่อนตากแดด ลดความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่