คนท้องกินลำไยได้ไหม คำถามที่แม่ท้องต้องการคำตอบชัด ๆ ก็แหมลำไยทั้งหวาน ทั้งกรอบอร่อยนี่นา มาฟังคำตอบกันแบบไม่ลำไย ไม่ปิดบัง กินได้ไหม กินแล้วดีกับลูกหรือไม่
10 คำถามตอบตรงไม่ลำไย! คนท้องกินลำไยได้ไหม ??
อาหารการกินกับมนุษย์ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งคู่กัน จนถึงขนาดที่ว่าบางคนมีสโลแกน “อยู่เพื่อกิน มิใช่กินเพื่ออยู่” กันไปเสียแล้ว ไหนใครที่มีสโลแกนประจำตัวแบบนี้บ้าง เห็นทีเราจะเป็นคนจำพวกเดียวกันเสียแล้ว ไม่ว่าจะอาหารคาว อาหารหวาน หรือผลไม้ก็ใช่ย่อย ล้วนแล้วแต่เรียกน้ำลาย น้ำย่อย ไม่น้อยหน้ากันเลยทีเดียวเชียว
ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่เป็นครัวโลกประเทศหนึ่ง ผลไม้ไทยก็เป็นอีกหนึ่งที่ขึ้นชื่อ เลื่องลือ ถึงความอร่อยซึ่งก็มีมากมายหลายชนิด หนึ่งในนั้นทุกคนก็คงลงความเห็นเหมือนกันเป็นแน่ว่า “ลำไย” ที่จัดว่าเป็นผลไม้ที่ใครหลาย ๆ คนชื่นชอบ ทั้งความหวานละมุน ความกรอบอร่อยของเนื้อลำไยที่ชวนให้ใคร ๆ หลงใหลที่จะลิ้มลอง แต่หากว่าตอนนี้เราเป็นคนท้องละ จะยังคงรับประทานลำไยได้ตามปกติหรือไม่กันนะ
คุณแม่ตั้งครรภ์ กับการรับประทานนั้น มักมีปัญหาที่คล้าย ๆ กัน นั่นคือ คำถามเกี่ยวกับสิ่งของที่จะรับประทานว่า สามารถรับประทานได้ไหมในระหว่างที่ตั้งครรภ์ กินแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อลูกในท้อง และอีกมากมายคำถามสารพัด สารพันกวนใจแม่ท้องกันใช่ไหม วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK เข้าใจ และได้รวบรวม 20 คำถามคาใจเกี่ยวกับลำไยที่แม่ท้องอยากทราบก่อนที่จะรับประทานว่า คนท้องกินลำไยได้ไหม มาฝากกัน
10 คำถามความเชื่อยอดฮิตกับ “ลำไย”
1.คนท้องกินลำไยมากทำให้ร้อนในจริงหรือ??
คงไม่ใช่แค่คนท้องเท่านั้นที่รับประทานลำไยแล้วร้อนใน ความเชื่อที่ว่าหากกินลำไยในปริมาณมากเกินไปจะก่อให้เกิดอาการร้อนในตามมา บ้างก็ว่าเกิดจากยางของลำไย สำหรับข้อเท็จจริงของเรื่องนี้นั้น ขอให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจาก ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า อาจเป็นเพราะลำไยเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ทำให้มีน้ำตาลตกค้างอยู่ภายในปากหลังกิน ซึ่งน้ำตาลเหล่านี้เป็นอาหารของแบคทีเรีย และเป็นสาเหตุให้มีแบคทีเรียสะสมมากขึ้น ทำให้เสี่ยงเกิดแผลร้อนในตามมาในที่สุด ดังนั้น อาหารที่มีน้ำตาลมากจึงล้วนส่งผลให้เป็นร้อนในได้ ไม่ใช่เพียงแต่ลำไยเท่านั้น
สาเหตุที่แม่ท้องเกิดแผลร้อนในบ่อย ๆ ได้แก่
- ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ฮอร์โมนบางตัวจะส่งผลต่อการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย ยิ่งเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 จะมีฮอร์โมนจากรกเพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ นี้ทำให้เกิดปัญหาต่อร่างกายแม่ท้อง ได้แก่ แผลในช่องปาก มีผดผื่นผิวหนัง ผมร่วง และคันตามตัวได้ เป็นต้น
- อาหาร หรือผลไม้ที่รับประทานเสี่ยงต่อการเกิดแผลช่องปากได้สูง อาหารบางอย่างสามารถกระตุ้นฮอร์โมนให้ทำงานไวมากขึ้น หรือแย่ลงได้ ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง หรือน้ำตาลจากอาหาร หรือผลไม้ที่ตกค้างอยู่ภายในปาก เป็นสาเหตุให้เกิดแบคทีเรียต้นเหตุให้เกิดแผลช่องปากได้เช่นกัน เช่น ขนุน ทุเรียน ลำไย อาหารทอด เป็นต้น
- การดูแลความสะอาดช่องปาก หลังเข้าไตรมาสที่ 2 เหงือกคุณแม่ท้องมักจะบวมมาก เป็นสาเหตุให้แปรงฟันลำบาก โดยเฉพาะบริเวณโคนฟัน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มักมีแบคทีเรียติดเชื้ออยู่ ประกอบกับสภาวะที่ลิ้นเป็นกรดด่างที่เอื้อต่อการเกิดแผล หากเป็นก็จะหายยากอีกด้วย
การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่พอจะทำได้และบ้วนปากหรือดื่มน้ำตามหลังจากการกินอาหารที่มีกรดหรือน้ำตาลเพื่อล้างปาก จึงอาจช่วยป้องกันการระคายเคืองภายในช่องปากที่จะนำไปสู่การเกิดแผลร้อนในได้
2.คนท้องกินลำไยได้ไหม??
การกินผักผลไม้ให้หลากหลายจะช่วยให้ว่าที่คุณแม่ได้รับวิตามิน และแร่ธาตุที่ครบถ้วน เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูกน้อย อีกทั้งมีเส้นใยอาหารสูง ช่วยป้องกันท้องผูกได้ดี ลำไยจึงไม่ใช่ของต้องห้ามที่ไม่ควรกินระหว่างตั้งครรภ์แต่อย่างใด สิ่งที่ควรระวังเมื่อคุณแม่ท้องกินลำไย ให้ระวังในเรื่องน้ำตาลที่มีสูงมากในลำไย รวมไปจนถึงผลไม้ชนิดอื่น ๆ ที่มีน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน กล้วย หรือสับปะรด ด้วยเช่นกัน ไม่ควรกินในปริมาณที่มาก เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงเสี่ยงเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
คุณแม่ท้องสามารถกินลำไยได้ และเพื่อป้องกันการกินในปริมาณที่มากเกินไป เราแนะนำให้กินสลับกับผลไม้ที่มีรสหวานน้อย และหวานปานกลาง เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ แก้วมังกร ส้มโอ ส้ม กล้วยน้ำว้า ก็จะทำให้คุณแม่ได้รับประทานผลไม้หลากหลาย และเฉลี่ยปริมาณน้ำตาลไม่ให้สูงจนเกินไปเมื่ออิ่มพอดีได้อีกด้วย
3.กินลำไยช่วยบำรุงสุขภาพอย่างไร??
เนื้อลำไยอุดมไปด้วยวิตามินซีที่มีส่วนสำคัญในการสร้างคอลลาเจนอันพบมากในกระดูก หลอดเลือด และผิวหนัง เนื้อลำไย 9 ผล ให้วิตามินซีสูงถึง 63 มิลลิกรัม ซึ่งเกือบเทียบเท่ากับปริมาณวิตามินซีที่แนะนำต่อวัน โดยผู้หญิงควรได้รับวิตามินซีวันละ 75 มิลลิกรัม ส่วนผู้ชายควรได้รับวันละ 90 มิลลิกรัม นอกจากนั้น งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของลำไย ไม่ว่าจะเป็นใบ ผล เมล็ด เปลือก ลำต้น กิ่ง ดอก ต่างประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- บรรเทาอาการปวดข้อ โรคเกี่ยวกับข้อต่อ และกระดูกหลายโรค เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อเสื่อม กระดูกพรุน และโรคเก๊าท์
- สารต้านอนุมูลอิสระที่มีในลำไย ช่วยต่อสู้กับอนุมูลอิสระในร่างกายที่สร้างความเสียหายต่อเซลล์และเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
4.ท้องอยู่อยากกินลำไยมากควรทำอย่างไร??
อย่างที่ได้กล่าวมาให้ข้างต้นแล้วว่า ลำไยเป็นผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง ด้งนั้นคุณแม่ท้องที่ชื่นชอบการรับประทานลำไยจึงควรระมัดระวังในเรื่องปริมาณน้ำตาล ยิ่งช่วงเวลาตั้งครรภ์ ระดับน้ำตาลจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งตัวคุณแม่ และลูกในท้องค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องงดการกินลำไยหรือผลไม้อื่น ๆ ที่มีคุณค่าทางสารอาหารแต่มีน้ำตาลสูงเสมอไป เพียงลดปริมาณ และความถี่ในการกินให้น้อยลง
5.จำเป็นต้องล้างลำไยก่อนกินไหม??
ผักผลไม้ก่อนรับประทานควรล้างให้สะอาด นอกจากล้างสิ่งปนเปื้อนที่ติดมาแล้ว ยังต้องให้มั่นใจว่าสามารถชะล้างยาฆ่าแมลงที่ติดอยู่บนผิวได้ เรามาดูวิธีล้างผักและผลไม้ให้สะอาดปลอดภัยกันตามภาพ
การล้างผักผลไม้ช่วยขจัดยาฆ่าแมลง และเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนตามเปลือกผลจริง แต่อาจไม่ทั้งหมด หลายคนเสี่ยงได้รับยาฆ่าแมลงจากกินลำไยจากการใช้ปากกัดเปลือกลำไย ทางที่ดีจึงควรใช้มือ หรือมีดแกะผลลำไยแทน
6.ลำไยช่วยลดความเครียด ความกังวล และภาวะซึมเศร้า ได้จริงไหม??
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสารสองตัวที่มีอยู่ในลำไย คือ กาบา และกรดแกลลิก ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้มีสรรพคุณต้านภาวะซึมเศร้า และปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นในมนุษย์ได้ ทั้งนี้ การศึกษาโดยใช้ลำไยหรือสารสกัดจากลำไยโดยตรงนั้นมีไม่มากนัก และยังไม่พบการศึกษาในคนที่น่าเชื่อถือ จึงยังคงเป็นข้อสันนิษฐาน และต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
7.ทำไมสมุนไพรไทยหรือจีนมักมีส่วนประกอบของลำไยอบแห้ง??
ลำไยมักถูกใช้ในยาสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรตำหรับไทย หรือจีนเนื่องจากชาวจีนเชื่อว่าเป็นผลไม้มงคล นำมาทำเป็นส่วนผสมในตัวยาได้ เนื่องจากมีสรรพคุณทางหยาง บำรุงม้าม หัวใจ เลือด เพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนโลหิต แก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย บำรุงสายตา ป้องกันเชื้อโรคบางชนิดได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับสรรพคุณทางยาของสมุนไพรแผนโบราณของไทย ที่ได้กล่าวไว้ว่าลำไยสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ทุกส่วน ดังนี้
- เมล็ด แก้บาดแผลมีเลือดออก ห้ามเลือด แก้ปวด สมานแผล แก้แผลมีหนอง และกลากเกลื้อน
- ใบ แก้ ไข้หวัด มาลาเรีย แก้ฝีหัวขาด แก้ริดสีดวงทวาร
- ดอกแก้โรคเกี่ยวกับหนองทั้งหลาย
- รากใช้แก้เสมหะ และลม ถ่ายโลหิตออกทางทวารหนัก แก้ระดูขาวมากผิดปกติ ขับพยาธิเส้นด้าย
- เปลือกต้น แก้เสมหะ ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด สมานแผล แก้น้ำลายเหนียว
8.กินลำไยรักษาโรค ปลอดภัยหรือไม่??
ลำไยมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อยีสต์ ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ฤทธิ์เพิ่มความจำ ต้านการเป็นพิษต่อตับ ลดความวิตกกังวล ปกป้องเซลล์ประสาท ปกป้องสมอง ต้านการก่อกลายพันธุ์ ต้านความเหนื่อยล้า ต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และปรับระบบภูมิคุ้มกัน
จากประโยชน์ของลำไยที่มีมากมาย และเด่นในเรื่องที่เป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยในการต้านทานโรคที่ดีหากกินในปริมาณที่เหมาะสม จึงทำให้ในปัจจุบันมีการนำลำไยไปสกัดเป็นสารสกัดจากลำไย เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากลำไย โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่มากเมื่อรับประทานเป็นผลไม้สด แต่เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรใช้สารสกัดจากลำไยเป็นเวลานาน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจใช้ทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ก็ตาม
9.ทำไมลำไยถึงเป็นผลไม้ต้องห้ามของคนท้อง??
คุณแม่ท้องไม่ต้องกังวลไปเมื่ออ่านถึงคำถามในข้อนี้ เนื่องจากว่า ข้อห้าม ความเชื่อในเรื่องดังกล่าว หากเราได้อ่านลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่า การที่กล่าวว่าลำไยเป็นผลไม้ต้องห้ามของแม่ท้องนั้น เป็นเพียงการแสดงความห่วงใยในเรื่องของปริมาณน้ำตาลที่มีมากในลำไยสด หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทานมากเกินไปก็จะส่งผลให้เกิดโรคอ้วน จนถึงขั้นร้ายแรงสุดคือเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นลำไยจึงมิใช่ตัวร้าย แต่เป็นปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ลำไยมากกว่าที่ต้องระวัง อย่ารับประทานในปริมาณที่มากเกินพอดี
10.ลำไยทำให้แม่ท้องเป็นเบาหวานจริงหรือ??
เบาหวานคือโรคหนึ่งที่พบบ่อยในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่
- คุณแม่ตั้งครรภ์ในขณะที่อายุมาก
- มีพันธุกรรมคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน
- พฤติกรรมการกินไม่ถูกสัดส่วนและกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เค้ก น้ำหวานชนิดต่างๆ หรือชอบกินผลไม้ที่มีน้ำตาล เช่น เงาะ ทุเรียน ลำไย หรือกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเยอะ มากกว่าที่จะเน้นอาหารประเภทโปรตีน
จะเห็นได้ว่าภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการกินลำไย หรือผลไม้ที่มีน้ำตาลมากเพียงอย่างเดียว หากมองถึงปัจจัยด้านการกิน จะพบว่าคุณแม่ควรใส่ใจอาหารการกินให้ถูกสัดส่วน ควรรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรตให้น้อย เน้นอาหารโปรตีนมากกว่าจะช่วยให้อิ่มนาน การใส่ใจในสัดส่วนการกินจะช่วยให้ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและลูกน้อยได้ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ก่อให้เกิดโรคใด ๆ
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.pobpad.com/aby.kapook.com/www.gj.mahidol.ac.th/pharmacy.mahidol.ac.th/www.phyathai.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่