ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก อาจท้องไม่พบทารก แต่กลับพบรกที่ผิดปกติคล้ายเม็ดสาคู สังเกตสัญญาณร่างกายที่อาจเป็นโรคร้ายต้องยุติการตั้งครรภ์
ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คืออะไร สังเกตอาการที่ต้องรีบมาพบแพทย์
ครรภ์ไข่ปลาอุก ฝันร้ายของแม่ท้อง!
ครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พบทารกที่ปกติในการตั้งครรภ์ ซ้ำร้ายยังเสี่ยงต่อมะเร็งได้อีกด้วย เพจพบหมอเต้ ได้โพสต์อธิบายถึงครรภ์ไข่ปลาอุก ว่า พบผู้ป่วยหญิงอายุ 30 ปี ตั้งครรภ์แรก อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ อาเจียนมาก มีเลือดออกทางช่องคลอด ตรวจอัลตราซาวด์ ไม่พบตัวเด็ก แต่พบลักษณะคล้ายถุงน้ำในโพรงมดลูก เจาะค่าการตั้งครรภ์สูงกว่าปกติ จึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
โรคนี้เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ จะไม่พบทารกที่ปกติในการตั้งครรภ์ แต่จะพบรกที่ผิดปกติมีลักษณะคล้ายเม็ดสาคู โดยครรภ์ไข่ปลาอุกมีชื่อทางการแพทย์ว่า Molar Pregnancy หรือ Hydatidiform Mole ซึ่งกลุ่มนี้เป็นความผิดปกติของรก เรียกรวมว่า Gestational Trophoblastic Disease หรือ GTD
ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกเสี่ยงมะเร็ง
ด้วยตัวของการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกนั้นไม่ใช่มะเร็ง แต่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งเนื้อรกได้ สำหรับครรภ์ไข่ปลาอุก อุบัติการณ์มีความแตกต่างกันไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก พบได้ตั้งแต่ 20-1,300 รายต่อ 100,000 การตั้งครรภ์ โดยในอเมริกาเหนือและทวีปยุโรปพบได้น้อยกว่าทวีปเอเชียและละตินอเมริกา
ประเภทของตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
- Complete hydatidiform mole เกิดจากการปฏิสนธิของไข่ที่ไม่มีโครโมโซม หรือโครโมโซมไม่ทำงาน กับสเปิร์มปกติ 1 ตัว หรือโครโมโซมไม่มีการทำงาน กับสเปิร์ม 2 ตัว
- Partial hydatidiform mole เกิดจากการปฏิสนธิของไข่ปกติ กับสเปิร์ม 2 ตัว การตั้งครรภ์แบบนี้จะได้ส่วนของทารก แต่จะมีความผิดปกติทางโครงสร้างภายนอกด้วย ทารกจะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ในที่สุด
สังเกต 4 สัญญาณร่างกาย ครรภ์ไข่ปลาอุก
- เลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก
- มีลักษณะคล้ายเม็ดสาคู หลุดออกมาทางช่องคลอด
- พบอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก
- อาจมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือครรภ์เป็นพิษ
การตรวจครรภ์ไข่ปลาอุกในห้องปฏิบัติการ
- พบระดับค่าการตั้งครรภ์ β-hCG ในเลือดสูงกว่าการตั้งครรภ์ปกติ
- การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง จะมีลักษณะคล้ายถุงน้ำอยู่ภายในมดลูกแต่ไม่พบตัวเด็ก หรือพบตัวเด็กที่ผิดปกติ
วิธีรักษาครรภ์ไข่ปลาอุก
ยุติการตั้งครรภ์ ด้วยการขูดมดลูก suctional curettage (พิจารณาตัดมดลูกในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ต้องการมีบุตรแล้ว)
การติดตามหลังการรักษา
- ติดตามระดับค่าการตั้งครรภ์ β-hCG หลังทำการรักษา โดยครั้งแรกตรวจ 48 ชั่วโมงหลังทำการรักษา หลังจากนั้นทุก 1 สัปดาห์จนกระทั่งตรวจไม่พบติดต่อกัน 3 ครั้ง จากนั้นตรวจทุก 1 เดือนเป็นเวลา 6 เดือน เนื่องจากมีโอกาสเป็นมะเร็งเนื้อรกได้ตั้งแต่ 5-20%
- ควรคุมกำเนิดในระหว่างการติดตามการรักษาอย่างน้อย 6 เดือน
- แนะนำให้ฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ และตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงในครรภ์ถัดไป เนื่องจากมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกซ้ำประมาณ 1%
- ในครรภ์ต่อ ๆ ไป ควรส่งรกตรวจชิ้นเนื้อหลังคลอดทุกครั้งและวัดระดับ serum β-hCG หลังคลอด 6 สัปดาห์
สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณหมออยากฝากไว้ โรคนี้รักษาหายขาดแล้วจะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ใหม่ได้ แต่ถ้าไม่รักษาและไม่มาติดตามอาการ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเนื้อรกได้
หากคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งพบแพทย์ตรงตามเวลาทุกครั้งตามนัด และต้องคอยสังเกตร่างกายตัวเองให้ดี หากพบความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ ต้องไปโรงพยาบาลทันที
อ้างอิงข้อมูล : facebook.com/meetdoctae
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
ทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการลูกจะเป็นอย่างไร อันตรายไหม
เชื้อ CMV คืออะไร ไวรัสที่คนท้องติดเชื้อได้ มีผลต่อทารกแรกเกิด