ลูกหัวเล็ก ภาวะศีรษะเล็ก ไม่ใช่แค่ไวรัสซิก้าอย่างเดียว - Amarin Baby & Kids
ลูกหัวเล็ก หรือภาวะศีรษะเล็ก

ลูกหัวเล็ก หรือภาวะศีรษะเล็ก ไม่ได้เกิดจากไวรัสซิก้าเพียงอย่างเดียว

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกหัวเล็ก หรือภาวะศีรษะเล็ก
ลูกหัวเล็ก หรือภาวะศีรษะเล็ก

แม่สุดเศร้า! ลูกหัวเล็ก คลอดออกมามีภาวะศีรษะเล็ก ไม่ใช่แค่ไวรัสซิก้า ยังมีอีก 9 สาเหตุภาวะศีรษะเล็ก

ลูกหัวเล็ก หรือภาวะศีรษะเล็ก

คุณแม่ท่านหนึ่งได้บอกเล่าประสบการณ์มีภาวะศีรษะเล็ก ว่า ในปี 2561 แม่ตั้งครรภ์เป็นท้องแรก โดยฝากท้องที่โรงพยาบาลและฝากพิเศษ​ อัลตราซาวด์ลูกในท้องก็ปกติดี แต่พอคลอดออกมา ลูกศีรษะเล็กเพียง 29 เซนติเมตร น้ำหนัก 2,900 กรัม ตอนแรกหมอกระตุ้นให้ลูกร้อง แต่ลูกไม่ค่อยร้อง ลูกต้องอยู่ห้อง NICU ให้อาหารทางสายยางและให้ออกซิเจนตลอด​ แม่ต้องปั๊มนมไปส่งลูกทุกวัน จนลูกได้กลับมาบ้าน แต่ลูกกลับบ้านแค่ไม่นานก็ต้องกลับเข้าไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง

ลูกคนแรก ตรวจพบเชื้อไวรัสซิก้า

ที่กลับเข้าไปใหม่ เพราะลูกมีออกชิเจนในเลือดต่ำ ตัวเขียว​ ต่อมาหมอให้ย้ายไปตึกฉุกเฉิน เด็กกินไม่ได้ นอนไม่หลับ​ ทุกนาทีมีค่า​ ต้องเฝ้าลูกตลอดเวลา​ เพราะถ้าสายออกซิเจนหลุด​ ลูกจะเหนื่อย​ ตัวเขียว​ พร้อมที่จะไป​ ขณะที่อยู่โรงพยาบาล ก็มีเจ้าหน้าที่​มาสอบถามการติดเชื้อไวรัสซิก้าว่าเราติดได้อย่างไร​ ติดตอนไหน​ เพื่อเก็บข้อมูล​ แต่ก็ไม่รู้ว่าติดซิก้าได้อย่างไร​แทบจะไม่ได้ไปไหนเลย

“เรายื้อชีวิตลูกไว้ 2 ครั้ง​ ทำใจไม่ได้ที่ลูกจะจากไป​ แต่ทรมานยิ่งกว่าคือต้องเห็นหมอปั๊มหัวใจลูก​แล้วตัวลูกกระเด้ง​ แทบขาดใจ​ ขอยอมแพ้​ ลูกคือความหวังของเราทั้งสอง ครั้งสุดท้ายลูกดูเหนื่อย​ ตัวเริ่มเขียว ​เพิ่มออกซิเจนก็ไม่ดีขึ้นเท่าไร​ เรากอดลูก​ ทำใจไม่ได้ ​คุยกับหมอแล้ว​ไม่อยากให้ลูกเจ็บ​ทรมาน​ ต้องปล่อยลูกไป​ แต่แฟนมาไม่​ทัน ​ใจมันสลายอยู่ตรงนั้น​”

ลูกคนต่อมาศีรษะเล็ก ไม่ทราบสาเหตุ

จนมาตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 แม่ไปปรึกษา​โรงพยาบาลเพื่อวางแผนครอบครัว เว้นไป 1 ปี พร้อมกับดูแลตัวเอง กินโฟเลต จนพร้อมและมาฝากพิเศษ พร้อมนำประวัติและผลตรวจของลูกคนแรกให้คุณหมอ จากนั้นก็อัลตราซาวด์ตามนัด มีตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจโครโมโซม ตรวจทุกอย่างที่คุณหมอบอก แต่พอคลอดออกมา ลูกศีรษะ 32 เซนติเมตร น้ำหนัก 3,690 กรัม คุณหมอกระตุ้นให้ลูกร้อง แต่ลูกก็ไม่ค่อยร้อง จึงทำเรื่องส่งตัวไปอีกโรงพยาบาล

ลูกหัวเล็ก หรือภาวะศีรษะเล็ก
ลูกหัวเล็ก หรือภาวะศีรษะเล็ก

เมื่อไปถึงอีกโรงพยาบาลก็ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดของลูกเพื่อหาโรคต่าง ๆ ก็ปกติมี ทำ CT Scan ทำ MRT สมอง ก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ ผลตรวจซิก้าก็ไม่พบเชื้อ หมอบอกว่าลูกอาจสมองฝ่อ​หรือสมองพิการ (กระโหลกส่วนหน้าเล็ก) ​แต่หมอสูติไม่พูดอะไร

“ครอบครัวเรา บ้านอยู่ต่างจังหวัด​ ต้องพาลูกมาหาหมอที่อีกจังหวัดหนึ่งเดือนละ 2 ครั้ง บางครั้งก็นอน​โรงพยาบาล​หลายวัน​ แต่ละครั้งต้องพบหมอหลายคน​ อยากรู้สาเหตุต้องส่งเลือดไปตรวจที่​ กทม.​ ตอนนี้ลูก 6 เดือน​ ไม่มีพัฒนาการใด ๆ​ กระตุกบ่อย​ ตัวเกร็งตลอด​ ไม่ร้อง​ กินนมยาก ​สำลักง่ายมาก​ ๆ ป้อน​ 3 ออนซ์​ เกือบ 2 ชม. หมอบอกอาจต้องให้ทางสายยางหรือเจาะหน้าท้องตั้งแต่ตอน 2 เดือน​ แต่วิธีนี้มีโอกาสติดเชื้อสูง อาจจะอยู่ได้ไม่นาน แม่​​ทำใจไม่ได้ จึงพยายามประคับประคองป้อนนมขวดมาตลอด​ แต่ไม่รู้จะป้อนข้าวยังไง​ กลัวทุกอย่าง​ อยากพาลูกไป​โรงพยาบาลเด็กตั้งแต่เดือนตุลาคม​ แต่ RSV ระบาด​ ตอนนี้ก็มีโควิด-19​ แม่เหนื่อยและท้อมาก ๆ เห็นลูกเป็นแบบนี้​ แต่ต้องสู้” คุณแม่ทิ้งท้าย

ทีมแม่ABK ขอส่งกำลังใจให้คุณแม่หาสาเหตุพบและสามารถรักษาน้องได้นะคะ

ลูกหัวเล็ก หรือภาวะศีรษะเล็ก
ภาวะศีรษะเล็ก

สาเหตุลูกหัวเล็กเกิดจากอะไร

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ อธิบายว่า Microcephaly ไมโครเซฟาลี (ศีรษะเล็ก) คือ ความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด ของทารก ที่หมายถึงการที่ทารกมีศีรษะเล็กกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับทารกคนอื่น ร่วมกับมีการเจริญเติบโตของสมองที่ช้า อาจเจริญเติบโตต่อไปเป็นเด็กที่มีความพิการ มีความผิดปกติต่าง ๆ โดยนักวิจัยได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อหาศักยภาพของความเชื่อมโยงของผู้ป่วยที่มีภาวะไมโครเซฟาลี กับภาวะติดเชื้อไวรัสซิก้า และสาเหตุของไมโครเซฟาลียังมีเหตุอีกมากมาย ได้แก่

  1. ภาวะติดเชื้อของทารกในมดลูก ท็อกโซพลาสโมสิส (โรคขี้แมว อาจพบเชื้อปาราสิตก่อโรคขี้แมวในเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ)
  2. โรคหัดเยอรมัน หรือรูเบลล่า
  3. ไวรัสเริม (ไวรัสเฮอร์ปีส)
  4. เชื้อซิฟิลิส
  5. ซัยโตเมกะโลไวรัส
  6. เอชไอวี
  7. การที่ได้สัมผัสกับสารพิษสารเคมี มารดาสัมผัสกับสารโลหะหนัก เช่น สารหนู และสารปรอท (อาร์เซนิค และเมอร์คิวรี)
  8. มารดาดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ หรือใกล้กับรังสีต่าง ๆ
  9. ภาวะทางด้านพันธุกรรม การขาดสารอาหารอย่างรุนแรงขณะมีครรภ์อายุครรภ์น้อย

อาการของเด็กหัวเล็ก

ทารกที่เกิดมามีไมโครเซฟาลี อาจไม่แสดงอาการผิดปกติอะไรเลยในตอนแรกเกิด แต่จะมีอาการชักกระตุกเป็นการต่อเนื่อง มีอาการอัมพาตจากสมองผิดปกติ พบความผิดปกติในการเรียนรู้ หูหนวก และมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น บางรายเด็กที่มีภาวะไมโครเซฟาลี อาจจะเติบโตต่อไปได้ตามปกติ

การรักษาเด็กที่มีภาวะศีรษะเล็ก

ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะสำหรับทารกและเด็กที่หัวเล็ก จำเป็นต้องมีการประเมินและรักษาเด็กไมโครเซฟาลี ด้วยคณะแพทย์หลายสาขาวิชามาร่วมมือกันดูแลบริบาลตั้งแต่ระยะแรก

ลูกหัวเล็ก หรือภาวะศีรษะเล็ก

ไวรัสซิก้า ไวรัสอันตรายสำหรับแม่ท้อง

อ.นพ.ดร.นพพร อภิวัฒนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ไวรัสซิก้า มีพาหะนำโรคคล้ายไข้เลือดออกคือยุงลาย การติดเชื้อไวรัสซิก้าในหญิงตั้งครรภ์ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติอย่างรุนแรงของสมองและขนาดศีรษะของทารกในครรภ์ และยังมีรายงานว่าติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ สมมติว่าแม่ติดเชื้อช่วงใกล้คลอด ลูกออกมาก็อาจติดเชื้อได้ ส่วนใหญ่จะมีอันตรายก็ต่อเมื่อแม่ติดเชื้อในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเด็กจะมีการพัฒนาของอวัยวะต่าง ๆ ดังนั้น ถ้ามีการติดเชื้อในช่วงนั้นก็จะทำให้เด็กที่คลอดออกมาเกิดอาการผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม กรณีพบเด็กที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสซิก้าซึ่งมีขนาดศีรษะเล็กผิดปกติ ในทางการแพทย์ การรักษาคงเป็นแบบประคับประคองหรือรักษาตามอาการ

 

วิธีป้องกันที่ดีที่สุด เมื่อคุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบไปฝากครรภ์ หมั่นกินยาและวิตามินที่คุณหมอสั่ง ตรวจครรภ์ทุกครั้งอย่าให้ขาด ฉีดวัคซีนสำคัญ ๆ ลดพฤติกรรมเสี่ยงทุกอย่าง และดูแลตัวเองให้ดีที่สุด พร้อมช่วยกันดูแลแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือครอบฝาภาชนะที่สามารถบรรจุ คนท้องควรใช้ยากันยุงที่ปลอดภัย สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ใส่เสื้อผ้าสีสว่าง ในบ้านควรติดมุ้งลวดที่ประตู หน้าต่าง เพื่อป้องกันอันตรายจากยุง ลดความเสี่ยงภาวะศีรษะเล็กที่อาจเกิดได้กับทารกในครรภ์

อ้างอิงข้อมูล : rama.mahidol.ac.th, mgronline.com, และ sanook

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

คนท้องตรวจโควิดได้ไหม จำเป็นต้องตรวจไหม อาการแบบไหนไม่ควรปล่อยไว้

ข้ามสามีให้แพ้ท้องแทน ความเชื่อโบราณให้คนท้องกลั้นหายใจข้ามตัวสามี

ท้องไม่พร้อม ไม่สนุก!! รู้ยังวัยรุ่น ฝังยาคุม ฟรี

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up