ลูกตัวเล็ก ตั้งแต่แรกเกิดเพราะอะไร?
สำหรับเหตุผลที่ทำให้ ลูกตัวเล็ก ตั้งแต่แรกเกิดนั้น มีด้วยกันทั้งสิ้น 5 สาเหตุใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
1.ลูกคลอดก่อนกำหนด – เด็กที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่นั้น จะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ประมาณ 2,500 กรัม ซึ่งแพทย์จะให้การดูแลรักษาเป็นพิเศษด้วยการให้อาหารผ่านทางสายยาง การสนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากมีสารอาหารสำคัญที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและร่างกายให้เจริญเติบโตอย่างแข็งแรง สำหรับสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดนั้นเกิดจาก
- การที่คุณแม่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ หรือได้รับควันบุหรี่จากคนใกล้ชิดเป็นประจำ
- คุณแม่ดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- น้ำหนักของคุณแม่ขณะกำลังตั้งครรภ์นั้นน้อยจนเกินไป
- ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอขณะตั้งครรภ์
- การติดเชื้อบางในชนิดในช่วงตั้งครรภ์ อันได้แก่ โรคหัดเยอรมัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางเดินปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน หรือติดเชื้อในช่องคลอด เป็นต้น
2.ร่างกายขาดสารอาหาร – คุณแม่บางท่านอาจจะกังวลใจเรื่องหุ่น กลัวว่าหลังคลอดลูกแล้วน้ำหนักไม่ลด จึงเป็นเหตุให้ทำการควบคุมอาหาร ซึ่งหารู้ไม่ว่า พฤติกรรมดังกล่าวนั้นส่งผลเสียให้กับตัวเองและทารกในครรภ์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอาจทำให้ ลูกตัวเล็ก ได้ และอาหารที่คุณแม่ควรรับประทานไม่ให้ขาดนั้นได้แก่
- โปรตีน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมอง ถ้าลูกได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้สมองมีขนาดเล็กกว่าปกติ มีมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิดและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ปลา นม ไข่ รวมถึงถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เป็นต้น เหมาะสำหรับแม่ท้องทุกไตรมาส เพราะโปรตีนเป็นสารอาหารหลักสำหรับร่างกายในการสร้างและเพิ่มขนาดเซลล์ สร้างน้ำนม เพิ่มปริมาตรเลือด สร้างน้ำย่อย สร้างภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โปรตีนจึงจำเป็นต่อแม่ท้องและลูกน้อยตั้งแต่แรกปฎิสนธิจนถึงกำหนดคลอด
- คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานให้แก่ร่างกาย และเป็นอาหารที่จำเป็นของสมองของลูก พบในข้าว ขนมปัง ธัญพืช ผลไม้ น้ำตาล และน้ำผลไม้สด เป็นต้น
- กรดโฟลิค การทานอาหารที่มีกรดโฟลิค ในขณะที่ตั้งครรภ์ จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับทารกในครรภ์ เนื่องจากกรดโฟลิคมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิด อาหารที่มีกรดโฟลิคอยู่สูงมากมาทานได้ก็เช่น ผักที่มีสีเขียว เช่น บร็อกโคลี่ กะหล่ำปลี ฝักถั่ว และเมล็ดถั่ว และผลไม้อย่างส้ม เป็นต้น
- โอเมก้า 3 มีส่วนช่วยให้ระบบประสาทของทารกพัฒนาไปได้ด้วยดี และช่วยป้องกันโรคหัวใจในคุณแม่อีกด้วยปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล และปลาแซลมอน ปลาเหล่านี้จะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สูงมาก ๆ แต่การทานไม่ควรที่จะทานมากไปกว่า 2 ส่วนต่อสัปดาห์ เพราะในเนื้อปลาจะมีสารปรอทอยู่ด้วย หากทานมากในปริมาณที่มากไป อาจส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้กรดไขมันโอเมก้า 3 ยังมีในเมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง การทานก็ให้ทานอยู่ที่ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน เท่านี้ก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว
- สังกะสี ช่วยด้านการเจริญเติบโตของทารก สร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย บำรุงเส้นผมและผิวหนังให้มีสุขภาพแข็งแรง แหล่งที่พบได้แก่ ไข่แดง เนื้อสัตว์ ข้าวซ้อมมือ งา ถั่ว เมล็ดฟักทอง ผักกาด ลูกเกด กล้วยหอมและอะโวคาโด
- แคลเซียม มีบทบาทในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยให้การทำงานของระบบกล้ามเนื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งที่พบได้แก่ นม เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากนม กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อยและผักใบเขียวเข้ม
- วิตามินทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น A, B1, C, D และ E ช่วยเติมพลังงานให้กับร่างกาย และยังช่วยควบคุมระบบประสาท ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเสริมต้านภูมคุ้มกันต่าง ๆ เป็นต้น