อาการท้องแข็งเป็นอาการที่คุ้นเคยสำหรับแม่ ๆ ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 3 อาการนี้เป็นการส่งสัญญาณว่ามดลูกเตรียมพร้อมสำหรับการบีบตัวเพื่อดันลูกน้อยออกจากท้อง แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับแม่ท้องก็คือ อาการท้องแข็งที่เป็นอยู่นั้นอันตรายหรือไม่ หรือเป็นเพียงอาการ ท้องแข็งใกล้คลอด แบบปกติ ล้อมวงกันเข้ามาค่ะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะมาแยกทีละประเด็นว่าอาการที่คุณแม่เป็นอยู่นั้น คือ ท้องแข็งใกล้คลอด หรือ ท้องแข็งแบบอันตรายกันแน่
ท้องแข็งใกล้คลอด เป็นแบบไหน? ท้องแข็งแบบไหนอันตราย
อาการท้องแข็งคืออะไร?
ท้องแข็ง คือ การหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งการหดตัวนี้ กล้ามเนื้อมดลูกที่ทำหน้าที่หลักคือ กล้ามเนื้อมดลูกส่วนบน เป็นส่วนที่ทำให้เกิดแรงที่ทารกสามารถคลอดออกไปทางช่องคลอดได้ โดยเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกส่วนบน จะหดสั้นเข้าหลังจากการหดรัดตัวในแต่ละครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ความยาวของเซลล์กล้ามเนื้อสั้นลงเรื่อยๆ และมีความหนาเพิ่มขึ้น สำหรับ กล้ามเนื้อมดลูกส่วนล่าง เมื่อมีการหดรัดตัวในแต่ละครั้ง ความยาวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกจะยาวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เมื่อขบวนการคลอดดำเนินไปกล้ามเนื้อส่วนล่างจะมีการบางตัวลง เป็นภาวะปกติที่มดลูกเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด
ท้องแข็งใกล้คลอด มีอาการแบบไหน?
อาการ ท้องแข็งใกล้คลอด จะมีอาการเจ็บ ตึง หรือ บีบรัดที่ท้อง โดยจะปวดตื้อ ๆ บริเวณหลังและท้องช่วงล่าง โดยเริ่มปวดไล่มาตั้งแต่มดลูกไล่ไปยังก้น หรือ อาจจะปวดจากก้นไล่ไปยังมดลูกส่วนบน การปวดจาก ท้องแข็งใกล้คลอด จะมีอาการดังต่อไปนี้
- เมื่อจับบริเวณท้อง จะรู้สึกแข็งตึงไปทั่วทั้งท้อง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งนิ่ม
- อาการปวดจะเป็นจังหวะ หรือเป็นช่วง ๆ เช่น ปวดทุก ๆ 10 นาที และในการปวดแต่ละครั้งจะปวดนานถึงครึ่งนาทีถึง 1 นาที เป็นต้น
- เมื่อมีการเบี่ยงเบนความสนใจโดยการเปลี่ยนท่าทาง หรือ หยุดทำกิจกรรมที่อาจทำให้ท้องแข็ง อาการท้องแข็งก็ยังไม่หาย
- ท้องแข็งใกล้คลอด นี้จะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะปวดนานขึ้น และ ถี่ขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการคลอด
- มักพบว่ามีอาการปวดร่วมกับน้ำเดินและมีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด
อาการท้องแข็งใกล้คลอด นั้น มักจะมีอาการต่อไปนี้เกิดขึ้นพร้อมกับอาการท้องแข็ง
- ท้องเคลื่อนต่ำลง หรือเรียกว่าท้องลด หรือ ท้องลง เป็นเพราะทารกเริ่มมีการเคลื่อนตัวลงมาใกล้บริเวณกระดูกเชิงกรานมากขึ้น เพื่อเตรียมตัวที่จะคลอด ในระยะนี้แม่ท้องที่จากเดิมหายใจไม่ค่อยสะดวกหรืออึดอัดแน่นท้องบ่อย ๆ ก็จะหายใจได้สะดวกขึ้น เพราะลูกเคลื่อนลงต่ำ ทำให้แรงกดที่กระบังลมลดลง
- ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น เพราะลูกเคลื่อนตัวมากดกระเพาะปัสสาวะ
- อาการท้องเสียหรือถ่ายเหลว เพราะร่างกายมีการสร้างสารคล้ายฮอร์โมนที่ชื่อ โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเตรียมพร้อมกับการคลอด ทำให้มดลูกหดตัวและช่วยขยายปากมดลูกให้กว้างขึ้น แต่ก็กระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายมากด้วยเช่นกัน
- ปวดหลัง ปวดอุ้งเชิงกราน ปวดก้นกบ แม่ท้องส่วนใหญ่จะพบอาการปวดนี้ได้ถึง 1 ใน 3 ของแม่ท้องทั้งหมด เนื่องจากหลังอยู่ในลักษณะโค้งเป็นเวลานานหลายเดือน เพื่อรองรับทารกในครรภ์ และเด็กทารกอาจจะเคลื่อนตัวต่ำลงมา จนทำให้กระดูกอุ้งเชิงกรานต้องรองรับน้ำหนักมากขึ้น และฮอร์โมนที่ร่างกายแม่ท้องสร้างขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด จะทำให้เกิดอาการปวดก้นกบ อาการปวดเหล่านี้จากปวดอย่างต่อเนื่องและปวดมากขึ้นจนกว่าจะคลอด
- นอนไม่หลับหรือหลับยาก
- อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่