เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 36 เป็นต้นไป แม่ท้องทุกคนก็จะเริ่มคิดถึงการคลอดกันแล้ว ในแม่ท้องบางคน ลูกก็ส่งสัญญาณการคลอดมาให้แม่เตรียมตัวได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 36 แต่สำหรับแม่ท้องบางคน ที่ไม่มีวี่แววว่าจะเจ็บท้องคลอดเลยก็จะเริ่มกังวลกันแล้ว ว่าทำไมยังไม่คลอดซักที ถ้าท้องเกิน 40 สัปดาห์แล้วลูกจะเป็นอย่างไร? ทีมงาน Amarin Baby & Kids มี วิธีเร่งคลอด มาบอกค่ะ
วิธีเร่งคลอด มีกี่แบบ? จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเร่ง
การเร่งคลอดคืออะไร?
การเร่งคลอด การชักนำการคลอด หรือ การกระตุ้นคลอด (Induction of labor) คือ การทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดโดยการอาศัยเทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ ในขณะที่คุณแม่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่แล้วจะทำไปโดยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ว่าไม่สามารถรอการคลอดโดยธรรมชาติได้ ซึ่งการเร่งคลอดในข้อบ่งชี้นี้เพื่อเป็นการช่วยชีวิตคุณแม่และทารกในครรภ์ สำหรับบางกรณี การเร่งคลอด หมายถึง การยุติการตั้งครรภ์เพราะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าส่งผลดีกับคุณแม่มากกว่า
ทำไมต้องเร่งคลอด?
สาเหตุที่ต้องเร่งคลอด ในทางการแพทย์นั้น เป็นเพราะความเสี่ยงต่อชีวิตของทารกในครรภ์ ซึ่งหากอยู่ในครรภ์ต่อไป อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ โดยมีสาเหตุจากภาวะต่อไปนี้
สาเหตุการเร่งคลอดที่เกิดจากแม่ท้อง
- แม่ท้องที่มีความดันโลหิตสูง (Gestational hypertension) หรือ ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia, Eclampsia) เป็นภาวะที่ทำให้เส้นเลือดทั่วร่างกายหดรัดตัว ทำให้ปริมาณของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงจึงลดน้อยลง ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ เพราะเนื้อเยื่อรกบางส่วนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง
- แม่ท้องที่เป็นเบาหวานหรือเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- แม่ท้องตกเลือดก่อนคลอด
- แม่ท้องตั้งครรภ์เกิน 40 สัปดาห์ (Postterm pregnancy) เป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้รกจะเสื่อมจนไม่สามารถนำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงทารกในครรภ์ได้อีกต่อไป จึงอาจทำให้ขาดออกซิเจนและอาหารได้
- ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes) หรือก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ เพราะถ้าปล่อยให้ตั้งท้องไปนาน ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเด็กมีความพิการแต่กำเนิดได้
- คุณแม่เกิดการอักเสบติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ (Chorioamnionitis)
สาเหตุการเร่งคลอดที่เกิดจากทารกในครรภ์
- ภาวะที่การทำงานของรกผิดปกติ (รกลอกตัวก่อนกำหนด รกพันกันจนปิดกั้นอ๊อกซิเจนที่ควรจะเข้าสู่ทารก เป็นต้น)
- ภาวะที่การเจริญเติบโตของทารกผิดปกติ (Severe fetal growth restriction) เด็กในท้องโตช้า หรือ น้ำหนักน้อย เนื่องจากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือด โรคติดเชื้อต่าง ๆ หรือสภาพมดลูกไม่สมบูรณ์, คุณแม่ที่สูบบุหรี่จัด และคุณแม่รับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอและเหมาะสมในขณะตั้งครรภ์ ในกรณีเหล่านี้คุณหมออาจตัดสินใจเร่งคลอดเพื่อนำเด็กออกมาเลี้ยงข้างนอกจะปลอดภัยกว่า
- ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios)
- การตั้งครรภ์แฝดที่มีภาวะแทรกซ้อน ที่อาจทำให้ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรง หรือเสี่ยงต่อชีวิตของคุณแม่และทารก
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Fetal death) หากปล่อยให้ทารกที่เสียชีวิตแล้วยังอยู่ในครรภ์และยังไม่หลุดออกมาเองนานเกินไป จะทำให้คุณแม่เกิดภาวะลิ่มเลือดไม่แข็งตัวได้ เพราะอาจมีส่วนเสื่อมสลายของลูกหลุดเข้าไปในกระแสเลือดได้
สาเหตุอื่น ๆ (ควรปรึกษาแพทย์ถึงความพร้อมของทารกในครรภ์ก่อนวางแผนการเร่งคลอด)
- ความสะดวกในการเดินทางมาคลอด เป็นเพราะคุณแม่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก เพราะถ้ารอให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนแล้วค่อยเดินทางมาโรงพยาบาลคาดว่าอาจจะไม่ทัน ทำให้มีการคลอดระหว่างทางได้
- ฤกษ์งามยามดี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีเร่งคลอด โดยแพทย์และแบบธรรมชาติ